ค่ายรถญี่ปุ่นเร่งเครื่อง ปักฐาน'จีน'ตั้งรับศึกค้าโลก

ค่ายรถญี่ปุ่นเร่งเครื่อง ปักฐาน'จีน'ตั้งรับศึกค้าโลก: หลังปล่อยให้ค่ายรถคู่แข่งสัญชาติอเมริกัน อย่าง เทสลา และค่าย ฝั่งยุโรป เช่น บีเอ็มดับเบิ้ลยู และ เมอร์เซเดส-เบนซ์ นำหน้าไปลุยตลาดแดนมังกรแล้ว

คราวนี้ก็ถึงทีของค่ายรถญี่ปุ่นที่จะเร่งบุกเข้าไปลุยตลาดจีนบ้าง นำทัพโดย 3 ค่ายใหญ่ คือ นิสสัน โตโยต้า และฮอนด้า ซึ่งทั้ง 3 ค่าย จะเน้นเจาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นพิเศษ

ในขณะนี้ "สหรัฐ" ถือเป็นตลาดรถใหญ่สุดของค่ายรถญี่ปุ่น แต่ศึก การค้ากับบรรดาคู่ค้าที่เปิดฉากขึ้นโดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจาก ทั่วโลก เริ่มส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรถของค่ายรถบางแห่งเพิ่มขึ้นมาแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น การข่มขู่ของ รัฐบาลทรัมป์ ว่าจะเก็บภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถนำเข้า 25% ในอีกไม่นานนี้ กำลังทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยเหตุนี้ การต้องเร่งหาตลาดรถที่ใหญ่พอๆ กับสหรัฐเพื่อรักษาและเพิ่มยอดขายในอนาคต จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งคงไม่มีที่ไหนเหมาะสมไปมากกว่า "จีน" ที่ตลาดรถยนต์กำลังเติบโตแข็งแกร่ง

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "นิสสัน" ค่ายรถญี่ปุ่นที่ทำยอดขาย ในจีนไปได้ 1.5 ล้านคัน เมื่อปี 2017 เผยแผนขยายฐานผลิตในจีน โดยรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า นิสสัน เตรียมลงทุน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.9 หมื่นล้านบาท) ร่วมกับ ตงเฟิง กรุ๊ป บริษัทพันธมิตร ในจีน เพิ่มกำลังผลิตอีก 40% ไปอยู่ที่ราว 2.1 ล้านคัน/ปี ภายในปี 2021 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนก่อนหน้านี้ที่ 8,730 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.8 แสนล้านบาท) เพื่อหวังขึ้นเป็นผู้เล่นท็อป 3 ในตลาดจีน และไล่ตาม เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และโฟล์คสวาเกน ที่ทำยอดขายไปได้ 4 ล้านคัน เมื่อปีที่ผ่านมา

ส่วนแผนเจาะตลาดอีวีนั้น นิสสันเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยจะเตรียมขายรถอีวีในจีนเพิ่มอีก 20 รุ่น ภายในปี 2022 หลังส่งรถรุ่น ซิลฟี่ ไปลองตลาดเมื่อปีที่แล้ว และทำยอดขายได้กว่า 4 แสนคัน โดยนิสสันระบุว่า ซิลฟี่ เวอร์ชั่นอีวี คาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดขายรถรุ่นดังกล่าวทั้งหมด

ด้าน "โตโยต้า" ก็ไม่น้อยหน้า เช่นกัน โดยเตรียมขยายการผลิตรถยนต์ในจีนเพิ่มอีก 1.2 แสนคัน/ปี ที่โรงงานในเมืองเทียนจิน ทาง ตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ระยะกลางเพื่อขยายช่องทางจัดจำหน่ายและ เร่งพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า

รอยเตอร์สรายงานว่า การ ดำเนินการล่าสุดคาดว่าจะช่วยให้ บริษัทมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 20-30% ในปัจจุบันโรงงานเทียนจินมีกำลังผลิต 5.1 แสนคัน/ปี โดยโตโยต้ายังตั้งเป้าให้โรงงานที่เทียนจินเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 หมื่นคัน/ปี และ รถยนต์ไฮบริด 1.1 แสนคัน/ปี ในอนาคต

