ยุคเงินเฟ้อกำลังมาเยือนโลกในรอบครึ่งศตวรรษ เมื่อผลกระทบจากโควิด-19 ตามมาด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตามไปดูเรื่องใกล้ ๆ ตัวว่าจะกระทบอะไรบ้าง
เงินเฟ้อเกือบทุกประเทศทั่วโลกพุ่งทะยานขึ้น
โดยระลอกแรกมาจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้คนใช้จ่ายน้อยลง แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปรากฏว่าสินค้าขาดแคลนจากการผลิตหยุดชะงัก ทำให้ราคาปรัะบสูงขึ้น จากนั้นคนทั่วโลกก็เผชิญกับราคาพลังงานพุ่งทะยานขึ้น จากสถานการณ์สงครามในยูเครน รวมทั้งกระทบต่อสินค้าอาหารและวัตถุดิบที่จำเป็น
แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ลงบทความ "วิชาเงินเฟ้อ 101" ซึ่งทำให้เข้าใจได้มากขึ้น มีรายละเอียดดังนี้
ช่วงนี้มีข่าวพูดถึง "เงินเฟ้อ" กันมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ของต่างประเทศและของไทย Financial Wisdom จึงขอชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ "เงินเฟ้อ" เพื่อพร้อมรับมือและเตรียมตัววางแผนแต่เนิ่น ๆ
เริ่มกันที่ทำความเข้าใจความหมายของ "เงินเฟ้อ" ซึ่งหมายถึงภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง หรือต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าและบริการจำนวนเท่าเดิม พูดง่าย ๆ ก็คือโดยรวมแล้วของแพงขึ้นนั่นเอง เช่น 20 กว่าปีที่แล้ว มีเงินอยู่ 20 บาท ซื้อข้าวไข่เจียวและน่องไก่ 1 ชิ้นได้ แต่เดี๋ยวนี้เงิน 20 บาท ซื้อได้แค่ข้าวไข่เจียว แต่น่องไก่ชิ้นโตหายวับไปกับกาลเวลาและเงินเฟ้อ หรือเคยซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท กินอิ่มจนพุงกาง แต่ตอนนี้ต้องจ่ายเงินซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาท ได้แค่ชามเล็ก จำนวนลูกชิ้นน้อยลงแถมไม่อิ่มเท่าเดิม
"เงินเฟ้อ" มีผลกระทบกับชีวิตของเราในหลายแง่มุม ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวันคือ รายจ่ายที่สูงขึ้นเนื่องจากจำนวนเงินเท่าเดิมของผู้บริโภคกลับซื้อของได้น้อยลง ส่งผลให้รายได้ที่หามาอาจไม่เพียงพอกับการยังชีพหรือตกอยู่ในภาวะ "เงินไม่พอใช้" ไปจนถึงการออมการลงทุน เช่น การวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ที่ต้องเก็บเงินออมมากกว่าเดิม เพราะอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับไม่ทันกับราคาข้าวของที่แพงขึ้น ซึ่งเราเรียกอัตราผลตอบแทนที่หักผลของเงินเฟ้อว่า "อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง"
อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง = อัตราผลตอบแทนที่ได้รับ – อัตราเงินเฟ้อ เช่น หากอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 0.25% ต่อปี แต่อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2% ต่อปี จะทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบเท่ากับ -1.75%
หากคำนวณแล้วพบว่าอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงจากการออมการลงทุนที่เรามีอยู่ติดลบ เราคงต้องหาทางเลือกอื่น ๆ ที่เหมาะกับตัวเราเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ ด้วยการหาข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (เช่น จากรายงานนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ) และหาข้อมูลผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ว่ามีผลิตภัณฑ์ใดที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ เช่น เงินฝากประจำแบบปลอดภาษี พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น กองทุนรวม
ดังนั้น การเริ่มลงทุนไม่ใช่แค่สนใจแต่อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับเท่านั้น ยังต้องศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ และวิเคราะห์ว่าตัวเองมีเป้าหมายทางการเงินอะไร สามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน และต้องการอัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ จากนั้นแบ่งเงินไปลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ นอกจากนี้ ถ้าเริ่มลงทุนเร็ว ก็จะมีระยะเวลาลงทุนนาน ส่งผลให้เงินของเราเติบโตได้อย่างเต็มที่ตามที่วางแผนไว้
แม้ว่าเงินเฟ้อจะเป็นสิ่งที่คอยบั่นทอนให้มูลค่าเงินของเราลดลง แต่ถ้าเราไม่ชะล่าใจ แล้วรีบลงมือวางแผนการเงินโดยไม่ลืมให้ความสำคัญเรื่องเงินเฟ้อตั้งแต่วันนี้ เราก็จะเป็น "ผู้ชนะ" ได้
Source: PPTV
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you