ยุทธศาสตร์ที่ทำให้ชาติล่มสลาย ได้ผลแน่นอน

ก่อนจะเริ่มเขียนบทความนี้ ผมได้ยินข่าวเกี่ยวกับคณะจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ในบางด้านได้เริ่มรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญกันบ้างแล้ว แต่เรื่องที่ผมจะนำมาเล่าต่อไปนี้ไม่เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวแต่ประการใด

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในเวลานี้ก็เพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่าการมียุทธศาสตร์ชาติเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น แต่ต้องมีกระบวนจัดทำที่ถูกต้อง เพื่อให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ ในเวลาอันสั้น ผมจึงขอนำเรื่องที่ตรงกันข้ามกับการทำให้ชาติเจริญมาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือ ยุทธศาสตร์ที่ทำให้ชาติล่มสลายรับประกันได้ผลแน่นอน แต่อาจจะช้าหน่อยนะ

เนื่องจากผมเองอยู่ในวงการศึกษาและมีความสนใจเรื่องพลังงานเป็นพิเศษ ดังนั้น เรื่องที่จะนำมาเล่าและวิเคราะห์ให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คงไม่ไกลไปจากนี้แหละ

ต้นเรื่องนี้มาจากเรื่องเล่าในกลุ่ม Line ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ผู้นำมาเล่าคืออาจารย์พิภพ ธงไชย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ทุ่มเทกับการศึกษาและมูลนิธิเด็กมายาวนาน อาจารย์พิภพ ได้เขียนเล่าว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศแอฟริกาใต้ท่านหนึ่ง ได้เขียนเตือนใจลูกศิษย์ของตนว่า

“การทำให้ชาติใดชาติหนึ่งล่มจมไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดปรมาณู หรือขีปนาวุธพิสัยไกลหรอกเพียงแค่ลดคุณภาพการศึกษา และปล่อยให้มีการโกงของนักเรียนนักศึกษาในการสอบก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ชาตินั้นล่มสลาย เพราะผลผลิตทางการศึกษาเช่นนี้จะก่อให้เกิด (1) คนไข้ตายที่ไม่ควรตาย ก็มาตายในมือหมอ (2) ตึกถล่มจากผลงานวิศวกร (3) เงินสูญหายด้วยฝีมือนักบัญชี (4) มนุษยธรรมมลายไปในมือนักวิชาการทางศาสนา (5) ความยุติธรรมวอดวายไปในมือผู้พิพากษา (6) ยุวอาชญากรเด็กในมือครูที่ไม่มีจิตวิญญาณ (7) ผู้บริหารที่ไร้คุณธรรม จริยธรรมเต็มบ้านเมืองนั่นคือความล้มเหลวของการศึกษา คือการล่มสลายของชาติ”

ผมอยากจะเน้นว่า “ปล่อยให้มีการโกงของนักเรียน นักศึกษาในการสอบก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ชาตินั้นล่มสลาย” ซึ่งก็คือการบ่มเพาะให้นักเรียนและนักศึกษาได้ทุจริตนั่นเอง

แต่นอกเหนือจากการฝึกให้รู้สึกชินชากับการทุจริตดังกล่าวแล้ว ผมเชื่อว่ายังมีปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่นำไปสู่การลดลงของคุณภาพทางการศึกษาก็คือ การไม่สอนให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างบูรณาการรู้จักการวิเคราะห์บนข้อมูลที่พร้อมและทันสมัย แต่มักจะเน้นการท่องจำเป็นส่วนใหญ่

ผมเองอยู่ในวงการการศึกษามานานร่วม 50 ปี ทั้งในฐานะผู้เรียนและอาจารย์คณิตศาสตร์ (แต่ไม่ใช่ผู้บริหารการศึกษา) ผมเชื่อว่าพลังของการคิด (Power of Thinking) ของนักเรียนไทยได้ลดต่ำลงก็เพราะกระทรวงศึกษาธิการได้ยกเลิกวิชาเรขาคณิตของยูคลิด ซึ่งเป็นวิชาที่ช่วยจัดระเบียบและขั้นตอนทางการคิดพร้อมเหตุผลประกอบได้อย่างดีเลิศ แต่ได้หันไปเรียนวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์แทน ซึ่งผมเห็นว่าการลำดับเหตุผลสู้อย่างเดิมไม่ได้

ในตอนแรก ผมเข้าใจว่ามีการเปลี่ยนกันทั้งโลก แต่หลังจากที่มีอินเทอร์เน็ตใช้ก็ทราบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของโลกยังคงสอนเรขาคณิตแบบดั้งเดิม

