ความน่าเชื่อถือในการจัดทำตัวเลข GDP ไทยถูกสั่นคลอน?

ผู้เชี่ยวชาญเห็นแย้งกระทรวงการคลัง เชื่อเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีโอกาสทะลุ 2%: ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 น่าจะขยายตัวแตะระดับ 2-2.6% แตกต่างจากประมาณการของกระทรวงการคลังที่ 1.8% พร้อมตั้งคำถามต่อการจัดทำข้อมูล GDP

ของทางการ ขณะที่เมื่อมองไปข้างหน้าพบว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้
วันที่ 25 มกราคม ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ยังคิดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 น่าจะโต 2.6% ตามประมาณการเดิมของ EIC เมื่อเดือนธันวาคม เนื่องจากมองว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3
ขณะที่ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนสายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ประมาณการการเติบโต GDP ปี 2566 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ส่วนตัวคิดว่า ‘ต่ำไป’ เนื่องจากช่วงปลายปีเป็นช่วงการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างเยอะ แม้จะมี Downside เล็กน้อย เนื่องจากรัฐออกมาตรการ Easy e-Receipt ทำให้คนอาจรอใช้จ่ายช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ก็ตาม
นอกจากนี้ หากพิจารณาตัวเลขส่วนประกอบ ​(Components) อื่นๆ ของ GDP จะเห็นเลยว่าการที่เศรษฐกิจจะโตราว 1% กว่าๆ นั้นแปลว่าแทบจะไม่มีการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐเลย
ดังนั้น ดร.จิติพล ยังคิดว่า GDP ทั้งปี 2566 น่าจะยังอยู่ที่ราว 2-2.5% ซึ่งมีความเป็นไปได้
สำหรับสินค้าคงคลัง (​Inventory) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ฉุดให้ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 โตต่ำ ดร.จิติพล มองว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 สินค้าคงคลังก็ยากที่จะปรับตัวดีขึ้นได้ เนื่องจากช่วงปลายปีไม่ใช่ช่วงที่บริษัทจะตุน (Build) สินค้าคงคลังให้กลับขึ้นมา
“ในประเทศไทยสินค้าคงคลังส่วนใหญ่คือกลุ่มเกษตร ซึ่งไม่ค่อยมีการเก็บเกี่ยวในไตรมาส 4 อยู่แล้ว และกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงรถยนต์ ในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นช่วงขายของเก่าอยู่ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค EV”
ขณะที่ ดร.สมประวิณ มองว่าสาเหตุที่กระทรวงการคลังออกประมาณการ GDP ปี 2566 ที่ขยายตัวเพียง 1.8% แตกต่างจาก EIC เนื่องจากอาจเป็นไปได้ว่ากระทรวงการคลังมีข้อมูลที่มากกว่าและรวดเร็วกว่า เช่น ข้อมูลทางภาษีที่สามารถสะท้อนข้อมูลทางเศรษฐกิจได้
ส่องปัจจัยหนุนแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย หลัง GDP ไทยมีแนวโน้มโตต่ำผิดคาด
ปัจจุบันผู้มีส่วนร่วมในตลาดส่วนใหญ่ยังคงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 หรือคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ไปทั้งปี พร้อมทั้งเห็นตรงกันว่าโอกาสที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยแทบไม่เหลือแล้ว แต่ยังมีโอกาสที่จะปรับลดอยู่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ
ปัจจัยแรก: เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาดมาก
โดย ดร.จิติพล มองว่าหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่อาจทำให้แบงก์ชาติต้องลดดอกเบี้ยคือเมื่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ออกมาต่ำกว่าคาดมากๆ
ทั้งนี้ย้อนกลับไปเมื่อวันอังคาร (23 มกราคม) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ Reuters ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 น่าจะมีการขยายตัวน้อยกว่า 3% นับเป็นระดับต่ำกว่าที่ประมาณการล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่ว่า GDP ไทยปี 2567 จะโตถึง 3.2% ขณะที่ GDP ปี 2566 ก็คาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการที่ 2.4% เช่นเดียวกัน เนื่องจาก GDP ไตรมาส 4/66 น่าจะใกล้เคียง (In line) กับไตรมาส 3 ซึ่งขยายตัวเพียง 1.5%
