คอลัมน์ กาแฟดำ: นโยบายแจกเงิน 1 หมื่น:ยิงนัดเดียวได้นก 2 ตัวจริงหรือ?

ผมตั้งวงสนทนาหลายกลุ่มในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อพยายามแสวงหาความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับนโยบายที่ "รัฐบาลเศรษฐา" ประกาศว่าจะคุยกันตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีวันแรกเลย
แน่นอนว่านโยบาย "เรือธง" ที่ว่านี้คือ การแจกเงิน 10,000 บาทผ่าน

Digital Wallet หรือ "กระเป๋าเงินดิจิทัล" ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปี
หนึ่งในผู้รู้ที่ร่วมวงเสวนาคือ ดร.สันติธาร เสถียรไทย อดีตกรรมการผู้จัดการ Sea Group และวันนี้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ Global Counsel
คุณสันติธารช่วยสรุปความเห็นของหลายฝ่ายมาเล่าให้ฟัง ว่ามีประเด็นอะไรที่ควรจะได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป ขณะที่รอคำประกาศใช้นโยบายนี้อย่างเป็นทางการ
คุณสันติธารเริ่มด้วยการนำเสนอ "2 แกน 3 ทางเลือกของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท"
และเล่าต่อว่าอย่างนี้...ในช่วงที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสถกกับนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน และคนฝั่งเทคโนโลยีในเรื่องนโยบายดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาลใหม่มาพอสมควร
โดยสรุปผมมองว่านโยบายนี้มี 2 แกนสำคัญที่ผูกติดอยู่ด้วยกัน เป็นการพยายามยิงนัดเดียวให้ได้นก 2 ตัว
แกนที่ 1 "กระตุ้น" เศรษฐกิจ เป็นโจทย์เร่งด่วน ที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะให้ความสนใจ โดยมี 3 คำถามที่ต้องคิด
1.1 รูปแบบไหน - แจกทุกคน หรือมีข้อแม้อะไรบ้างไอเดียหนึ่งคือ แทนที่จะแจกทุกคน แจกเฉพาะคนที่รายได้น้อยและจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ได้ไหม เพราะกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสใช้เงินที่ได้มามากที่สุด แน่นอนการคัดกรองคนที่รายได้น้อยอาจทำได้ยาก เพราะแรงงานกว่าครึ่งอยู่นอกระบบ แต่วิธีหนึ่งที่อาจใช้ได้ตามที่ TDRI เคยเสนอคือ คัดกรอง "คนรวย" ออกเพราะข้อมูลตรงนั้นอาจหาได้ง่ายกว่า แม้จะรั่วไปบ้างอย่างน้อยก็ไม่ใช่คนรวยทุกคนจะได้
1.2 เท่าไร - ใช้เงินเท่าไรถึงจะเหมาะสมตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ และการส่งออกคงซึมอีกนาน การจะกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่คำถามคือปริมาณเงินที่ใช้จำเป็นต้องมากขนาด 5 แสนกว่าล้านบาท (~3% ของ GDP) หรือไม่ ทางเลือกหนึ่งคือใช้เงินน้อยกว่านั้น และเก็บ "ยาแก้ปวด" ทางการคลังไว้เผื่ออนาคตเศรษฐกิจโลกล้มป่วยอีกเราจะยังได้มียาไว้ทาน แน่นอนว่าหากไม่ได้แจกทุกคนก็อาจใช้งบน้อยลงด้วย แม้ทุกคนจะได้ 10,000 เหมือนเดิม
1.3 เอาเงินจากที่ไหน - จะกระทบฐานะการคลังมากมั้ยความกังวลเรื่องแหล่งเงินจะมาจากไหนนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก (มากกว่างบลงทุนในปีงบประมาณล่าสุดทั้งปี) และความกังวลว่าหากมันไม่ได้เพิ่มรายได้/GDP ไปถึง 5-7% ตามที่คาด และไม่ได้เพิ่มรายได้ภาษีเป็นแสนล้านจะทำอย่างไร (เช่น หากตัวคูณหรือ Multiplier ของการกระตุ้นการคลังครั้งนี้มันไม่สูงอย่างที่คิด - ขอไม่เจาะเรื่องนี้ตรงนี้)
ทางหนึ่งก็คือ ลดไซส์ของนโยบายนี้ลงมาหน่อยอย่างที่กล่าวข้างบน และอาจต้องทำ Scenario เผื่อไว้ว่าถ้ารายได้ภาษีไม่เพิ่มเท่าที่คิด จะหาแหล่งเงินมาเสริมจากตรงไหน
แกนที่ 2 "ทรานสฟอร์ม" - การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลใหม่ เป็นโจทย์ระยะยาว ที่หากทำดีๆ จะช่วยพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจและการทำนโยบายในอนาคตได้
บางคนในภาคเทคโนโลยีชี้ให้เห็นว่า นโยบายนี้อาจไม่ได้มองแค่กระตุ้นระยะสั้น แต่เป้าหมายจริงๆ คือการวาง
โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลใหม่ เช่น ระบบชำระเงินของประเทศแบบใหม่บน Blockchain ที่แตกต่างจากพร้อมเพย์เป๋าตังที่คุ้นเคยกัน
ถ้ามองจากมุมนี้การแจกเงินอาจไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่เป็นการให้แรงจูงใจดึงดูดให้คนเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐาน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ของประเทศ
2.1 ทำไมต้อง Blockchain