คุณภาพการศึกษาไทยได้ตกต่ำลงแค่ไหน จากการทดสอบโดยโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (หรือ PISA) ประจำปี 2015จาก 70 ประเทศ ใน 3 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และการอ่าน พบว่า ประเทศสิงคโปร์ได้อันดับสูงสุดทั้ง 3 วิชา ในขณะที่เวียดนามได้อันดับที่ 8 , 22 และ 32 (ตามลำดับ) แต่ประเทศไทยเราได้อันดับที่ 54, 54 และ 57 (ตามลำดับ) ซึ่งเป็นคะแนนที่ถือว่าสอบตกทุกวิชา

จากผลการสอบคะแนนโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6 ประจำปี 2559 (ซึ่งเราจัดสอบกันเอง) พบว่าคะแนนเฉลี่ยทั่วประเทศต่ำกว่า 50% เกือบทุกวิชา และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 ใน 5 วิชา พบว่าปี 2559 มีคะแนนต่ำกว่าปี 2550 ทั้ง 5 วิชาเช่น คณิตศาสตร์ เคยได้ 32.5% ลงมาเหลือ 24.9% วิทยาศาสตร์ เคยได้ 34.6% ลงมาเหลือ 31.6% เป็นต้น

ที่กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องการสอนและการวัดผล แต่คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อ 10 กว่าปีก่อนว่า “ข้อด้อยของคนไทยมี 3 อย่าง คือ (1) ค้นหาความจริงน้อยไป (2) เคารพความคิดเห็นของคนอื่นน้อยไป และ (3) นับถือปริญญามากกว่าความรู้”

ล่าสุดเพื่อนในเฟซบุ๊กของผม (คุณตรีพิพัฒน์ บัวเนียว) ได้ตั้งข้อสังเกตหลังจากนำลูกชายที่เกิดในประเทศนิวซีแลนด์ไปเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง (ในไทย) ว่า หลังจากทำความคุ้นเคยกันอยู่พักหนึ่ง เด็กๆ ที่เข้ามาเล่นกับเขาชอบใช้นิ้วทำเป็นปืนมายิงหัวเขา แล้ววันถัดมาก็นำปืนพลาสติกมาโรงเรียน คุณตรีพิพัฒน์บอกว่า ภาพเหล่านี้จะไม่เห็นในนิวซีแลนด์ เพราะมันคือการบ่มเพาะความรุนแรงให้กับเด็ก

เมื่อนำข้อสังเกตของทั้งสองคนมาวิเคราะห์ พบว่า คนไทยชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงแทนที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยความเคารพต่อกัน

ผมยังเหลือเรื่องพลังงานที่จะนำมาเล่าตามสัญญาครับ แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นขอพูดถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรัฐบาล คสช.ได้ออกเป็น “พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560” (ประกาศใช้ ก.ค. 60) เพราะจะได้เห็นกันชัดๆ ว่า หลักการที่ได้กำหนดใน พ.ร.บ.กับการปฏิบัติจริงนั้นเป็นอย่างไรกันแน่

จากมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติ ความต้องการและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล และเป้าหมายการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยให้ดำเนินการตามกระบวนการ ดังต่อไปนี้

(1) มีการใช้ข้อมูลความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ

(2) วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างรอบด้าน ทั้งในประเทศและต่างประเทศวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและข้อจำกัด รวมทั้งความเสี่ยงของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

(3) การให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติรวมทั้งการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน

แต่ในความเป็นจริงในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกะวัตต์ บริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับจ้างจัดทำ “รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม” หรือ รายงาน EHIA ได้อ้างอิงข้อมูลซึ่งจัดทำในปี 1999 หรือ 19 ปีก่อน เพื่อที่จะบอกว่า ต้นทุนในการก่อสร้างกังหันลม และโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้านั้นมีราคาแพงเกินไป ในขณะที่ต้นทุนที่ผลิตจากถ่านหินมีราคาถูกกว่า

ผมได้ตัดรายงานบางส่วนมาให้ดูตามภาพข้างล่างนี้ครับ

ในขณะที่ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 7) ได้วางกรอบการดำเนินการไว้ 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ “มีการใช้ข้อมูลความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ”

คำถามคือ การนำเอาข้อมูลเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนมาใช้กับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกังหันลม และโซลาร์เซลล์ที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและต้นทุนที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั้น เป็นการวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้วหรือ?

