อุ้มไฮยิลด์บอนด์ อุ้มใคร ? สถานการณ์ของไวรัสโควิด-19" ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ และสภาพคล่องของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)

โดยเฉพาะผู้ออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) วงเงิน 4 แสนล้านบาท ในการซื้อหุ้นกู้ออกใหม่เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม ที่เป็นหุ้นกู้ในระดับ

investment grade ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป

แต่นับตั้งแต่กองทุน BSF จัดตั้งถึงวันนี้ร่วม 2 เดือน ยังไม่มีบริษัทรายใดยื่นขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ด้วยเงื่อนไขและดอกเบี้ยที่แพงกว่าดอกเบี้ยแบงก์ที่ถูกลง อีกทั้งบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ในระดับ"อินเวสเมนต์เกรด" ต่างก็มีช่องทางเลือกระดมทุนโดยวิธีอื่น

ในขณะที่หุ้นกู้กลุ่ม High Yield Bond หรือที่อยู่ในระดับเรทติ้งต่ำกว่า BBB - ลงมา ( BB+จนถึง D รวมถึง non-rated bond )ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสามารถชำระหนี้ต่ำ เริ่มส่งสัญญาณขาดสภาพคล่อง เลื่อนการไถ่ถอนซึ่งเริ่มให้เห็นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก ผู้ประกอบการจึงร้องผ่านไปยังบิ๊กธุรกิจ ในคราวตอบรับเทียบเชิญจากนายกรัฐมนตรี โดยมีการเสนอเรื่องขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง เฉกเช่นเดียวกับหุ้นกู้ในกลุ่ม"อินเวสเมนต์เกรด"

ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.)หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษารูปแบบหรือแนวทางดูแลตราสารหนี้กลุ่ม High Yield Bond โดยความคืบหน้านางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า เบื้องต้นที่ประชุมเมื่อวันที่12 มิ.ย. 63 มีข้อสรุปว่า จะจัดตั้งกองทุนในรูปแบบกองทุนรวมหรือทรัสต์ ซึ่งเป็นกองทุนปิดที่มีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ ขายให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น โดยเน้นลงทุนในไฮยิลด์บอนด์ และจะผ่อนคลายบางกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดตั้งและบริหารกองทุน โดยอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับมาตรการจูงใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

ไฮยิลด์บอนด์ 1.69 แสนลบ. อุ้มใคร

ข้อมูลสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มูลค่าหุ้นกู้ของภาคเอกชนทั้งหมด ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2563 มีจำนวน 3.57 ล้านล้านบาท เป็นหุ้นกู้ระยะยาว 3.39 ล้านล้านบาท ส่วนทีเหลืออีก 1.82 แสนล้านบาท เป็นหุ้นกู้เอกชนระยะสั้น

โดยหุ้นกู้ 3.39 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้อันดับเครดิต A อัพ 76% ประมาณ 2.57 ล้านล้านบาท ,หุ้นกู้ BBB อัพราว 16% หรือประมาณ 5.42 แสนล้านบาท , หุ้นกู้ BBB- ราว 3% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนหุ้นกู้กลุ่มไฮยิลด์บอนด์ ( ต่ำกว่า BBB- จนถึง non-rated bond) มีสัดส่วน 5% หรือประมาณ 1.69 แสนล้านบาท

โดยหุ้นกู้เอกชนที่ครบกำหนดชำระหนี้ ภายในปีนี้มีทั้งสิ้น 473,188 ล้านบาท (ตารางประกอบ ) จำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ไฮยิลด์บอนด์ 39,057 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ได้แก่ หุ้นกู้บจก.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ครบกำหนดปีนี้ 2,000 ล้านบาท ( ช่วงไตรมาส 3-4 ) , บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF ) ครบกำหนดปีนี้ 3,605 ล้านบาท ,บมจ. อารียา พรอพเพอร์ตี้ (A) จำนวน 2,520 ล้านบาท ( กรณีของ "อารียา ฯ"มีวงเงินจากธนาคาร 850-900 ล้านบาท) ,บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ( MJD ) ครบกำหนดชำระภายในปีนี้ 1,300 ล้านบาท , บมจ.ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ ( CI ) จำนวน 440 ล้านบาท เป็นต้น

เลื่อนชำระไถ่ถอน 9 บริษัท

นอกจากนี้ยังรวมถึงหุ้นกู้ในกลุ่มที่ขอยืดเวลาไถ่ถอนจำนวน 9 บริษัท โดยเลื่อนการออกไปตั้งแต่ 6 เดือนถึง 24 เดือน พร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ถือสูงขึ้น เฉลี่ยระหว่าง 6.00- 8.00% อาทิ บมจ.เจ.เอส.พ. พร๊อพเพอร์ตี้ ( JSP ) เลื่อนจ่ายหุ้นกู้ ในรุ่น JSP205A วงเงิน 500 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปี พร้อมเปลี่ยนดอกเบี้ยเป็น 8% จากเดิม 6.50 ล้านบาท ,บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป ( ACAP) เลื่อนไถ่ถอนออกไป 1 ปี ในรุ่น ACAP202A วงเงิน 395.3 ล้านบาท และปรับดอกเบี้ยจากเดิม 6.00% เป็น 7.5%

บมจ.ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA ) เลื่อนหุ้นกู้ในรุ่น MIDA204A วงเงิน 612 ล้านบาท ออกไป 24 เดือน ปรับดอกเบี้ยเป็น 6% จากเดิม 5.5%, บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง ( PSL) เลื่อนหุ้นกู้ในรุ่น PSL206A วงเงิน 1,960 ล้านบาท ไปอีก 18 เดือน และปรับดอกเบี้ยใหม่เป็น 6.50% จากเดิม 5% เช่นเดียวกับ หุ้นกู้บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) รุ่น CWT205A วงเงิน 337.10 ล้านบาท เลื่อนจ่ายไป 1 ปี และปรับดอกเบี้ยเป็น 6.75% จากเดิม 5.75% ( อ่านเพิ่มตารางประกอบ )

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณผู้ออกหุ้นกู้ ประเภทไฮยิลด์บอนด์ ขอยืดระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้แล้วจำนวน 9 บริษัท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยมีการยืดระยะเวลาออกไปเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อรอให้สภาพคล่องกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังคลายล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 รวม ถึงมีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว 1 ราย ได้แก่ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ส่วนกรณีของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)หรือ THAI ตอนนี้อยู่ในกระบวนการของศาลฯ ซึ่งต้องรอผู้เกี่ยวข้องในการชี้แจงแผนกระบวนการชำระหนี้

"ผลกระทบจากการขอยืดการชำระหุ้นกู้ของบจ. ทั้ง 9 บริษัท ถือว่าค่อนข้างน้อย เพราะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.17% เมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นกู้ของภาคเอกชนทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 3.8 ล้านล้านบาท ประกอบกับนักลงทุนที่ถือครองหุ้นกู้ของบริษัทดังกล่าวทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ (ไฮเน็ตเวิร์ค) จึงเชื่อว่าหากเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ผู้ลงทุนกลุ่มดังกล่าว น่าจะสามารถรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้"

ท้ายสุดคงต้องดูกันต่อว่า กองทุนรวมหรือทรัสต์ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ "หุ้นกู้กลุ่มไฮยิลด์บอนด์" จะวางกลไกกำกับบริหารหุ้นกู้กลุ่มนี้อย่างไร การผลักดันให้กองทุนนี้เกิด จะส่งผลดีต่อตลาดหรือจะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยง เป็นโจทย์ท้าทาย !

Source: ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

คลิก

--------------------------
Cr.Jeerachart Jongsomchai

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"