แต่ความจริงระบบการชำระเงินของพร้อมเพย์และวอลเล็ตเป๋าตังก็ดีมากอยู่แล้ว ทำไมยังต้องทำใหม่เป็น Blockchain? จากที่คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้การใช้ Blockchain มีข้อดีหลักๆ 3 ข้อ คือ Transparency (โปร่งใส) Security (ปลอดภัย) และ Program mability (โปรแกรมได้)
แต่ในกรณีของนโยบาย 10,000 บาท หลายคนมองว่าน่าจะต้องทำออกมาเป็นรูปแบบที่ไม่ได้ประโยชน์เรื่องความโปร่งใสและความปลอดภัยพิเศษของ Blockchain (ศัพท์เทคนิคคือ เป็น Private/Permissioned และ Centralised Blockchain)
ข้อดีจึงเหลือเรื่องการเป็น Programmability = เงิน/คูปองที่โปรแกรมให้มีฟีเจอร์ต่างๆ ได้ เช่น ต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน, ต้องใช้ในบางบริเวณเท่านั้น และหากคิดเล่นๆ ต่อไปในวันหน้าอาจเติมฟีเจอร์เข้าไปอีก เช่น หากใช้สำหรับการศึกษาอาจได้รับสิทธิพิเศษเพิ่ม เป็นต้น
แต่จากที่คุยกับคนฝั่งเทคโนโลยีบางคนก็บอกว่า การจะโปรแกรมฟีเจอร์ทั้งหลายที่ว่ามานี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ Blockchain เลยก็ได้ (คล้ายกับที่คูปองส่วนลดที่เราใช้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ก็มีเงื่อนไขและฟีเจอร์โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีนี้)
สรุปคือ ยังไม่ชัดว่าทำไมต้องใช้บล็อกเชนในกรณีนี้ (ย้ำว่าอาจมีเหตุผลแต่ผมยังไม่รู้)
2.2 ความสัมพันธ์กับ CBDC คือยังไง
ที่สำคัญคือ ในขณะที่เรากำลังให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็กำลังทดลองพัฒนาเงินบาทดิจิทัลของ ธปท.เอง Central Bank Digital Currency - CBDC) ที่น่าจะมีฟีเจอร์คล้ายๆ กัน โดยล่าสุดก็เริ่มมีการจับมือกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งให้คนใช้ใน Use Case ทั่วไปบ้างแล้วในวงจำกัด เลยไม่แน่ใจว่าเงิน/คูปองดิจิทัลนี้จะมีความสัมพันธ์กับ CBDC ยังไง หรือจะใช้ CBDC ไปเลยได้ไหม?
นอกจากจะต้องตีโจทย์เหล่านี้ให้แตกแล้ว รัฐบาลอาจต้องคิดให้ดีว่าจะเรียงให้ความสำคัญกับโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือโจทย์สร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่มากกว่ากัน เพราะการยิงปืนนัดเดียวให้ได้นกสองตัว แม้เป็นไอเดียที่ดีก็มีความเสี่ยงที่จะพลาดนกทั้งสองตัว
โดยส่วนตัวมองว่ามี 3 ทางเลือกกว้างๆทางที่ 1 เน้นกระตุ้นให้ความสำคัญกับโจทย์กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งแปลว่าใช้อะไรก็ได้ที่รัฐบาลและคนไทยคุ้นอยู่แล้ว เร็ว มีระบบรองรับ เช่น แจกเงินผ่านระบบเป๋าตัง หรือพร้อมเพย์เช่นเดิม
ทางที่ 2 เน้นทรานสฟอร์มให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน/แพลตฟอร์มใหม่ของประเทศเป็นหลัก การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง
ในกรณีนี้อาจไม่ต้องใช้เงินมากเท่านี้ เพราะเงินเป็นเพียงแรงจูงใจให้คนใช้แพลตฟอร์มใหม่เท่านั้น และไม่ต้องเร่งรีบ อาจค่อยๆ ทดลองระบบใหม่ในสเกลจำกัดก่อน เพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาและความท้าทายในการลงมือทำจริง รวมทั้งการสื่อสารให้คนเข้าใจ (เพราะคนยังไม่คุ้น)
ทางที่ 3 "ลูกผสม" ทำทั้งกระตุ้นและทรานสฟอร์มแต่อาจถอยกันคนละก้าวซึ่งทำได้หลายรูปแบบมาก เช่น คิดเร็วๆ อาจแบ่งเงิน 10,000 บาทเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแจกเงินผ่านระบบที่คนคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นหลัก เป็นเงินธรรมดาไม่ใช่บล็อกเชน เน้นความเร็ว เรียบง่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และก้อนหลังค่อยเป็นคูปองดิจิทัลที่ว่าซึ่งอาจไม่ต้องเยอะเพื่อดึงคนมาใช้ระบบใหม่
โดยการแจกจ่ายคูปองดิจิทัลนี้รัฐอาจไม่ต้องทำเองหมด หรือทำผ่านแอปวอลเล็ตตัวเดียว แต่ให้ธนาคารและสถาบันการเงินที่ทำวอลเล็ตที่คนใช้เยอะๆ อยู่แล้วมาทำระบบรองรับคูปองดิจิทัลที่ว่านี้ และช่วยกระจายมันให้ถึงมือประชาชนกลุ่มต่างๆ
ข้อดีคือ คนที่มี e-Wallet/ Mobile Banking พวกนี้อยู่แล้ว เคยทำ KYC ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วก็ไม่ต้องมาลงแอปพลิเคชันใหม่ แถมแอปพวกนี้ก็จะแข่งขันกันสร้าง Use Case ใหม่ๆ ให้คูปองดิจิทัลนี้ได้ด้วย
พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อว่าด้วยแง่มุมอื่นๆ ของนโยบายที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางครับ.
Source - ไทยโพสต์

Cr.Bank’s Scholarship Students

-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"