ในการประชุมครั้งที่ 4 ในรอบปี 2562 และเป็นรอบที่ กนง. จะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทย โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินว่า กนง.เสียงส่วนใหญ่ยังมีมติให้ "คง" ดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% แต่มีแนวโน้มว่าจะปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาเหลือ
3% ต้นๆ จากปัจจุบันประเมินไว้ที่ 3.8% อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงไปมาก
"พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร ประเมินว่า การประชุมรอบนี้ กนง. น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% แต่มีโอกาสที่จะปรับลดลง 1 ครั้งในระยะข้างหน้า จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ความเสี่ยง "ขาลง" มีมากขึ้นเรื่อยๆ
"เราเริ่มเห็นเทรนด์การปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยลง ซึ่งถ้าเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบ สุดท้ายก็คงส่งผลถึงไทยด้วย ตอนต้นปีทุกคนประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะโตได้ 3% ปลายๆ แต่เวลานี้หลายสำนักฯ เริ่มปรับลดลงเหลือ 3% ต้นๆ และมีความเสี่ยงที่จะลงมาต่ำกว่า 3% ได้ หากสงครามการค้าเกิดขึ้นเต็มรูปแบบ"
ส่วนปัจจัยที่สอง เวลานี้เศรษฐกิจไทยเริ่มโดนแรงกดดันเรื่องดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยช่วงต้นปีคนส่วนใหญ่มองว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ไม่น่าลดดอกเบี้ย แต่ล่าสุดเริ่มปรับมุมมองใหม่ ประเมินกันว่า ในปีนี้อาจปรับลดลงถึง 3 ครั้ง ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อดอกเบี้ยนโยบายของไทย และถ้าดูผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) รุ่นอายุ 10 ปี ของสหรัฐ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับลดลงมาเร็วมาก จนต่ำกว่าบอนด์ยิลด์รุ่น 10 ปีของไทย "เมื่อก่อนบอนด์ยิลด์ไทยจะต่ำกว่าสหรัฐทั้งเส้น(ในทุกรุ่นอายุ) ตอนนี้ดอกเบี้ยไทยเริ่มเท่าหรือสูงกว่าของสหรัฐแล้ว ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้เงินบาทน่าสนใจมากขึ้น เพราะผลตอบแทนเริ่มจูงใจ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุลในระดับสูง ดังนั้นเงินบาทมีโอกาสที่จะเผชิญแรงกดดัน ทำให้ค่าเงินแข็งเพิ่มขึ้นได้"
ประเด็นสุดท้าย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เริ่มมีข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นในการเข้าดูแลค่าเงินบาท เนื่องจากไทย เริ่มมีความเสี่ยงที่จะมีชื่ออยู่ในรายงานประเทศบิดเบือนค่าเงินเผื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐ ซึ่งหมายความว่าทุกๆ 6 เดือน จะมีคนมานั่งจับตาดูว่าช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ไทย ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินมากน้อยแค่ไหน กรณีนี้ยิ่งเพิ่มแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาทมากขึ้น อาจทำให้ศักยภาพในการเข้าไปดูแลค่าเงินของ ธปท. มีน้อยลง
พิพัฒน์ มองว่า กรณีที่เงินบาทเผชิญแรงกดดันมากๆ ก็มีโอกาสที่ กนง. ต้องใช้เครื่องมือดอกเบี้ยเข้ามาช่วย ยิ่งปัจจุบันตัวเลขเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอลงชัดเจน อีกทั้งเงินเฟ้อก็อยู่ใกล้เคียงกับกรอบล่างของเป้าหมาย จึงล้วนเปิดทางให้ ธปท. สามารถปรับ "ลด" ดอกเบี้ยนโยบายลงได้
อย่างไรก็ตาม บล.ภัทร ยังเชื่อว่า กนง. ให้ความกังวลกับความเสี่ยงที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพในระบบการเงินได้ จึงไม่คิดว่ากนง. จะรีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในเวลานี้ แต่อนาคตหากเศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกดดันจากหลายด้านพร้อมกัน ทั้งเรื่องการเติบโตที่ชะลอลง เงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และ เงินบาทแข็งค่า ก็มีโอกาสสูงที่ กนง. จะเลือกปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ซึ่งคาดกว่าหากจะเกิดขึ้นคงเป็นช่วงปลายปี
"ครั้งนี้เรายังคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยเอาไว้ก่อน แต่สิ่งที่ต้องติดตาม คือ ความเห็นของกนง. ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ที่ประกาศออกมา รวมไปถึงการส่งสัญญาณว่า พร้อมที่จะใช้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ และครั้งนี้ยังต้องดูคะแนนโหวตด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะบอกถึงทิศทางดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า"
"นริศ สถาผลเดชา" หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี ประเมินว่าประตูดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะปิดลงแล้ว แต่โอกาสที่จะปรับลดลงยังมีไม่มาก จึงเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 1.75% นอกจากนี้ถ้าดูอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.67% ถือเป็นระดับที่เหมาะสมกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ส่วนในระยะข้างหน้า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยลงหรือไม่คงต้องขึ้นกับมุมมองของ กนง. ว่าให้น้ำหนักกับเรื่องอะไรมากกว่ากันระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจกับเสถียรภาพระบบการเงิน
"เราเชื่อว่าครั้งนี้จะยังคงไว้ก่อน และมีโอกาสที่จะคงยาว ยกเว้นแต่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงไปมาก จนขยายตัวต่ำกว่าระดับ 3% ถึงตอนนั้นคงต้องดูว่า กนง. ให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากันระหว่างการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือเสถียรภาพระบบการเงิน"
"สมประวิณ มันประเสริฐ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรี ประเมินว่า แม้เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ส่งสัญญาณชัดเจนถึงแนวโน้มดอกเบี้ยที่อาจปรับลดลงในระยะข้างหน้า แต่เชื่อว่ากนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมยาวจนถึงสิ้นปี
"รอบนี้เรายังเชื่อว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% และมติก็น่าจะยังออกมาเป็น 7 ต่อ 0 เสียง ส่วนถ้ามองไปข้างหน้า แม้เฟดและอีซีบี อาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้ในอนาคต แต่เรายังไม่เชื่อว่า ของเราจะมีการปรับลดลง เพราะรอบที่ผ่านมาเราไม่ได้ขยับดอกเบี้ยขึ้นมามากนัก อีกทั้งดอกเบี้ยในปัจจุบันของเราก็อยู่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว"
นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายคงไม่น่าจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากอัตราดอกเบี้ยสูง แต่มาจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีความยากลำบาก ดังนั้นหากจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจจริงรัฐจำเป็นต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยที่มีศักยภาพเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
สมประวิณ บอกด้วยว่า วิจัยกรุงศรี ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 3.2% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.8% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาด ประกอบกับปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้เป็นหดตัว 1.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวราว 3.5%
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลือของปีนี้หากปัจจัยภายในประเทศปรับไปในทิศทางเป็นบวกมากขึ้น โดยเฉพาะการมีรัฐบาลชุดใหม่ที่สร้างความชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจและโครงการสำคัญๆ เช่นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็น่าจะช่วยหนุนให้กิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ต่อเนื่อง
Source: กรุงเทพธุรกิจ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you