ในเวลาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวเรื่อง สงครามการค้ากับจีน หรือการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน สูงมากขึ้นนั้น คนทั่วไปจะเข้าใจว่า โลกเรายังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าระบบการผลิตแบบ “ห่วงโซ่อุปทานโลก” (Global Supply Chain) เพราะฉะนั้น
ตามความคิดของทรัมป์ การผลิตสินค้าในโลกปัจจุบัน มีอยู่แบบเดียว คือ “ผลิตในอเมริกา” ทั้งหมด หรือ “ผลิตในจีน” ทั้งหมด
วิธีคิดคำนวณของทรัมป์ อเมริกาเป็น “ฝ่ายชนะ” เมื่อสินค้าผลิตในอเมริกา ส่งออกไปจีน และเป็น “ฝ่ายแพ้”เมื่อนำเข้าสินค้าจากจีน การมองการค้าแบบมีประเทศหนึ่งชนะ และอีกประเทศหนึ่งแพ้ ทำให้ทรัมป์ชอบวิธีการเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น จนขยายตัวเป็นสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ โดยพูดว่า“สงครามการค้าเป็นสิ่งดี และเอาชนะได้ง่าย” แต่ความเข้าใจของทรัมป์ที่ว่า สินค้าที่ส่งไปขายประเทศหนึ่ง ประเทศที่ส่งออกจะเป็นผู้ผลิตเองทั้งหมดนั้น ระบบการผลิตแบบนี้กลายเป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว
การผลิตสินค้าในโมเดลแบบที่ทรัมป์เข้าใจ สูญหายไปจากโลกนานมาแล้ว การขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ และการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ต ทำให้มีต้นทุนถูกลงในเรื่องการขนส่งสินค้า และการบริการระหว่างประเทศ เกิดโมเดลการผลิตแบบใหม่ ที่เรียกว่า “ห่วงโซ่อุปทานโลก” ระบบการผลิตที่อาศัยประโยชน์จากความแตกต่างในเรื่องต้นทุนและคุณภาพของทักษะฝีมือในประเทศต่างๆ ระบบนี้ช่วยให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพดีขึ้น และต้นทุนถูกลง
ในบทความชื่อ Why US-China Supply Chains Are Stronger Than the Trade War นาย Geoffrey Garrett คณบดีวิทยาลัยธุรกิจ Wharton กล่าวว่า โลกาภิวัตน์ของการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญน้อยลงในเรื่องดุลการค้าแบบทวิภาคี แต่ทว่า ระบบการผลิตโมเดลห่วงโซ่อุปทาน ก็ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตออกจากอเมริกา เช่น การผลิตรถยนต์ ไปจนถึงเรื่องธุรกิจบริการ Call Center เพราะเหตุนี้ ทรัมป์จึงคิดว่า สงครามการค้าเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะสำหรับการเมืองในสมัยการเลือกตั้ง
Geoffrey Garrett กล่าวว่า บริษัทไฮเทคได้รับความเสียหายอย่างมากจากสงครามการค้า เพราะบริษัทเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก ตัวอย่างความเสียหายของสงครามการค้าที่มีต่อบริษัทไฮเทค ดูได้จาก 2 กรณี คือการที่ทรัมป์ทำสงครามกับหัวเว่ย และเรียกร้องให้ Apple หันมาทำการผลิต iPhone ในอเมริกา
หัวเว่ยมีความสำคัญมากต่อบริษัทไฮเทคของอเมริกา 1 ใน 4 ของชิ้นส่วนทั้งหมดของผลิตภัณฑ์หัวเว่ย มาจากบริษัทไฮเทคของสหรัฐฯ เช่น Broadcom, Flex, Seagate, Intel และ Qualcomm ก่อนหน้านี้ ทรัมป์บอกว่า สหรัฐฯจะห้ามบริษัทสมาร์ทโฟนของจีนชื่อ ZTE ทำธุรกิจในอเมริกา แต่ต่อมาก็ประกาศสงบศึก โดยกล่าวว่า “ZTE บริษัทโทรศัพท์ใหญ่ของจีน ซื้อชิ้นส่วนการผลิตส่วนใหญ่จากบริษัทสหรัฐฯ” เพราะเหตุนี้ ความสำเร็จและความเสียหายของบริษัทอเมริกัน จึงขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างหัวเว่ย
กรณีผลิตภัณฑ์ของ Apple เช่น iPhone มีข้อความเขียนว่า “ออกแบบโดยแอปเปิ้ลในแคลิฟอร์เนีย ประกอบในจีน” ที่บอกว่าประกอบในจีน เพราะ iPhone ประกอบในจีนแทบทั้งหมดโดย Foxconn แต่ชิ้นส่วนต่างๆมาจากอเมริกา เอเชีย และยุโรป เป็นที่คาดกันว่า โรงงานประกอบ iPhone ของ Foxconn สร้างมูลค่าแค่ 5% ของต้นทุน iPhone ทั้งหมด ที่เหลือเป็นชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้ผลิตในจีนเลย
