การประกาศลดวงเงิน QE ในอัตราที่เร่งขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม ซึ่งจะส่งผลให้วงเงิน QE ทั้งหมดสิ้นสุดในเดือนมีนาคม พร้อมทั้งส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2565 ล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สะท้อนถึงทิศทางดอกเบี้ยโลกที่กำลังจะเข้าสู่ขาขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและความไม่แน่นอนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงไทยด้วย THE STANDARD WEALTH ได้ขอให้นักเศรษฐศาสตร์จาก 4 สำนักวิจัยวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการถอนคันเร่งมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการศึกษาของกรุงศรีพบว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่และไทยผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยน
โดยในส่วนของตลาดตราสารหนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้ตราสารหนี้ที่จะออกใหม่ในตลาดสหรัฐฯ มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า นักลงทุนจึงมีแรงจูงใจในการเทขายตราสารหนี้เดิม ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เป็นผลดีต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ยังต้องการสภาพคล่องผ่านการคงดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน การถอนคันเร่งของ Fed ก็จะก่อให้เกิดความกังวลว่าสภาพคล่องอาจหดตัว ทำให้นักลงทุนดึงเงินทุนออกจากตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มเผชิญแรงเทขายรุนแรงกว่า โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันขึ้นกับสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ของชาวต่างชาติในตลาด
นอกจากนี้ แรงเทขายที่มากขึ้นทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดหลักทรัพย์ ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนจากกระแสเงินทุนไหลออก ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์
“สำหรับประเทศไทย เรามองว่าผลกระทบจะอยู่ในช่องทางตราสารหนี้และอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก โดยการศึกษาของวิจัยกรุงศรีพบว่า หาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นราว 0.60% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นราว 0.39% ทำให้ไทยมีต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้นตามขึ้นไปด้วย แม้เราจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย” สมประวิณกล่าว
สมประวิณกล่าวอีกว่า วิจัยกรุงศรีได้ทำแบบจำลองว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวมาอยู่ที่ 2.5% โดยพบว่าภายใต้สมมติฐานดังกล่าว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของไทยจะปรับขึ้น 0.98% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยย่อมเป็นแรงกดดันต่อต้นทุนการระดมทุนในวงกว้าง เนื่องจากถูกใช้เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ ในตลาด และอาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่จำกัดการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตได้
การศึกษาของกรุงศรียังพบด้วยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยปรับลดลง 3.2% โดยการลงทุนที่ลดลงนั้นจะส่งผ่านในทุกช่องทางในองค์ประกอบของ GDP ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลง การผลิตถูกจำกัด เกิดการชะลอตัวของการจ้างงาน ซึ่งจำกัดความสามารถในการบริโภค จนทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบทางลบวนไปมาหรือเกิด Negative Feedback Loop โดยในภาพรวมนั้นการลงทุนที่หายไปจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวหายไปกว่า 0.4%
“การส่งผ่านผลกระทบจะใช้เวลาราว 5 ไตรมาส นั่นหมายความว่าเรามีเวลา 5 ไตรมาสในการเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ถ้าดอกเบี้ยขึ้นแต่เศรษฐกิจเราดีผลกระทบก็จะไม่รุนแรง การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังในช่วงต่อจากนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในส่วนของนโยบายการเงิน นอกจากการคงดอกเบี้ยเอาไว้ในระดับต่ำแล้ว การเร่งปล่อยกู้ Soft Loan ให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน สามารถฟื้นฟูกิจการและรักษาการจ้างงานได้ถือว่าจำเป็นมาก เรายังขาดตรงนี้ค่อนข้างมาก ส่วนนโยบายการคลัง การใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ” สมประวิณกล่าว
หวั่นดอกเบี้ยขึ้นเจาะ ‘ฟองสบู่’ สินทรัพย์เสี่ยงแตก
ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research กล่าวว่า หากการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ Fed เป็นไปตามตัว Dot Plot หรือประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะขึ้นสามครั้ง (0.75%) ในปีหน้า สามครั้งในปี 2023 และอีกสองครั้งในปี 2024 จนไปสูงสุดประมาณ 2.25% จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าที่สุดรอบหนึ่ง และยังนับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ไม่ได้มากนัก เมื่อเทียบกับระดับเงินเฟ้อในปัจจุบัน แต่ความเร็วในการขึ้นก็เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้แล้ว
