จากอินโดฯ-มาเลย์ ถล่มตลาด "ซูซูกิ" เดินเครื่องแรงเออร์ติก้ากระฉูด 3.5 พันคัน มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ขายติดลมบน ระบุควอร์เตอร์ 3 "เปอโยต์" พร้อมคัมแบ็กอีกแบรนด์ กรมศุลฯ โชว์ตัวเลข 7 เดือนรถยนต์อินโดฯ- มาเลย์ทะลักกว่า 2 หมื่นคัน
แหล่งข่าวฝ่ายบริหารโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ค่ายรถยนต์หลายยี่ห้อระยะหลังหันไปให้น้ำหนักกับการเพิ่มสัดส่วนนำรถยนต์เข้ามาทำตลาดในประเทศ โดยใช้สิทธิ์ข้อตกลงทางการค้าอาฟต้า (ASEAN Free Trade Area) ซึ่งประเทศสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สามารถนำเข้ารถยนต์ระหว่างกันโดยไม่เสียภาษี
"หลายแบรนด์ระยะหลังใช้วิธีนี้ พยายามเลือกรุ่นรถที่กำลังได้รับความนิยมแล้วออร์เดอร์เข้ามาทำตลาด ซึ่งประสบความสำเร็จดีมาก"
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยข้อมูลกรมศุลกากรว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561-เม.ย. 2562) ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศผ่านการใช้สิทธิพิเศษเพิ่มขึ้น 21,923 คัน เพิ่มจากช่วงเดียวกัน ปีก่อนกว่า 6,000 คัน
ส่วนรถยนต์นำเข้าที่ชำระอากร ปกติอยู่ที่ 7,770 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วง เดียวกันปีก่อนหน้า 2,876 คัน หรือเพิ่มขึ้น 55% โดยผลการจัดเก็บรายได้อากร ขาเข้าของรถยนต์นั่งในช่วง 7 เดือนแรก อยู่ที่ 7,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 48.8%
"รถยนต์นำเข้าที่ใช้สิทธิพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ได้สิทธิข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งอากรขาเข้า เป็นศูนย์ สะท้อนว่าคนไทยบริโภครถยนต์จากประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาก และยังพบว่าประเทศไทยนำเข้ารถยนต์จากอินโดนีเซีย เกิน 20,000 คัน เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงกว่า 6,000 คัน หลังใช้ช่องทางภาษีนำเข้าตามกรอบอาฟต้า"
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทย มีการนำเข้า-ส่งออกรถยนต์ไปจำหน่ายยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศถือเป็นฐานผลิตรถยนต์ที่สำคัญ และรถยนต์นำเข้าจากอินโดนีเซียกำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าคนไทย โดยเฉพาะรถยนต์ในกลุ่มเอ็มพีวีขนาด 7 ที่นั่ง
ทั้งนี้ รายงานยอดขาย 4 เดือนจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตฯ พบว่า รถยนต์ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย อาทิ โตโยต้า อะแวนซ่า มีจำนวน 45 คัน, โตโยต้า เซียนต้า จำนวน 1,474 คัน และโตโยต้า อินโนว่า จำนวน 380 คัน, รถเอ็มพีวี ซูซูกิ เออร์ติก้า 816 คัน และเอ็มพีวี มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ 5,809 คัน
มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ เพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา สร้างกระแสความนิยมจากกลุ่มลูกค้าชาวไทย ได้มาก ตั้งเป้าขายเดือนละ 1,000 คัน แต่ปรากฏว่าขายดีเกินกว่าเป้าหมาย มาก ดังนั้น เป้าหมาย 12,000 คัน ในระยะ เวลา 12 เดือนคงทะลุแน่ ขณะที่ค่ายซูซูกิเพิ่งเปิดตัวซูซูกิ เออร์ติก้า เมื่อ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่ผ่านมา เช่นกัน
นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า รถเอ็มพีวี เออร์ติก้า ได้รับความนิยมสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้รถยนต์ใหญ่ขึ้น อย่างกลุ่มผู้ใช้อีโคคาร์เดิม
ตอนนี้บริษัททยอยส่งมอบรถให้กับ ลูกค้าไปแล้วกว่า 800 คัน จากยอดจองมากกว่า 3,500 คัน ปัญหาคือโควตามีจำกัด ซึ่งผลการเจรจากับโรงงานผลิตที่อินโดนีเซียได้การตอบรับที่ดีมาก น่าจะทำให้ส่งมอบรถยนต์รุ่นนี้กับลูกค้าได้เร็วขึ้น บังเอิญว่ารถรุ่นนี้ในอินโดนีเซียเองก็ร้อนแรง
ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ยังมีค่ายรถยนต์ สัญชาติผรั่งเศส เปอโยต์ ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนมือจากกลุ่มยนตรกิจ มาอยู่ในการดูแลของกลุ่มเอ็มจีซี-เอเชีย กลุ่มทุน ค้าปลีกรถยนต์รายใหญ่ของไทย ที่บริหารงานโดย ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ คาดว่าจะมีการเปิดตัวรถยนต์เปอโยต์อีกหลายรุ่น ทั้งเก๋ง-เอสยูวี และประเภท อื่น ๆ ซึ่งผลิตจากโรงงานนาซ่า (NASA) ของ PSA Group ในมาเลเซีย เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยใช้ สิทธิประโยชน์ของอาฟต้าด้วยเช่น เดียวกัน
สำหรับตลาดรถยนต์ 4 เดือนแรกของปีนี้ มียอดขายทั้งสิ้น 348,549 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 316,296 คัน แบ่งเป็น โตโยต้า 113,204 คัน, อีซูซุ 60,311 คัน, ฮอนด้า 41,333 คัน, นิสสัน 23,731 คัน, มิตซูบิชิ 30,660 คัน, มาสด้า 22,678 คัน, ฟอร์ด 18,802 คัน, ซูซูกิ 7,737 คัน, เชฟโรเลต 5,701 คัน แยกเป็นประเภท ปิกอัพขนาด 1 ตัน 151,400 คัน รถยนต์นั่ง (บี-ซี-ดี คาร์) 120,762 คัน เอ็มพีวีและเอสยูวี 1,240 คัน และอื่น ๆ 23,645 คัน
Source: ประชาชาติธุรกิจ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you