ระดมมาตรการ พยุงเศรษฐกิจ โปะ'ฐานราก'

ธปท.รับจีดีพีมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ 3.8% หลังตัวเลขส่งออกติดลบพุ่ง 3.6% ครม.ไม่รอช้า ไฟเขียว 4 มาตรการพยุงเศรษฐกิจ วงเงิน 1.32 หมื่นล้าน ผ่านบัตรคนจน ลดหย่อนภาษีเที่ยวเมืองหลัก-เมืองรอง ให้สิทธิบ้านหลังแรก

ไม่เกิน 5 ล้าน ลดหย่อนภาษี 2 แสน

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 จะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ 4% หลังผ่านไป 3 เดือนแล้วเห็นสัญญาณการอ่อนตัวลง ทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจต่างปรับลดประมาณการลง นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับลดเหลือ 3.8% ตามการส่งออกลดลงที่ 3.0% สอดคล้องกับค่ายอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ปรับลดคาดการณ์จาก 3.8% เหลือ 3.6% ตามการส่งออกที่จะลดเหลือ 2.7% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองจีดีพีทั้งปี จะเหลือ 3.7% โดยการส่งออกจะขยายตัว 3.2% ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ปรับจีดีพีลดเหลือ 3.7-4% คาดการส่งออกลดลงอยู่ที่ 3-5%

ล่าสุดในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนมีนาคม ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองได้แสดงความเป็นห่วงกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยสศค.ได้ปรับลดจีดีพีทั้งปีนี้เหลือที่ 3.8% จากประมาณการเดิม 4% โดยปรับดัชนีเศรษฐกิจลงทุกตัว ยกเว้นอัตราเงินเฟ้อ เช่น การบริโภคภาคเอกชนจาก 4.3% เหลือ 4.2% การบริโภคภาครัฐจาก 2.3% เหลือ 2.0% การบริโภคภาคเอกชน จาก 4.5% เหลือ 4.1% การลงทุนภาครัฐจาก 5.3% เหลือ 4.6% มูลค่าการส่งออกจาก 4.5% เหลือ 3.4% และมูลค่าการนำเข้าจาก 5.4% เหลือ 3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 1.0% เป็น 1.4%

ขณะที่นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ อาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.ออกมายอมรับว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 1 น่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่ธปท.ประมาณการไว้ที่ 3.4% และมีโอกาสที่จะเห็นใกล้เคียงระดับต่ำสุดที่เคยมองไว้ 3% ซึ่งจะทำให้จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวต่ำสุดของปีจากเดิมที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 อย่างไรก็ตามยังต้องรอตัวเลขทางการจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งหากตัวเลขออกมาต่ำกว่า 3.4% มีความเป็นไปได้ที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะไม่ถึง 3.8% ตามที่ธปท.ประเมินไว้ ซึ่งต้องรอรอบประมาณการในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนมิถุนายนอีกครั้ง

"หากดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยชะลอลงจากไตรมาสก่อน หลักๆ มาจากสินค้าส่งออกหดตัวในหลายตัว ในหลายหมวดจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้การส่งออกไตรมาส 1 ติดลบถึง 3.6% ซึ่งสูงกว่ากระทรวงพาณิชย์ และหากดูรายประเทศจะเห็นว่า ส่งออกยังคงติดลบ 3-4 ประเทศ ซึ่งถือว่าชะลอตัวลงแรงพอสมควร ซึ่งเราคาดว่าจะติดลบ แต่ไม่คิดว่าตัวเลขออกมาสูงถึง 3% ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่การส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 3% แม้จะยังบวกอยู่ก็ตาม”

ขณะที่การบริโภคเอกชนชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนที่หดตัว แต่หมวดการใช้จ่ายอื่นๆ ยังขยายตัวดีอยู่ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนเดือนมีนาคมมีทั้งปัจจัยบวกและลบ แต่ภาพรวมถือว่ายังดีอยู่ เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรยังมองเป็นบวกและปรับตัวดีขึ้น ซึ่งหากสามารถรักษาระดับการขยายตัวได้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากการบริโภคมีสัดส่วนถึง 50% ของจีดีพี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากปีก่อน

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)กล่าวว่า คาดว่าจีดีพีปี 2562 ยังเติบโต 4% บนเงื่อนไขการส่งออกโต 3% โดยต้องมีมูลค่าต่อเดือน 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งไม่ง่าย จึงต้องมีแพ็กเกจกระตุ้นทันทีหลังมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งไม่ว่า พรรคไหนเป็นรัฐบาลโครงการโครงสร้างพื้นฐานยังเดินหน้าและการเบิกจ่ายสูงสุดใน 2 ปีข้างหน้าตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป ขณะที่สหรัฐฯกับจีนเจรจาการค้าคืบหน้า ที่สำคัญเงินเฟ้อมีทิศทางขาขึ้นทั้งปีอยู่ที่ 1.5% จากราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง

ราคาปาล์มยังดิ่งร้องเร่งแก้

นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมัน จังหวัดกระบี่กล่าวว่า ราคาผลปาล์มน้ำมันตกต่ำมาโดยตลอดช่วง 5 ปีของรัฐบาล และนโยบายที่ออกมาช่วงนี้ ยังไม่สามารถดันราคาปาล์มให้สูงขึ้นได้จริง ทั้งมาตรการนำน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า 1.6 แสนตัน มาตรการสนับสนุนใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี20 ใช้วงเงินรวม 5,880 ล้านบาท แต่ราคาผลปาล์มปัจจุบัน ที่เกษตรขายได้ต่ำสุดที่ 1.60 บาทต่อกิโลกรัม บางพื้นที่ของจ.ระนองที่ขนส่งไกลขายได้เพียง 1.20 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องรีบเสนอมาตรการพยุงเศรษฐกิจ เพราะเห็นตัวเลขที่ออกมาสะท้อนการชะลอตัว แม้ผลกระทบหลักจะมาจากการส่งออก แต่เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นสิ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจไม่ทรุดไปมากกว่านี้คือการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และควรทำแต่เนิ่นๆ เพราะหากทิ้งเวลาไปนานอาจต้องใช้เงินงบประมาณมากกว่าเดิม โดยมาตรการที่ออกมาจะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ ดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวถึง 3.9% ในปี 2562 จากที่คาดการณ์ 3.8%

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 30 เมษายนเห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงสั้น รองรับการเข้ามาบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ หลังได้ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจนกระทบต่อการส่งออก การใช้จ่ายในประเทศทรงตัวจากกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศน้อย รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ 4 มาตรการ วงเงินรวม 13,200 ล้านบาท เช่น เติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ทุกคน 14.5 ล้านคน ครั้งเดียวคนละ 500 บาท ผู้พิการ เดือนละ 200 บาท 2 เดือน ช่วยบรรเทาค่าครองชีพผู้มีบุตรคนละ 500 บาท ช่วยเหลือเกษตรกรคนละ 1,000 บาทครั้งเดียว มาตรการลดหย่อนภาษี เที่ยวเมืองหลักได้ไม่เกิน 15,000 บาท เที่ยวเมืองรองได้ไม่เกิน 20,000 บาท ซื้อหนังสือ อุปกรณ์กีฬาและสินค้าโอท็อปได้ไม่เกิน 15,000 บาท และซื้อบ้านหลังแรก ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 2 แสนบาท

Source: ฐานเศรษฐกิจ

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

#forex #ลงทุน #pepperstone #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"