โดยแสดงความกังวลอย่างมากต่อพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อ และมีการปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารถึงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ พร้อมทั้งระบุว่า ECB พร้อมจะดำเนินมาตรการในทุกรูปแบบเพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดือน ก.ค. 2019 มีมติให้
1. คงอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ 1) Main Refinancing Operations ที่ร้อยละ 0.00 2) Marginal Lending Facility Rate ที่ร้อยละ 0.25 และ 3) Deposit Facility Rate ที่ติดลบร้อยละ -0.40 โดยคณะกรรมการฯ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ ณ ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่า ไปอย่างน้อยจนผ่านช่วงครึ่งแรกของปี 2020 หรือยาวนานกว่านั้นหากมีความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีพัฒนาการสู่ระดับเป้าหมายอย่างยั่งยืนในระยะปานกลาง
2. คงการ reinvest พันธบัตรภายใต้มาตรการ Asset Purchase Programme (APP) ที่จะครบกำหนดอายุต่อไปแบบเต็มจำนวน โดย ECB ตั้งใจจะดำเนินการตามแผนดังกล่าวไปจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบและทำให้นโยบายการเงินมีความผ่อนคลายอย่างมาก
คณะกรรมการฯ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างผ่อนคลายในระดับสูงเป็นระยะเวลานานเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์คงอยู่ “Persistently” ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งหากมุมมองต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงห่างไกลจากระดับเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จะเข้ามาจัดการและพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทุกอย่างตามความเหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับเข้าสู่ระดับเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาและตรวจสอบทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการใช้ 1) Forward guidance ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2) มาตรการเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (mitigating measures) อาทิ ระบบ Tiering (การกำหนดจำนวนเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารกลางซึ่งจะไม่ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยติดลบ) และ 3) ทางเลือกทั้งด้านขนาดและแนวทางการเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ Asset Purchase Programme (APP) รอบใหม่
พัฒนาการทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อเดือน มิ.ย. ชี้ให้เห็นว่า แม้การจ้างงานจะปรับเพิ่มขึ้นและการปรับสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงานจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการค้าระหว่างประเทศที่อ่อนแอลงยังคงเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน อีกทั้ง ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ 1) ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ 2) มาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น และ 3) ความเปราะบางของตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging market) ได้ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต ซึ่งสภาพแวดล้อมเช่นนี้ส่งผลให้ขาดแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและทำให้ตัวเลขดัชนีชี้วัดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง ดังนั้น คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาสภาวะทางการเงิน (Financial Condition) ให้ยังคงเอื้อต่อ 1) การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน 2) การสร้างแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อ และ 3) พัฒนาการของมุมมองแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง
นาย Mario Draghi ประธาน ECB กล่าวในช่วง press conference ว่า
1. คณะกรรมการฯ มีความเห็นตรงกันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม และเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นทางด้านเศรษฐกิจผ่านตลาดแรงงานและภาคการบริการ แต่มุมมองต่อภาคการผลิตกลับปรับแย่ลงอย่างมาก “getting worse and worse” โดยถึงแม้ว่าภาคการผลิตที่ซบเซาจะส่งผลกระทบรุนแรงมากเป็นพิเศษในเยอรมนี แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคยุโรปได้โดยง่ายผ่านความเชื่อมโยงของ supply chains และคาดว่าจะยังไม่เห็นถึงการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ดังเห็นได้จากการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี
2. คณะกรรมการฯ ยังไม่มีการหารือกันในรายละเอียดของการเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ Asset Purchase Programme (APP) แต่จะมีการพิจารณาในละเอียดต่างๆ อาทิ Issuer limits และ Capital key ในการประชุมรอบเดือน ก.ย. นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ECB อาจจะมีมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวอีกด้วย
ความเห็นโดยสรุป
1. Forward guidance โดยรวมสอดคล้องกับ “Dovish stance” ของ นาย Draghi ที่กล่าวในงาน ECB forum for Central Bank ที่เมือง Sintra เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ในครั้งนี้ นาย Draghi แสดงความกังวลอย่างมากต่อพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อ โดยกล่าวย้ำถึงสองครั้งเกี่ยวกับ อัตราเงินเฟ้อที่ “persistently” ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของ ECB พร้อมทั้งเน้นว่า คำดังกล่าวนั้น “new to the language” ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนถึงความพร้อมในการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม
2. ในครั้งนี้ ECB กล่าวว่าจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบ “symmetry” เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อปรับเข้าสู่ระดับเป้าหมาย และมีการปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารถึงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของ ECB เป็น “to ensure the continued sustained convergence of inflation to its aim...” จากเดิมเคยที่ระบุว่า “to ensure the continued sustained convergence of inflation to levels that are below, but close to, 2%...” การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการปูทางไปสู่การปรับเปลี่ยนนิยามของคำว่า “เสถียรภาพด้านราคา” รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่า ECB พร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นระยะเวลานานขึ้น
3. ปัจจุบันนักลงทุนในตลาดเงินคาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.1 ในการประชุมรอบเดือน ก.ย. และจะเริ่มมาตรการ QE ครั้งใหม่ ในไตรมาส 4 ปี 2019 หรือไตรมาส 1 ปี 2020 แต่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณและประเภทสินทรัพย์ที่จะเข้าซื้อ โดยในเบื้องต้นคาดว่า หาก ECB ดำเนินมาตรการ QE อีกครั้ง จะยังไม่พิจารณาเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารและหุ้น
Source: BOTSS
เพิ่มเติม
- Press release :
- Q&A :
- Draghi sparks a wild ride in markets and cements expectations for a quarter-point Fed cut :
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you