รู้จัก “ภาวะเงินเฟ้อ” คืออะไร มีสาเหตุมาจากไหน รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน การใช้จ่าย และค่าครองชีพทั้งหมดเป็นอย่างไร หาคำตอบทุกเรื่องได้ที่นี่
หลังจากกระทรวงพาณิชย์ออกมาเปิดข้อมูล ภาวะเงินเฟ้อ
ทั่วไปของไทยเดือนก.พ.2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปีนับจากปี 2551 และยังไม่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งเรื่องของเงินเฟ้อ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้นเพื่อให้หลายคนเข้าใจถึงเรื่องนี้มากขึ้น เราไปทำความรู้จักกันว่า เงินเฟ้อ นั้นคืออะไร
จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุความหมายของภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน
สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (เรียกว่า Demand – Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้นๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น
ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (เรียกว่า Cost – Push Inflation) กล่าวคือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย
ข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อกับภาวะเงินฝืดแตกต่างกันอย่างไร
ถือว่าตรงกันข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลายประการ เช่น ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนลดลง หรือ ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ
อาจทำให้ราคาสินค้าปรับลดลง ผู้ผลิตก็อาจไม่ต้องการผลิตสินค้าและบริการในปริมาณเท่าเดิม ทำให้ลดกำลังการผลิตลง และส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาในที่สุด
จะเห็นได้ว่า ทั้งภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด เกิดจากการเคลื่อนไหวขึ้นลงของเศรษฐกิจตามวัฏจักร แต่หากมีความรุนแรงและยืดเยื้อ ก็ล้วนส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น
สำหรับที่มีหน่วยงานทำหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องเงินเฟ้อในปัจจุบัน มีดังนี้
1. กระทรวงพาณิชย์
ทำหน้าที่ดูแลราคาสินค้าและบริการไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสหรือเอา เปรียบผู้บริโภค หรือตรึงราคาไว้ในช่วงที่สินค้าขาดแคลนระยะสั้น
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดตามรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อเป็นประจำทุกวันจากตลาดและแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ นำมาคำนวณจัดทำเป็นดัชนีที่เรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบภาวะเงินเฟ้อ เป็นรายเดือนสามารถวัดได้จากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดังกล่าว ซึ่งเรียกตัวชี้วัดนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อ
2. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดำเนินนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และความกินดีอยู่ดีของประชาชน
ผลกระทบต่อประชาชนกับภาวะเงินเฟ้อ
รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ
อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูง จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จะมีค่าลดลงไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น
กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปีแต่หากอัตราเงินเฟ้อหรือราคาเพิ่มขึ้นมา 1% อาจกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ อยู่ที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น
แต่หากปีต่อไป อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังเท่าเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลายเป็น -0.5% ต่อปี ซึ่งถือว่ากำลังซื้อของผู้ฝากเงินลดลง การฝากเงินทำให้ได้รับผลตอบแทนจริง ๆ ติดลบ
ทำให้ผู้ฝากไม่อยากออมเงิน และอาจหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์และหุ้น จนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย หากไม่มีความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการ ก็อาจทำให้เกิดเป็นภาระหนี้สินได้
ภาวะเงินเฟ้อกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
เช่นเดียวกัน ปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อไม่เพียงกระทบแค่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการ และนักธุรกิจตามมา โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัด มีดังนี้
เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายจะลดลง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุนและการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น
ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้น เมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่น ๆ
ภาวะเงินเฟ้อกับผลกระทบต่อประเทศชาติ
ผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อยังส่งผลกระทบลามไปถึงภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติตามมาอย่างไม่ต้องมีข้อสงสัย โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นสรุปได้ ดังนี้
ในภาวะที่ประชาชนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าก็จะชะลอออกไป ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย
ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงจนทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนาน ๆ ประชาชนก็จะหันไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง สะสมปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ (asset price bubble) และความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศได้เช่น หนี้ครัวเรือน
จะเห็นได้ว่า เรื่องของภาวะเงินเฟ้อนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ และส่งผลกระทบต่อทุกคน รวมทั้งประเทศชาติ โดยในภาพวะปัจจุบันเองปัญหาดังกล่าวได้ค่อย ๆ เริ่มรุนแรงมากขึ้น หลังมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวเร่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ควบคุมอย่างจากภายนอกประเทศ เช่น วิกฤตยูเครน และรัสเซีย จึงจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า เงินเฟ้อของไทยในช่วงต่อไปจะมีแนวโน้มปรับตัวอย่างไรบ้าง
Source: ฐานเศรษฐกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you