ขณะเดียวกัน โตโยต้ายังวางแผนเปิดตัวรถอีวีและรถไฮบริดในจีนจำนวน 10 รุ่น ภายในปี 2020 เพื่อหวังเพิ่มยอดขายให้เกิน 1.4 ล้านคัน จากปัจจุบันที่ราว 1 ล้านคัน

ขณะที่ "ฮอนด้า" นั้นเตรียมเพิ่มกำลังผลิตในจีนอีก 20% ตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2019 หลังเพิ่งปรับปรุงไลน์ผลิตที่โรงงาน 2 แห่ง ในเมือง

กว่างโจวไป ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่ม การผลิตของฮอนด้าในจีนเป็น 1.32 ล้านคัน จาก 1.08 ล้านคัน ในปัจจุบัน

นอกจากเพิ่มการผลิตแล้ว ฮอนด้าจะขายรถอีวี รุ่น Everus สำหรับ ตลาดจีนโดยเฉพาะภายในปีนี้ และวางแผนเปิดตัวรถอีวีในจีนอีกกว่า 20 รุ่น ภายในปี 2025

สำหรับแรงดึงดูดค่ายรถญี่ปุ่น เข้าสู่ตลาดจีนนั้น ลำดับแรกไม่พ้นเรื่องยอดขายที่โตต่อเนื่องจนเกือบเทียบเท่าสหรัฐ โดยวอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า นิสสันขายรถในจีนได้ 1.5 ล้านคัน เมื่อปี 2017 น้อยกว่าในสหรัฐเพียงเล็กน้อยที่ 1.59 ล้านคัน ด้านยอดขายในจีนของโตโยต้าอยู่ที่ 1.29 ล้านคัน เมื่อเทียบกับในสหรัฐที่ 2.43 ล้านคัน ขณะที่ฮอนด้าเปิดเผยว่า ตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วน 28% ของยอดขายทั้งหมด ใกล้เคียงกับสัดส่วนของสหรัฐที่ 30%

แม้ภาพรวมยอดขายรถยนต์ในจีนและสหรัฐยังนับว่าสูสีอยู่ แต่หากไปดู

ยอดขายรถอีวีและรถยนต์พลังงาน ทางเลือกแล้ว จีนขึ้นแซงสหรัฐกลายเป็นตลาดเบอร์ 1 ไปเป็นที่เรียบร้อย โดยยอดขายอีวีในจีนพุ่งไปอยู่ที่ 5.79 แสนคัน ในปี 2017 เมื่อเทียบสหรัฐ ที่ 1.98 แสนคัน

นอกจากเรื่องยอดขายแล้ว ความน่าสนใจลำดับถัดมา คือ จีน กำลังเปิดกว้างตลาดยานยนต์ครั้งแรกในรอบ 20 ปี เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยประกาศให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติสามารถถือหุ้นในกิจการร่วมลงทุนกับจีนได้มากกว่า 50% อาจเริ่มที่กลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) เร็วสุดภายในปีนี้

ก่อนหน้านี้ จีนยังประกาศลด การอุดหนุนบริษัทรถอีวีสัญชาติจีนเพื่อกระตุ้นการแข่งขัน และใช้นโยบาย Cap and Trade เป็นการกำหนดให้ค่ายรถเพิ่มโควตาการขายรถยนต์อีวีและไฮบริดมากขึ้น ไปอยู่ที่อย่างน้อย 10% ตั้งแต่ปี 2019 และ 12% ในปี 2020

ทั้งการเปิดกว้างตลาดและมาตรการดังกล่าว จึงเป็นโอกาสทองของเอกชนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่กำลังเร่งเครื่องพัฒนารถอีวีและรถยนต์พลังงานทางเลือก ขณะที่ญี่ปุ่นเองกระชับความร่วมมือด้านธุรกิจ ยานยนต์กับจีนมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาญี่ปุ่นและจีนลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ชาร์จอีวีร่วมกัน และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการจริงภายในปี 2020 โดยในปัจจุบันญี่ปุ่นและจีนครองตลาดอุปกรณ์ชาร์จไฟอีวีรวมกัน 95%

การหันไปขยายฐานผลิตในจีน มากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยปูทาง สู่ความร่วมมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้านอื่นๆ มากขึ้นระหว่างค่ายรถญี่ปุ่นและจีน จึงนับเป็นความเคลื่อนไหว ถูกที่ถูกเวลา ท่ามกลางความเสี่ยง ที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์
Source: Posttoday

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"