ด้าน ดร.สมประวิณ ยังมองว่าถ้าเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาดการณ์ ‘เล็กน้อย’ แต่ยังอยู่ในระดับศักยภาพ (Potential Growth) ก็อาจยังไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยในปี 2567 โดย EIC ยังคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ไว้ทั้งปี
“ถ้าเศรษฐกิจปี 2567 ยังอยู่ในระดับศักยภาพ (Potential Growth) ที่ 3% +/- รวมกับเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ธปท. ก็น่าจะยังไม่ลดดอกเบี้ย” ดร.สมประวิณ กล่าว
ปัจจัยที่สอง: ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น
ดร.สมประวิณ ระบุว่า อีกเงื่อนไขที่อาจทำให้แบงก์ชาติพิจารณาลดดอกเบี้ยคือประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (ไม่ว่าจะส่วนไหนของโลก เช่น ทะเลแดง จีน ไต้หวัน และอิสราเอล) ลุกลามมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยประเด็นเหล่านี้น่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งปีนี้ ก่อนจะมากสุดในต้นปีหน้า
“ถ้าถามว่าเศรษฐกิจไทยมี Upside หรือ Downside มากกว่ากัน เราตอบได้ชัดเจนว่า Downside มีมากกว่า เพราะฉะนั้นเราตอบได้ชัดเจนว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปคงมีแต่ขาลง แต่จะเมื่อไรก็เท่านั้นเอง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเศรษฐกิจโลก และภาวะช็อก (Shock) ที่คาดไม่ถึงจากความเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งหลาย เช่น สงคราม และจีน” ดร.สมประวิณ กล่าว
ปัจจัยที่สาม: ดิจิทัลวอลเล็ต
ดร.จิติพล มองว่าอีกหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่อาจทำให้แบงก์ชาติต้องลดดอกเบี้ยคือโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่คาดว่าจะมีขนาดโครงการสูงถึง 5 แสนล้านบาท “หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ไปต่อ ไม่มีเม็ดเงินส่วนนี้เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ก็มีโอกาสเห็นแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยได้”
ความน่าเชื่อถือในการจัดทำตัวเลข GDP ไทยถูกสั่นคลอน?
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยแพร่เอกสารการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปี 2567 ของกระทรวงการคลัง ที่ประทับตราลับ 1 วันก่อนวันแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ซึ่งระบุว่า GDP ของไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 1.8%
ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อการจัดทำตัวเลข GDP ของทางการไทยว่าขาดความโปร่งใส และมีความเกี่ยวโยงกับการเมืองหรือไม่
ดร.จิติพล มองว่าที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการรายงาน GDP ที่แตกต่างกันของ 3 หน่วยงาน (ได้แก่ สภาพัฒน์, ธปท. และคลัง) อาจมีปัญหามาจากการเก็บรวบรวมข้อมูล เนื่องจากเศรษฐกิจช่วงหลังโควิดและก่อนโควิดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การเก็บข้อมูลแบบเดิมๆ อาจไม่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน
“หน่วยงานที่เก็บข้อมูลอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลอะไรหรือไม่ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขนาดนักวิเคราะห์ยังสับสนว่าตอนนี้เศรษฐกิจมันแย่มากหรือดีมาก” ดร.จิติพล ระบุ
ขณะที่ ดร.สมประวิณ ระบุว่าการตั้งคำถามต่อการรายงานตัวเลข GDP อาจมาจากหลายปัจจัย ได้แก่
ตัวเลขที่ออกมาผิดไปจากที่คาดไว้ ซึ่งอาจมีผลมาจากหลายประการ
เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูงมาก ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนเร็ว ความรู้สึกของคนและการจัดทำตัวเลขจึงไม่ตรงกัน (Lag) คนอาจรับความรู้สึกช้ากว่าหรือเร็วกว่า
ผลมาจากการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน (Uneven Recovery) เนื่องจาก GDP เป็นค่าเฉลี่ยของกิจกรรมในประเทศ ทำให้ผู้คนแต่ละกลุ่มแต่ละอุตสาหกรรมอาจรู้สึกไม่เท่ากัน
ดร.สมประวิณ แนะว่าหน่วยงานต่างๆ สามารถแก้ปัญหาได้โดยทำให้กระบวนการจัดทำตัวเลขโปร่งใสขึ้น มีคำอธิบายมากขึ้น เพื่อทำให้ผู้คนมีความเข้าใจได้มากขึ้นว่าตัวเลขมีที่มาที่ไปอย่างไร และเป็นการจูน (Tune) กันระหว่างผู้ทำตัวเลขและผู้ใช้ตัวเลข
Source:Standard Wealth

Cr.Bank’s Scholarship Students

-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"