จริงอยู่ว่า รายงานนี้จัดทำก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับบนี้จะมีผลบังคับใช้ แต่ในขณะที่กรรมการชำนาญการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งให้อ่านและตรวจสอบความถูกต้องนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ท่านผู้ชำนาญการเหล่านั้นไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ

นอกจากนี้ ยังพบว่าต้นฉบับเดิมของเอกสารอ้างอิงปี 1999 ได้เขียนหน่วยผิดพลาด รายงาน EHIA ฉบับนี้ก็ลอกมาโดยไม่ได้แก้ไขแต่อย่างใด

นี่คือการลอกข้อสอบ ที่ผู้ลอกไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด

รายงาน EHIA ที่จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา ได้ระบุว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์จะอยู่ระหว่าง 12.50-32.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งสูงกว่าที่รายงานเรื่อง Rethinking Energy 2017 ซึ่งศึกษาโดยองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ชื่อ IRENA ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกด้วยหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ เหตุผลในการไม่เลือกใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่รายงาน EHIA ฉบับนี้นำมาอ้าง เช่น ไม่สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องนั้น เป็นเหตุผลที่ล้าสมัยไปหมดแล้ว เพราะในปัจจุบันนี้สามารถเก็บไฟฟ้าลงแบตเตอรี่ (ซึ่งมีราคาถูก) เอาไว้ใช้ในช่วงที่แดดไม่มี ลมไม่มาได้แล้ว

นี่แสดงว่าผู้จัดทำรายงานไม่ได้ “วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างรอบด้าน” ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้เลย

ยังมีอีก 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่รายงาน EHIA ฉบับนี้ไม่ได้ศึกษา คือ

หนึ่ง ไม่ได้ศึกษาผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อข้อตกลงปารีสที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ร่วมลงนามว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20-25% (เมื่อเทียบกับระดับปี 2030 ที่ไม่มีนโยบาย)

เรื่องนี้เป็นศักดิ์ศรีของประเทศ ตามที่ได้มีการเตือนไว้ในประเทศแอฟริกาใต้ เพราะ “ผู้บริหารที่ไร้คุณธรรมจริยธรรม” จะทำให้ประเทศล่มสลายได้

สอง ขณะนี้ประเทศไทยเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป (สำรองเกินกว่าสองเท่าของระดับมาตรฐานสากลที่ 15%) แต่ไม่มีการศึกษาว่า หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จำนวนรวมกัน 3,000 เมกะวัตต์แล้ว จะส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกเท่าใดเพราะสัญญาที่ทำกับเอกชนจะมีลักษณะ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ซึ่งอยู่ในรูปของ “ค่าความพร้อมจ่าย”

ผมเองได้ลองค้นข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบว่าในช่วงเดือนตุลาคม 50 ถึง มกราคม 51 (4 เดือน) คนไทยต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายจำนวน 15,596 ล้านบาท หรือ 0.56 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า แต่ในปี 2560 (ทั้งปี) ได้เพิ่มเป็น 92,411 ล้านบาทหรือ 0.73 บาทต่อหน่วย

หรือเพิ่มขึ้นถึง 17 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีก 3 พันเมกะวัตต์เข้ามา ค่าความพร้อมจ่ายต่อหน่วยไฟฟ้าก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมีโรงไฟฟ้ามากเกินไป แต่ละโรงก็ต้องลดการผลิตลง ค่าความพร้อมจ่ายต่อหน่วยจึงต้องเพิ่มขึ้น

กระทรวงพลังงานมักอ้างว่า การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 4-5% แต่ข้อมูลจริงในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 ที่ผ่านมา การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเพียง 1.3% เท่านั้น (ข้อมูลจาก www.eppo.go.th)

รายงาน EHIA ฉบับนี้ได้พูดถึงต้นทุนภายนอก (External Cost-ในตารางขวามือสุดของรูปแรก-แต่เขียนหน่วยผิด) ซึ่งต้นทุนดังกล่าวสังคมต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่รายงานนี้ก็ไม่ได้มีการสรุปออกมาว่าทั้งหมดมีมูลค่าเท่าใดกันแน่

ตรงกันข้ามกับรายงานที่ IRENA และกระทรวงพลังงานของไทยได้ศึกษาแล้วสรุปว่า

“ถ้าประเทศไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 23% เป็น 37% จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าสิ่งแวดล้อม รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะลดลงประมาณ $8,000 ล้านต่อปี หรือ 2.7 แสนล้านบาทต่อปี”

นี่คือความแตกต่างระหว่างการศึกษาของ IRENA ซึ่งกระทรวงพลังงานของไทยร่วมศึกษาด้วยกับรายงานของ EHIA ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเร็วๆ นี้

ขอท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณว่า การศึกษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ทำให้ชาติล่มสลายโดยไม่ต้องใช้อาวุธหรือไม่ แต่ผมเองเชื่อว่าใช่แน่นอนเพียงแต่ว่ามันจะค่อยเป็นค่อยไปนะครับ

โดย: คุณประสาท มีแต้ม

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"