รัฐบาลฟิลิปปินส์เริ่มมาตรการแจกเงินอุดหนุนให้กับประชาชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระแสวิจารณ์ที่ว่ารัฐบาลแทบไม่ช่วยเหลือคนยากจน การเติบโตของราคาทะลุเป้าของ รัฐบาลซึ่งอยู่ระหว่าง 2-4%
เป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกันจนถึงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 5.2% จากปีที่แล้ว ขณะนี้รัฐบาลมะนิลากำลังวุ่น อยู่กับวิธีบรรเทาผลกระทบของแนวโน้มนี้ ที่มีต่อกลุ่มคนที่มีอันจะกินน้อยกว่า ในประเทศ
ครัวเรือนที่ยากจนจะได้รับเงินอุดหนุน 200 เปโซต่อเดือนภายใต้ข้อเสนอใหม่ ขณะที่รัฐบาลยังมีแผนที่จะเพิ่มเงินดังกล่าว เป็น 300 เปโซต่อเดือนในปี 2562 คาดว่า ครัวเรือนที่มีคุณสมบัติครบหลักเกณฑ์ในฟิลิปปินส์อยู่ที่ราว 10 ล้านครัวเรือน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบอกว่า แม้เงินอุดหนุนก้อนนี้จะไม่มากพอ แต่ก็น่าจะช่วยผู้สูงอายุ ได้บ้าง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เออร์เนสโต เปอร์เนีย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและพัฒนาแห่งชาติฟิลิปปินส์ ระบุว่า มาตรการต่อต้าน เงินเฟ้อต่างๆ น่าจะทำให้ราคาเติบโตในระดับปานกลางภายในสิ้นปีนี้
ตลาดคาดหวังว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุม หลายครั้งในเดือนส.ค.นี้ แต่รัฐบาลยังคง คาดว่า เงินเฟ้อจะอยู่ระหว่าง 4-4.5% สำหรับทั้งปี 2561
ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นตัวแปรสำคัญของปัญหาเงินเฟ้อนี้ อีกตัวแปรหนึ่งคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ทำให้เงินเปโซอ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุน การนำเข้าสูงขึ้น
รัฐบาลมะนิลาได้รวมปัญหานี้ไว้ในแผนปฏิรูปภาษีแบบครอบคลุมเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเก็บหรือเพิ่มภาษีสรรพสามิต กับสินค้าต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปัจจุบัน เชื้อเพลิงดีเซลซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยถูกเก็บภาษี กลับถูกเก็บภาษี 2.5 เปโซต่อลิตร และขณะนี้มีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 45 เปโซต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 30% จากช่วงครึ่งหลังของปี 2560
ต้นทุนเชื้อเพลงที่สูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนแก่บรรดาผู้ดำเนินการรถสองแถว ฟิลิปปินส์ซึ่งมีสีสันหลากหลายและเป็น ที่นิยมในหมู่ผู้โดยสารชนชั้นแรงงาน เหล่าคนขับรถได้ออกมาเดินขบวนประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ และขณะนี้ ทางการเตรียมจะจ่ายเงินอุดหนุน 500 เปโซให้กับคนขับและเจ้าของรถสองแถว 179,000 คน ทั่วประเทศ อีกทั้งอนุมัติการปรับขึ้น ค่าโดยสารพื้นฐานจาก 8 เปโซเป็น 9 เปโซ แม้จะเพิ่มภาระให้กับผู้โดยสารก็ตาม
ขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์ได้พยายามหลายด้านเพื่อควบคุมราคาข้าว ซึ่งเพิ่มขึ้น ราว 8% ในช่วงปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่กว่า 40 เปโซต่อกก. ทั้งนี้ ข้าวถือเป็นอาหารหลัก ของชาวฟิลิปปินส์ แต่การควบคุมการ นำเข้าที่มีช่องโหว่ทำให้ปริมาณข้าวสำรองร่อยหรอ รัฐบาลได้เสนอให้ออกกฎหมายที่จะเปิดช่องให้มีการนำเข้าข้าวมากขึ้น และได้ประกาศเพดานราคาสำหรับข้าวและผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา
แม้ฟิลิปปินส์ลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคล อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่ประกาศเมื่อ เดือนม.ค. แต่ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่พอใจ รัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เผชิญกับกระแสวิจารณ์มากขึ้นว่าการปฏิรูปมีแต่จะทำร้ายประชาชนที่มี อันจะกินน้อยกว่า ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง และการเติบโตของค่าแรงซบเซาแม้ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นก็ตาม
รัฐบาลของดูเตอร์เตผลักดันแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง คาดว่ามาตรการปฏิรูปภาษีเมื่อเดือนม.ค. จะเพิ่ม รายได้เข้ารัฐราว 9 หมื่นล้านเปโซ ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่หากต้นทุนของการบรรเทาเงินเฟ้อทะยานสูงเกินไป รัฐบาลก็อาจต้องลดขนาดแผนก่อสร้างโครงการดังกล่าว และแน่นอนว่าจะส่งผลต่อความนิยมทางการเมืองด้วย
สำนักโพลล์ "โซเชียล เวทเธอร์ สเตชันส์" ของฟิลิปปินส์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในไตรมาสที่ 2 เมื่อวันอังคาร (10 ก.ค.) พบว่า 65% ของผู้ใหญ่ชาวฟิลิปปินส์ ที่ตอบแบบสำรวจ "พอใจ" ผลงานของดูเตอร์เต ลดลง 5% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ กลุ่มที่ "ไม่พอใจ" เพิ่มขึ้น 6% มาอยู่ที่ 20% และไม่ตัดสินใจลดลง 2% มาอยู่ที่ 15%
ตัวเลขดังกล่าวทำให้คะแนนความนิยม สุทธิของดูเตอร์เต อยู่ที่ 45% หรืออยู่ในระดับ "ดี" ลดลงจาก 56% ที่เป็นระดับ "ดีมาก" ซึ่งถือเป็นคะแนนนิยมสุทธิในไตรมาส 2 ที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ของผู้นำรายนี้
ฟิลิปปินส์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่พยายามต่อสู้กับเงินเฟ้อ ยังมีอินเดียที่ดัชนีราคา ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 4.87% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และทำให้ธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่งเมื่อเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ 80% ของสินค้านำเข้าของอินเดียคือน้ำมัน ทำให้ประเทศเสี่ยงที่จะได้รับ ผลกระทบจากราคาปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐ ทำให้เงินรูปีอ่อนค่าแตะระดับต่ำที่สุด ในประวัติการณ์เทียบกับดอลลาร์ นับถึงสิ้นเดือนมิ.ย.
เช่นเดียวกับเงินรูเปี๊ยะห์ของ อินโดนีเซียที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เข้าปี 2561 บั่นทอนเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และแม้การเติบโตของราคายังไม่เกิน เป้าหมายทางการในเดือนนั้น แต่รัฐบาลยังคงเร่งหาทางต่อสู้กับเงินเฟ้อ ที่สูงขึ้น ด้วยการเปิดแหล่งข้าวสำรอง ของรัฐและแทรกแซงราคาขายปลีก น้ำมันเบนซิน
Source: กรุงเทพธุรกิจ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman