การอ่อนค่าลงของสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกในปีนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะมีปัจจัยหนุนเรื่องธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐก็เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
จึงไม่น่าแปลกหากจะเกิดทุนไหลออกและฉุดให้ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาดิ่งลงกันถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินหยวนจีนแบบทุบสถิติใหม่ในรอบ 6 เดือน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา กำลังถูกจับตาว่าอาจเป็นการเคลื่อนไหวที่ "ไม่ปกตินัก"แม้ว่าในภาพรวมตั้งแต่ต้นปีนี้มาจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินหยวนจีนจะไม่ได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงแบบหวือหวาเมื่อเทียบกับภูมิภาค ที่หลายสกุลเงินอ่อนค่ากันไปมากกว่า 2% ในขณะที่หยวนเพิ่งอ่อนค่าไปราว 1.67% เท่านั้น แต่บรรดาเทรดเดอร์จำนวนหนึ่งกำลังเชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งอาจกำลังจงใจกดค่าเงินของตัวเองลง เพื่อรับมือกับสงครามการค้ากับสหรัฐที่กำลังร้อนแรงขึ้น
หากดูจากประวัติศาสตร์ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา อาจเชื่อได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนอาจใช้เงินหยวนเป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการค้า และจีนเองก็ถูกกล่าวหาจากหลายฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะสหรัฐว่ากดค่าเงินตัวเองให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบให้ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน
ยิ่งรัฐบาลปักกิ่งกำลังมีปัญหาพิพาททางการค้ากับรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างรุนแรงในปัจจุบัน ก็ยิ่งมีน้ำหนักความเป็นไปได้ว่าการกดค่าเงินหยวนอาจเป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งของจีน เพื่อรับมือกับข้อพิพาทการค้า
วอลสตรีทเจอร์นัล รายงานอ้างความเห็นนักวิเคราะห์หลายฝ่ายว่า การปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลง เป็นวิธีหนึ่งที่อาจช่วยต้านทานแรง
กดดันของสหรัฐต่อข้อพิพาทการค้าได้ กำแพงภาษีต่อสินค้าจีนวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.65 ล้านล้านบาท) ซึ่งเริ่มที่ภาษีระลอกแรกก่อนในวงเงินราว 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.12 ล้านล้านบาท) กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ หากค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงก็จะช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้สินค้าส่งออกจีนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จีนในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนนั้น กับจีนในปัจจุบันวันนี้ก็อยู่ในบริบทที่แตกต่างกันมากจนเราไม่อาจเหมารวมได้ว่าจีนสามารถใช้แผนการลดค่าเงินมาตอบโต้สหรัฐอย่างง่ายๆ เพราะการอ่อนค่าของเงินหยวนยังเป็น "ดาบสองคม" ที่สามารถกลับมาทำร้ายตัวเองได้ในวันที่จีนไม่ได้มีแค่การส่งออก แต่ยังมี "ตลาดหุ้น" และเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจาก ต่างประเทศอีกด้วย
หากปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงมากเกินไปก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะ "ทุนไหลออก" จนกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีนที่รัฐบาลปักกิ่งค่อนข้างจะเซนซิทีฟเป็นพิเศษต่อเรื่องนี้ หลังจากที่จีนเคยมี
บทเรียนครั้งใหญ่มาแล้วตั้งแต่วิกฤตการณ์ตลาดหุ้นในช่วงเดือน ส.ค. 2015 และช่วงต้นปี 2016
นอกจากนี้ หากรัฐบาลปักกิ่งจงใจกดค่าเงินเพื่อหวังผลด้านการ ส่งออก ก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้ทำเนียบขาวหาทางตอบโต้กลับมาอีก ซึ่งที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มุ่งโจมตีจีนเรื่องค่าเงินหยวนมาตลอดอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนถึงปัจจุบัน และยังมีเครื่องมือตอบโต้ชิ้นสำคัญอยู่ในมืออย่างการขึ้นบัญชีประเทศปั่นค่าเงินของกระทรวงการคลัง ที่จะทำรายงานเปิดเผยออกมาปีละ 2 ครั้ง ทุกเดือน เม.ย. และ ต.ค.
การที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไปต่ำสุดในรอบกว่า 6 เดือน หรืออ่อนค่าไปทะลุ 6.617 หยวน/ดอลลาร์ จากที่ปิดตลาด ณ สิ้นปี 2017 ที่ 6.5069 หยวน/ดอลลาร์ จึงถูกตีความอีกแง่หนึ่งว่า "จีนกำลังกดค่าเงินหยวนแบบให้อยู่ในกรอบแต่พองาม" คือมีการควบคุมให้อยู่ในแดนอ่อนค่า แต่ก็ต้องป้องกันไม่ให้ดิ่งลงมากจนเกินไป
ตัวอย่างหนึ่งที่อาจบ่งชี้ได้ว่าเงินหยวนอยู่ในการดูแลของปักกิ่งอย่างใกล้ชิดก็คือ ในวันที่ 27 มิ.ย. ซึ่งเงินหยวนอ่อนค่าลงไปถึง 0.9% อยู่ที่ 6.6159 หยวน/ดอลลาร์ ในการซื้อขายช่วงเช้า หรือต่ำสุดตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2017 ในวันนั้นยังพบการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจพร้อมกันด้วย เมื่อธนาคารรัฐอย่างน้อย 1 แห่ง เทขายเงินดอลลาร์ล็อตใหญ่ออกมาจนทำให้ค่าเงินหยวนกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในวันเดียวกัน
เทรดเดอร์หลายรายให้ความเห็นว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าการซื้อขายดอลลาร์ล็อตใหญ่ของแบงก์รัฐในจีนนั้นไม่ใช่เรื่องที่แต่ละแบงก์ตัดสินใจทำกันเอง แต่มาจากคำสั่งของแบงก์ชาติ หรือธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ที่เป็นผู้กำกับดูแลเสถียรภาพค่าเงินผ่านการใช้กลไกต่างๆ ในมือมากกว่า ซึ่งการแทรกแซงในทำนองนี้ยังเกิดขึ้นในตลาดออฟชอร์ด้วย
การแทรกแซงผ่านการเทขายดอลลาร์ล็อตใหญ่ของแบงก์รัฐเช่นนี้ ยังเท่ากับเป็นการ "ส่งสัญญาณ" จากจีนให้นักเก็งกำไรรู้ด้วยว่า แม้จีนจะอยากเห็นเงินหยวนในแดนอ่อนค่า แต่จีนก็จะควบคุมการเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเห็นว่าลงแรงและเร็วเกินไป ปักกิ่งก็จะเข้าจัดการให้อยู่ในร่องในรอยที่เหมาะสมทันที
ขณะที่ซีเอ็นบีซีอ้างความเห็นนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งว่า ปักกิ่งอาจจะไม่ได้เป็นฝ่ายกดค่าเงินหยวนโดยตรง แต่เลือกที่จะแทรกแซงน้อยลงตอนที่หยวนอ่อนค่ามากกว่า
อลัน รัสคิน นักกลยุทธ์ค่าเงินของดอยช์แบงก์ให้ความเห็นว่า แม้ในเชิงทฤษฎีแล้ว สงครามการค้าอาจนำไปสู่การก่อสงครามค่าเงินตามมาได้หากสถานการณ์เลวร้ายลง แต่ก็ยังเร็วเกินไปมากที่จะบอกว่าจีนเริ่มก่อสงครามค่าเงินแล้ว และคิดว่าคงไม่มีฝ่ายใดที่อยากจะไปถึงจุดนั้นเช่นกัน
สงครามค่าเงินยังอาจเร็วไปในวันนี้ แต่หากข้อพิพาทการค้าทวีความรุนแรงขึ้น สงครามคู่ขนานก็อาจเกิดขึ้นได้ในอีกไม่นานนี้เช่นกัน
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday
เพิ่มเติม
- Why the fall of China's renminbi matters :
https://www.ft.com/video/8a699805-c287-43b2-98a1-7f4f87ddb8b5
บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman