ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (2 ม.ค. 62) ที่ระดับ 32.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจาก 32.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา ตลาดโดยรวมยังคงเผชิญกับการปิดรับความเสี่ยงต่อ
จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและความกังวลสงครามการค้า ซึ่งความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะหยุดงานชั่วคราวของหน่วยงานรัฐบาล (Government Shutdown) ยังช่วยกดดันให้ตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ ตลาดอาจจะอยู่ภายใต้สภาวะความผันผวนสูง จากปัจจัยที่สำคัญ อาทิ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการของจีน ยุโรป รวมทั้งสหรัฐฯ และตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ อาจร้อนแรงขึ้น หลังพรรคเดโมแครตจะเข้ามากุมอำนาจในสภาล่าง ดังนั้น นักลงทุนและผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับตลาดการเงินภายใต้สภาวะความผันผวนที่สูง โดยสัปดาห์นี้มีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ดังนี้ เริ่มจากวันพุธ ตลาดจะจับตาแนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตของจีน ผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดย Caixin ซึ่งคาดว่าจะยังคงปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากผลกระทบของสงครามการค้า
ฟากตลาดการเงินไทย ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ยังคงมีแรงซื้อบอนด์ไทยอยู่ จากมุมมองของนักลงทุนที่ประเมินว่า เงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในระดับต่ำ วันพฤหัสบดี ตลาดจะรอลุ้นตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ โดย ISM ซึ่งมีโอกาสที่ตัวเลขดังกล่าวจะสะท้อนการชะลอตัวลงของภาคการผลิตของสหรัฐฯ สอดคล้องกับมุมมองความกังวลการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และในวันเดียวกัน ความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ อาจกลับมาร้อนแรงในระยะสั้น หลังพรรคเดโมแครตจะเข้ามากุมอำนาจในสภาล่างแทนพรรครีพลับริกันในสภาคองเกรสที่ 115 โดยประเด็นเร่งด่วนของสภาคองเกรส คือ การผ่านร่างงบประมาณเพื่อยุติภาวะหยุดงานชั่วคราวของหน่วยงานรัฐบาล (Government Shutdown)
และในวันศุกร์ ตลาดจะรอจับตาตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ รวมทั้งอัตราว่างงาน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ นอกเหนือจากตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าว สิ่งที่ควรจับตามอง คือ มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดผ่านถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมทั้งหนึ่งในคณะกรรมการ FOMC อย่าง Fed Bostic
มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบกว้าง 32.20-32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้สัปดาห์หน้า ที่สำคัญจะต้องจับตาความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ซึ่งตลาดอาจจะกลับมาผันผวนมากขึ้นหากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้ตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว สำหรับวันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 32.25-32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ
Cr.ฐานเศรษฐกิจ
สนับสนุนข่าวโดย ICMarkets
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/