อิตาลีเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ในระดับรุนแรงมากที่สุด โดยจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา มียอดผู้ติดเชื้อในอิตาลีพุ่งขึ้นเป็นกว่า 1,600 ราย และมีผู้เสียชีวิต 31 ราย
รัฐบาลได้ประกาศ “ปิดพื้นที่” ควบคุมการเข้า-ออกกว่า 10 เมืองที่เป็นพื้นที่เสี่ยงในแคว้นลอมบาร์ดีทางตอนเหนือของประเทศเพื่อควบคุมและกำจัดวงการแพร่ระบาดของโรคร้ายดังกล่าว
แม้จะเป็นมาตรการที่จำเป็นแต่ก็มีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา เนื่องจากแคว้นลอมบาร์ดีนั้นเป็นพื้นที่สำคัญทางอุตสาหกรรมของอิตาลี เป็นแหล่งผลิตทางด้านอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของทั้งหมดในประเทศอิตาลี นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของเมืองมิลาน ศูนย์กลางทางด้านการเงินและธุรกิจภาคบริการ รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ
แม้ว่ามิลานจะไม่อยู่ในรายชื่อของเมืองที่ถูกทางการคุมเข้มการเข้า-ออกพื้นที่ แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น นั่นก็ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นตัดสินใจสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในเมืองมิลานหลายแห่งเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ว่าจะเป็นมหาวิหารดูโอโม หรือโรงโอเปร่า ลา สกาลา รวมไปถึงการเลื่อนจัดงานแสดงสินค้าต่างๆออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หรือบางงานแม้จะมีการจัดตามกำหนดเดิม แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
นักวิเคราะห์กล่าวเตือนว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในอิตาลี หากยังคงทวีความรุนแรงก็จะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากเนื่องจากก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจก็ชะลอตัวมาหลายปีแล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ไม่มีใครคาดฝัน หากควบคุมไม่ได้ก็จะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของอิตาลีดิ่งสู่ภาวะถดถอยได้ ร้ายไปกว่านั้นคือผลกระทบอาจลุกลามนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอียูโดยภาพรวม
ในปีที่ผ่านมา (2562) อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอิตาลี แทบไม่ขยับเพิ่มเลยเมื่อเทียบกับสถิติเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 เศรษฐกิจอิตาลีขยายตัว 0.8% มาในปี 2561 ก็ยังขยายตัวที่ 0.8% และในปี 2562 การเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสก็อยู่ที่ระดับ 0.0-0.5% เท่านั้น อัตราการว่างงานก็อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งมีการตกงานมากถึง 28.9% ถือเป็นประเทศที่มีสถิติคนว่างมากเป็นอันดับ 3 ในอียู รองจากสเปน และกรีซ
ศาสตราจารย์ โรแบร์โต เปอรอตติ จากมหาวิทยาลัยบอคโคนี ในกรุงมิลาน ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ค่อนข้างจะเชื่อว่า จีดีพีของอิตาลีในไตรมาสแรกของปีนี้น่าจะหดตัว ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา จีดีพีของอิตาลีก็หดตัวมาแล้วในอัตรา 0.3% นั่นก็หมายความว่า อิตาลีจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสแรกนี้ โดยมีไวรัสโคโรนาเป็นปัจจัยซ้ำเติมที่สำคัญ ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่แพร่ระบาดในอิตาลีทางภาคเหนือจะยังไม่มีผลกับการท่องเที่ยวมากนัก แต่ฤดูร้อนซึ่งเป็นฤดูแห่งการท่องเที่ยวกำลังใกล้เข้ามา หากการแพร่ระบาดขยายวงกว้างออกไป ก็จะทำให้ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ บางสายการบินเช่น อีซี่เจ็ท ได้ระงับเที่ยวบินไปยังภาคเหนือของอิตาลีแล้วโดยระบุว่า มีจำนวนผู้โดยสารน้อย ขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ยกระดับการแจ้งเตือนพลเมืองอเมริกัน หากไม่จำเป็นควรงดเดินทางไปอิตาลีในช่วงนี้
ที่น่าจับตาอีกประเด็นคือความอ่อนแอทางการคลังของอิตาลีแม้ไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่อียูเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจอยู่แล้ว ปัจจุบัน หนี้ภาครัฐของอิตาลีมีสัดส่วนเท่ากับ 133% ของจีดีพี
ขณะที่อียูกำหนดเพดานหนี้ภาครัฐของประเทศสมาชิกที่ระดับ 60% ของจีดีพีเท่านั้น (ในบรรดาประเทศสมาชิกอียู มีเพียงกรีซที่สัดส่วนหนี้ภาครัฐแซงหน้าอิตาลี) ดังนั้น โรคระบาดที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้รัฐบาลอิตาลีต้องใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังทำให้รัฐมีรายได้ลดลง ทั้งจากการท่องเที่ยวและการค้าปลีกที่ลดฮวบลงและจากผลพวงข้างเคียงอื่นๆ
“ยิ่งถ้าหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยตามคาด รายได้รัฐที่ลดลงจะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับเศรษฐกิจอิตาลีอย่างแท้จริง” ศ. เปอรอตติกล่าวในที่สุด
Source: ฐานเศรษฐกิจออนไลน์
เพิ่มเติม
- Italy unveils €3.6bn stimulus to tackle coronavirus :
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you