“Fed กำลังจะปิดฉากสภาวะที่สภาพคล่องล้นมากๆ และแนวโน้มดอกเบี้ยกำลังจะเป็นขาขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าการลงทุนในหุ้นจะแย่เสมอไป โดยเฉพาะหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดีขึ้น และส่งผ่านราคาที่สูงขึ้นได้ และในอดีตส่วนใหญ่แล้วผลตอบแทนของตลาดหุ้นยังเป็นบวกในช่วงที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่อาจจะมีความท้าทายต่อ Valuation และผลตอบแทนอาจจะดีแบบในช่วงดอกเบี้ยขาลงไม่ได้” พิพัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ดี สิ่งน่ากังวลคือสภาพคล่องที่หดและดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้เกิดความผันผวน ในระหว่างที่ตลาดปรับการคาดการณ์เรื่องความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย และดอกเบี้ยที่ขึ้นอาจจะไป Trigger ทำให้ฟองสบู่แตกจนสร้างปัญหากับเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ซึ่งสิ่งที่ควรต้องระวังคือสินทรัพย์ที่น่าสงสัยว่าเป็นฟองสบู่ สินทรัพย์ที่แพงๆ สินทรัพย์ที่มี Duration ยาวๆ หุ้นที่พึ่งพาการกู้ยืมเงินระยะสั้น
“สภาพคล่องระหว่างประเทศอาจลดลง และค่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น จนสร้างแรงกดดันเงินทุนไหลเข้าออกในตลาดต่างประเทศด้วย อาจจะเริ่มได้ยินข่าวบริษัทขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นได้ หรือบางประเทศค่าเงินอ่อนเพราะเงินไหลออก แต่ประเทศไทยคงไม่เกิดภาวะแบบนั้น ที่น่าห่วงคงเป็นเรื่องการขยายตัวมากกว่า พอน้ำลดอาจจะเริ่มเห็นว่าใครว่ายน้ำโดยไม่ใส่เสื้อผ้า” พิพัฒน์กล่าว
ต้นทุนระดมทุนผ่านตลาดบอนด์ส่อเพิ่มขึ้น
ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า ประกาศล่าสุดของ Fed เป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้แล้ว จึงไม่ได้สร้างความตื่นตกใจมากนัก ในทางกลับกันตลาดน่าจะรู้สึกคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากขึ้น เพราะในที่สุด Fed ลงมือทำอะไรเสียที
“สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น 2 ปีของสหรัฐฯ ปรับขึ้นไปรอการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าแล้ว ส่วนตัวยาวที่สะท้อนความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ยังดูนิ่งๆ อยู่ สะท้อนว่าสภาพคล่องยังล้นระบบ คนยังอยากลงทุนอยู่ แต่ต้องจับตาดูด้วยว่าตลาดในตอนนี้สบายใจเกินไปหรือไม่ ตอนนี้หลายคนมองว่า Fed ชนะเงินเฟ้อได้แล้ว แต่ถ้าเงินเฟ้อเดือนธันวาคม มกราคม ยังเร่งต่อ การว่างงาน ต้นทุนการผลิตยังไม่ดีขึ้นจะทำอย่างไร” อมรเทพกล่าว
ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาดูที่ไทยจะพบว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันยังมาจากอุปทานไม่ใช่อุปสงค์ ซึ่งไม่เพียงพอจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายขยับ แต่กลุ่มบริษัทที่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการทยอยปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“ผมมองว่าเศรษฐกิจบ้านเราจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนในครึ่งหลังของปี 2565 ในช่วงนั้นแบงก์ชาติน่าจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแตะเบรกการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และภาวะฟองสบู่ พร้อมสำรองกระสุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือสำหรับวิกฤตในอนาคต” อมรเทพกล่าว
สำหรับผลกระทบต่อเงินบาท มองว่าในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่ในช่วงครึ่งหลังปีหน้า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น
“คำแนะนำสำหรับนักลงทุนในภาวะที่เงินเฟ้อเร่งตัว ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นเช่นนี้ ผมมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังเป็นไปได้ การลงทุนในตราสารทุนยังให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ แต่ต้องระวังความผันผวน ควรเลือกกลุ่มปัจจัยพื้นฐานดี สำหรับกลุ่มผู้นำเข้าส่งออก อยากเตือนว่าอย่าชะล่าใจว่าบาทจะอ่อนยาว ควรป้องกันความเสี่ยงค่าเงินด้วย” อมรเทพกล่าว
แนะเร่งระดมทุนรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น
กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การประกาศลดวงเงิน QE และส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยของ Fed ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายของตลาด เนื่องจากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่าอาจไม่ใช่ภาวะชั่วคราว การเข้ามาดูแลของ Fed จึงทำให้ตลาดสบายใจขึ้น แม้ว่าปัญหาคอขวดของซัพพลายเชนจะยังคงอยู่ก็ตาม
“การขึ้นดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นเรื่องที่เขารับได้ เพราะเศรษฐกิจเขาฟื้นตัวได้ดี บอนด์ยีลด์ในสหรัฐคงค่อยๆ ขยับขึ้น แต่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังช้ากว่า จะต้องเผชิญกับต้นทุนการเงินที่ขยับขึ้นตามบอนด์ยีลด์ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเร็วในการฟื้นตัว โดยไทยเราอยู่ในกลุ่มนี้” กำพลกล่าว
กำพลระบุว่า ภาวะดอกเบี้ยในช่วง 2-3 ปีจากนี้น่าจะเป็นขาขึ้น ดังนั้นในภาวะที่ดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ การเร่งระดมทุนและบริหารอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนได้
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในปีหน้าเชื่อว่าจะทยอยอ่อนค่าลง โดยมีโอกาสเคลื่อนไหวในระดับที่อ่อนค่ากว่าแนว 34 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อย่างไรก็ดี หากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กระเตื้องขึ้นอาจจะหนุนเงินบาทให้กลับมาแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ได้
โดย ดำรงเกียรติ มาลา
Source: The STandard Wealth
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you