บริษัท TechInsights เคยเปิดเผยว่า ต้นทุนทั้งหมดของ iPhone XS Max อยู่เครื่องละ 453 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,043 บาท) แต่ราคาขายปลีกอยู่ที่ 1,099 ดอลลาร์ (34,069 บาท) ส่วนต่างนี้ช่วยชี้ให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาด (market capitalization) ทำไม Apple จึงกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ในสุดในโลก
Tim Cook CEO ของ Apple เองกล่าวว่า จีนเป็นปัจจัยส่วนสำคัญที่สร้างความสำเร็จของ Apple การที่ Apple ลงทุนในจีน ไม่ใช่เรื่องต้นทุนถูก แต่เป็นเรื่องคุณภาพ สินค้าของ Apple ต้องการเครื่องมือผลิตที่ก้าวหน้า และมีความแม่นยำสูง จีนมีคนที่ทักษะด้านเครื่องมืออยู่มาก สหรัฐฯมีพวกวิศวกรด้านเครื่องมือ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีมากพอหรือไม่ แต่ในจีน มีคนพวกนี้มาก จนเต็มสนามฟุตบอลหลายสนาม
อันตรายจาก “การตัดขาด” จากจีน
บทความของ Geoffrey Garrett กล่าวอีกว่า เมื่อมองเห็นถึงความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก ที่มีต่อ Apple หรือหัวเว่ย และบริษัทอเมริกันอีกจำนวนมาก ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมบริษัทเช่น Apple, Google, Broadcom และ Qualcomm ต้องการให้สงครามการค้ายุติลง และบริษัทอเมริกันพวกนี้ ไม่ต้องการให้สงครามการค้า ขยายตัวไปสู่สินค้าไฮเทค
แต่ที่ปรึกษาบางคนของทรัมป์มองว่า ห่วงโซ่อุปทานโลกคือศัตรูของสหรัฐฯ โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯกับจีน คนพวกนี้ต้องการให้เกิดการ “แยกตัว” ระหว่างเศรษฐกิจของสองประเทศมหาอำนาจ ซึ่งการที่จะทำเช่นนี้ได้จะมีต้นทุนสูงมากทางเศรษฐกิจ แต่ผลลัพธ์ตามมาที่สำคัญมากกว่านี้คือ จะทำให้ความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีความเป็นไปได้สูงมากขึ้น
บทความของ Geoffrey Garrett กล่าวอีกว่า นักปราชญ์อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) เป็นคนแรกที่มองเห็นว่า ในไม่ช้าก็เร็ว วิญญาณของการค้าขายจะเกิดขึ้นกับทุกประเทศ และสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เข้ากันไม่ได้กับสงคราม แต่ก็มีคนที่วิจารณ์ความคิดของคานท์ โดยชี้ว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น ทั้งๆที่ในเวลานั้น ถูกเรียกว่าเป็นยุคแรกของโลกาภิวัตน์ และอังกฤษกับเยอรมนีก็มีการค้าขายระหว่างกันและกัน
Geoffrey Garrett กล่าวว่า โลกาภิวัตน์ในปัจจุบันแตกต่างอย่างมากจากอดีต เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าระบบการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทานโลก และโลกแทบจะไม่มีบริษัทข้ามชาติ แต่ปัจจุบัน ห่วงโซ่อุปทานและบริษัทข้ามชาติ กลายเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจโลก
การผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนพึ่งพากันและกัน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ “เข้ากันไม่ได้กับสงคราม” แต่ยังทำให้สงครามแทบจะกลายเป็นเรื่องที่คนเราคาดคิดไม่ออก การพยายามทำให้เกิด “การแบ่งแยก” ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ด้วยเหตุผลความมั่นคง จะได้ผลที่ตรงกันข้าม เพราะไปลดต้นทุนการทำสงครามกับจีนให้น้อยลง ทำให้ความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีความเป็นไปได้สูงมากขึ้น
ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้ระบบการค้าของโลกเปลี่ยนไปมาก ทุกวันนี้ ประเทศและบริษัทผู้ผลิต ผลิตสินค้าแตกต่างจากอดีต ผู้ผลิตอาศัยวัตถุดิบ ชิ้นส่วน แรงงาน และความคิด จากที่ต่างๆทั่วโลก เพื่อแต่ละส่วนของห่วงโซ่การผลิต มีความได้เปรียบด้านต้นทุน เพราะเหตุนี้ สงครามการค้าในยุคห่วงโซ่อุปทาน จึงสร้างความชะงักงัน และมีต้นทุนที่สูงอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก
โดย ปรีดี บุญซื่อ
Source: ThaiPublica
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you