ทราบกันหรือไม่ว่า ปัญหาเงินเฟ้อต่ำกำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกและประเทศไทย นางเจเน็ต เยลเลน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐได้กล่าวไว้เมื่อปีที่แล้วว่า "สิ่งที่น่าแปลกใจที่สุดสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ คือ อัตราเงินเฟ้อ"
นั่นเป็นเพราะพลวัตเงินเฟ้อของสหรัฐ และหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไป ในช่วงที่ผ่านมา เงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2553 อยู่เพียง 0.6% ซึ่งต่ำกว่าในช่วงทศวรรษก่อนหน้าถึง 2% นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลก จะเริ่มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแล้ว เงินเฟ้อก็ยังคงต่ำต่อเนื่อง จึงกลายเป็นปริศนาว่า เพราะเหตุใดอัตราเงินเฟ้อจึงไม่สูงตาม การขยายตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศ
อัตราเงินเฟ้อต่ำ เป็นปรากฏการณ์ที่ท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะการที่เงินเฟ้อต่ำอย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะเงินฝืด หรือสภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นได้เผชิญมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ช่วงปี 2531 นอกจากนี้ การที่ดูเสมือนว่าเงินเฟ้อจะไม่ตอบสนองกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวในช่วงนี้ ทำให้ผู้ดำเนินนโยบายต้องคิดหนักว่าจะยังสามารถใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายกระตุ้นหรือชะลอการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้เหมือนในอดีตหรือไม่
ภาวะเงินเฟ้อต่ำทั่วโลกเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตการค้นพบแหล่งพลังงานใหม่จากหินน้ำมัน (shale oil) หรือการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ตลาดโลก มีความเชื่อมโยงกันผ่านการเปิดเสรีทางการค้า งานวิจัยที่ผ่านมา มักวิเคราะห์ผลกระทบของปัจจัยเชิงโครงสร้างเหล่านี้ต่อเงินเฟ้อโดยการประมาณค่าแรงกดดันด้านราคาที่แท้จริง (underlying price pressure) จากการตัดหมวดสินค้าที่มีความผันผวนระยะสั้นสูงออกจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เช่น ราคาอาหารสด และพลังงาน แต่การวัดแรงกดดันด้านราคาที่แท้จริงด้วยวิธีนี้อาจไม่แม่นยำเสมอไป โดยเฉพาะถ้าสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำในช่วงที่ผ่านมาคือการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันโลก
คณะผู้วิจัยขอนำเสนอวิธีใหม่เพื่อวิเคราะห์แรงกดดันที่แท้จริงของประเทศไทยโดยการนำราคาสินค้าและบริการรายย่อยหลายร้อยรายการที่กระทรวงพาณิชย์ เก็บรวบรวมมาจากร้านค้าขายปลีกทั่วประเทศ (คณะผู้วิจัยเรียกข้อมูลในส่วนนี้ว่าข้อมูลออฟไลน์) มาแยกส่วนความเคลื่อนไหว ของราคาด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ เพื่อ "สกัด" เอาส่วนที่เป็นตัวสะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่แท้จริงของประเทศ ซึ่งการใช้ข้อมูลราคาสินค้ารายย่อยจำนวนมากเพื่อศึกษาปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อ ย่อมนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อต่ำได้ในมิติที่ลึก และครอบคลุมยิ่งขึ้น
แล้วเงินเฟ้อไทยในอนาคตจะยังต่ำ ต่อไปหรือไม่? สาเหตุหนึ่งที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไทยต่ำต่อไปในโลกอนาคต อันใกล้ คือการที่พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) กำลังมีบทบาทมากขึ้นอย่างรวดเร็วการพัฒนาการค้าผ่าน electronic platform อาจพลิกโฉมรูปแบบของตลาดการค้าขายปลีกและส่งผลกระทบต่อพลวัตเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ เพราะการที่ ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้า เพื่อค้นหาราคาที่ดีที่สุดได้ง่ายเพียง ปลายนิ้วคลิก ทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจมากขึ้น และทำให้ร้านค้าต้องปรับราคาให้ลงมาไล่เลี่ยกันแม้จะลดส่วนกำไรของตนเองไปก็ตาม นอกจากนี้ การที่ผู้ขายสามารถ ประกาศขายสินค้าของต้นแบบแทบไม่มีต้นทุน ก็นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า การปรับเปลี่ยน ราคาสินค้าจะถี่ขึ้น และมีขนาดการปรับเปลี่ยน ราคาที่เล็กลง
คณะผู้วิจัยได้นำข้อมูลราคาสินค้า นับล้านรายการจากPricezaซึ่งเป็นเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาเจ้าใหญ่ของประเทศไทย (คณะผู้วิจัยเรียกข้อมูลในส่วนนี้ว่าข้อมูลออนไลน์) เพื่อตอบคำถามว่าพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าในโลกออนไลน์ ไทยขณะนี้เป็นอย่างไร และจะมีนัยอย่างไร ต่อเงินเฟ้อในโลกอนาคต จากรูปที่แสดงตัวอย่างของข้อมูล จะเห็นได้ว่าข้อมูลออนไลน์มีลักษณะพิเศษมาก นอกจาก จะมีความละเอียดสูงเพราะมีการบันทึก การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าเป็นรายวินาทีแล้ว ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าชนิดเดียวกันที่แตกต่างกัน มากระหว่างร้านค้าหลายๆ ร้านอีกด้วย ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงสามารถนำข้อมูลออนไลน์มาวิเคราะห์รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าในแง่มุมใหม่ๆ ที่ไม่สามารถ ใช้ข้อมูลออฟไลน์มาวิเคราะห์ได้
ปัจจัยใดส่งผลให้เงินเฟ้อไทยต่ำ?และทิศทางเงินเฟ้อในอนาคตจะเปลี่ยนไป หรือไม่? คณะผู้วิจัยขอเชิญชวนเข้ารับฟัง การนำเสนอผลงานวิจัยฉบับเต็มเรื่อง "Decoding the Low Inflation Conundrum with Online and Offline Price Data" ได้ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 ในหัวข้อ "สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง" วันที่ 24-25 ก.ย. 2561 ณ โรงแรม Centara Grand at Central World (รายละเอียดที่ www.bot.or.th/BOTSymposium2018)
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของคณะผู้วิจัย จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับนโยบายของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย
โดย พิม มโนพิโมกษ์, วรดา ลิ้มเจริญรัตน์,
อัครพัชร์ เจริญพานิช, ชนกานต์ ฤทธินนท์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Source: กรุงเทพธุรกิจ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman