บัตรรูดปรื๊ดดิ้นขยายฐาน ‘อิออน’ เจาะกลุ่มข้าราชการ

ธุรกิจบัตรเครดิตดิ้นปรับกลยุทธ์ดันยอดใช้จ่าย “อิออน” เบนเข็มเจาะ “กลุ่มข้าราชการ-พนักงานอุตฯเครื่องมือแพทย์-อีคอมเมิร์ซ” ขณะที่ “เคทีซี” โฟกัสลูกจ้างประจำเงินเดือน 3 หมื่นบาทอัพ ฟาก “กสิกรไทย” ลุยอัดสารพัดโปรฯรับกระแสเปิดเมือง

ทุกค่ายเริ่มยิ้มออกหลังยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเริ่มเป็นบวก

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การหาฐานลูกค้ารายใหม่ ภายหลังจากภาครัฐทยอยประกาศคลายล็อกดาวน์เมือง โดยมุ่งเน้นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ กลุ่มข้าราชการ พนักงานในอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ กลุ่มอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น โดยในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา แนวโน้มลูกค้าเข้ามาสมัครบัตรใหม่ถือว่าดีขึ้นเป็นหลักหลายหมื่นใบ
ทั้งนี้ บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ กลุ่มเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว ภาคบริการ สายการบิน เป็นต้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะมีรายได้ปรับลดลงจึงไม่ผ่านเกณฑ์อนุมัติ ทำให้ภาพรวมการอนุมัติบัตรใหม่ (approval rate)เฉลี่ยปรับลดลงจาก 60% มาอยู่ที่ระดับ 50% ในปัจจุบัน
“เราได้ปรับกลยุทธ์หาลูกค้าใหม่ หลีกเลี่ยงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 แต่เราไม่ได้ปรับเงื่อนไขเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ และไม่ได้ปฏิเสธลูกค้ากลุ่มเสี่ยง แต่ลูกค้าจะต้องเข้าหลักเกณฑ์การอนุมัติ มีรายได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็ไม่ผ่าน” นายนันทวัฒน์กล่าว
ขณะที่แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) ปีนี้ คาดหวังว่าจะติดลบน้อยที่สุด หรือขยายตัวเทียบเท่าปี 2562 ที่มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของอิออนในเดือนก.ค.หดตัว -10% จากปีก่อนที่มียอดใช้จ่ายเป็นหลักพันล้านบาท
นายนันทวัฒน์กล่าวด้วยว่า การดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 ที่มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลลง 2-4% นั้น จะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของบริษัทราว 10%
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า การขยายฐานลูกค้าใหม่ของเคทีซีเน้นกลุ่มลูกจ้างประจำที่มีรายได้ 3 หมื่นบาทขึ้นไป และลูกค้าที่รักษาคุณภาพบัญชีที่มีศักยภาพ แม้ว่าการหาลูกค้าใหม่จะยาก แต่ก็ยังมีโอกาส ซึ่งบริษัทก็มีโปรโมชั่นที่ใช้ดึงลูกค้าใหม่ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกมียอดสมัครบัตรใหม่แล้ว 1.5 แสนใบ จากเป้าทั้งปี 3.5 แสนใบ ตั้งเป้าเพิ่มจากปีก่อนที่มียอดทั้งปีที่ 3.2 แสนใบ
อย่างไรก็ดี ล่าสุดสัญญาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงเดือน ก.ค.มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยทยอยหดตัวน้อยลงจากเดือน มิ.ย.ที่หดตัว -5% และเดือน เม.ย.ที่หดตัว -36% ซึ่งทำให้ภาพรวมยอดใช้จ่าย 2 ไตรมาสแรกหดตัว -10% โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่าการใช้จ่ายในหมวดประกันกลับมาเป็นบวก เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าเริ่มกลับมาชำระเบี้ยประกันเป็นปกติ หลังจากช่วงก่อนหน้านี้ได้ผ่อนผันหรือขยายเวลาชำระออกไป ตามมาตรการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ช่วยบรรเทาผลกระทบโควิด-19 จึงคาดว่าทั้งปียอดใช้จ่ายในหมวดนี้จะกลับมาเติบโตราว 10% หรือราว 1.3 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่หมวดออนไลน์ก็เห็นการเติบโตในช่วง 2 ไตรมาสแรกอยู่ที่ 17-18% หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท
“สถานการณ์โควิด-19 ทุกคนไม่ได้กระทบทั้งหมด แต่ระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งในเดือน ก.ค.การใช้จ่ายผ่านบัตรเริ่มดีขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ทุกหมวดติดลบหมด โดยหมวดท่องเที่ยวติดลบน้อยลงเหลือ -50% จาก -80% เราคาดหวังว่าครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น” นางพิทยากล่าว
นางพิทยากล่าวด้วยว่า ในด้านผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลถาวรตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น น่าจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของบริษัทเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อเดือน
นางอนิสา ชูจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ยอดสมัครบัตรใหม่ในช่วง 6-7 เดือนแรกมีจำนวนลดลง จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมการตลาดได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่ได้มีการปรับเงื่อนไขการสมัครบัตรใหม่ แต่ให้ความเข้มข้นกับการพิสูจน์รายได้ที่เป็นปัจจุบันของลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว สายการบิน โรงแรม และอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น
นางสาวพรพิมล ปฐมศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยเตรียมพร้อมรองรับความต้องการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวที่ทยอยกลับมา ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทย ผ่านโปรโมชั่นส่วนลดในร้านค้าและร้านอาหารชั้นนำ การใช้คะแนนสะสมของบัตรเท่าราคาแลกรับส่วนลดสูงสุดถึง 15% รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นภายใต้โครงการรวมใจเที่ยวไทยของธนาคาร มอบแพ็กเกจที่พักราคาพิเศษและส่วนลดสำหรับบริการรถเช่าใน 14 จังหวัดท่องเที่ยวทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ณ เดือน มิ.ย. 2563 ธนาคารมีจำนวนบัตรเครดิตรวมทั้งสิ้น 3 ล้านบัตร และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งยอดใช้จ่ายผ่านบัตรมีแนวโน้มกลับมาเป็นบวก โดยขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนมานี้ ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.มียอดใช้จ่าย 2 หมื่นล้านบาท ขยายตัวจากเดือน เม.ย.ถึง 30% ในจำนวนนี้เป็นการใช้ชำระที่หน้าร้านจำนวน 1.57 หมื่นล้านบาท ขยายตัวถึง 38% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ขณะที่เดือน ก.ค. มียอดสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท เกือบเทียบเท่ากับยอดใช้บัตรในเดือน ม.ค. ที่เป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ในไทย
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คลิก

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"