เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (3) ธปท. คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับบริการที่เป็นธรรม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาตั้งแต่ก่อนเกิดปัญหาโรคระบาดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ไขปัญหามาเป็นระยะ พร้อมทั้งตั้งฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงินขึ้นมารองรับ

เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ให้บริการลูกค้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในการให้ผู้ใช้บริการทางการเงินทุกคนได้รับบริการที่เป็นธรรมได้ มีบทบาท 2-3 อย่างที่เกี่ยวข้องกันอยู่ และต้องทำให้สำเร็จไปพร้อมกัน
เรื่องแรก คือการกำกับดูแล โดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่ผู้ให้บริการจะต้องทำสัญญา และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ กับผู้ใช้บริการ ว่าต้องอยู่ในระดับไหนถึงจะเรียกว่าเป็นธรรม ซึ่งคำหลักที่ใช้เวลานี้ คือ 4 ไม่ ต้องไม่ยอม ไม่บังคับ ไม่รบกวน และไม่เอาเปรียบ
เมื่อกำหนดหลักเกณฑ์เสร็จก็ต้องวิเคราะห์ติดตามว่า มีใครที่ยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่บ้าง โดยดูจากเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา แล้วเข้าไปวิเคราะห์ตรวจสอบ ถ้ากรณีใดที่เมื่อดูหลักฐานแล้วผู้ให้บริการอาจจะยังเข้าใจผิด หรือยังทำผิดอยู่ ก็จะมีการดำเนินการตามอำนาจของ ธปท. ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการให้มีการแก้ไข หรือถึงที่สุดก็ให้มีการเปรียบเทียบปรับ และให้เปิดเผยในเว็บไซต์ ช่วงที่ผ่านมาก็มีการเปรียบเทียบปรับและเปิดเผยในเว็บไซต์เป็นระยะๆ
เรื่องที่สอง คือ ในมุมผู้ใช้บริการอาจมีปัญหา และควรเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการในการแก้ไขปัญหา ถ้าผู้ให้บริการแก้ไขแล้วไม่ได้มาตรฐาน ก็มีช่องทางให้ผู้ใช้บริการร้องเรียนได้ผ่านหมายเลข 1213 เพื่อโทรมาปรึกษาเรื่องภัยทางการเงิน หรือสัญญาเป็นธรรมหรือเปล่า หรือเขามีสิทธิ์บังคับเราหรือไม่ ถ้ากรณีไหนมีปัญหาก็ยื่นเรื่องร้องเรียนได้ และอีกด้านที่นำมารวมคือ นอกจากคุ้มครองแล้ว ก็ต้องส่งเสริมความรู้ด้วยสำหรับผู้ใช้บริการ จะได้เป็นเหมือนวัคซีนป้องกันตัวเองจากความผิดพลาดต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเรา
นอกจากการดูแลผู้ใช้บริการ หรือดูแลลูกหนี้แล้ว…
ในภาพรวมยังดูแลเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ ด้วยการดูแลให้มีการปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสม เป็นธรรม ไม่หลอก ไม่บังคับ ไม่รบกวน และไม่เอาเปรียบ
ที่ผ่านมา ธปท.และรัฐบาลมีการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาตลอด โดยเริ่มเห็นตัวเลขหนี้ที่น่ากังวลตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยหนึ่งในโครงการที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มากๆ คือ คลินิกแก้หนี้ ที่เอาหนี้เสียจากบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล มาซ่อมใหม่ หรือทำตารางการชำระเงินใหม่ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถจ่ายไหว คนที่มีประวัติไม่ดีก็สามารถกลับมามีประวัติดีได้ เพราะทำให้เขาสามารถเข้าถึงสินเชื่อในอนาคตได้ง่ายขึ้น โครงการนี้เกิดก่อนโควิด และเป็นโครงการที่สำคัญ หลังจากโควิด ก็ยังเป็นโครงการสำคัญต่อไป ทีนี้ ช่วงเกิดโควิดปี 2563-2564 ทำให้รายได้เกิดช็อกอย่างรุนแรง รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ทุกคนลำบาก หนี้ก็เยอะ รายได้ก็ไม่มี ไม่รู้จะทำอย่างไร ช่วงนั้นงานที่ต้องแก้อย่างแรกและเร่งด่วน คือการแก้หนี้เดิม เพื่อให้สภาพคล่องในแต่ละวันของเขามีอยู่มีกินได้ แล้วก็เติมสภาพคล่องเพิ่ม ให้คำปรึกษา เป็นสิ่งที่ทำในช่วงโควิด
“ถามว่าพอใจหรือไม่ ธปท. พอใจกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในวันนั้น แต่ถามว่าปัญหาหนี้หมดไปหรือไม่ ยังไม่หมด สาเหตุที่ลูกหนี้มีปัญหาหนี้ไม่หมด ถ้าเปรียบกับโรคโควิด เวลาที่ป่วยมากๆ ต้องเข้าไอซียู ก็ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ เพิ่มออกซิเจนไปก่อนอย่างน้อยไม่ตาย แล้วกลับมาซ่อมเสริมร่างกายกันใหม่ ตอนนี้โควิดจบไปแล้ว เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามา เหมือนกับเราออกมาจากไอซียูแล้ว แต่ว่าร่างกายยังไม่แข็งแรง สภาพร่างกายของประเทศยังไม่แข็งแรงพอที่จะไปวิ่งออกกำลังกายรอบสวนลุมพินีใหม่อีกรอบหนึ่ง คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องหนี้สินทำให้ประเทศไม่สามารถฟื้นตัว โตได้อย่างเต็มศักยภาพของเรา จึงต้องมาหาทางแก้ไขกัน”
อรมนต์กล่าวว่า วิธีการแก้ไขหนี้ คือต้องแก้จุดที่เปราะบางที่สุด ไม่แข็งแรงที่สุด กระเสาะกระแสะที่สุดก่อน ซึ่งมี 4 จุดด้วยกัน คือ
1. หนี้ที่เสียไปแล้ว เหมือนคนที่ยังป่วยอยู่ ร่างกายไม่แข็งแรง ก็ต้องเข้าไปแก้ไขก่อน และทำอย่างไรให้กลับมาเป็นหนี้ดีได้
2. หนี้ปกติ แต่จ่ายขั้นต่ำมาตลอด และเริ่มจะไม่ไหวแล้ว กลุ่มนี้ก็ต้องชมว่าพยายามเป็นคนดีมาตลอด ยังเป็นหนี้ปกติ จ่ายได้ตามเวลา แต่เขามองไม่ออกว่าจะปิดจบหนี้ได้อย่างไร เราเรียกหนี้กลุ่มนี้ว่าเป็นหนี้เรื้อรัง
3. หนี้ใหม่ที่เริ่มเห็นแล้วว่ามีการก่อหนี้ใหม่ที่อาจจะไม่ค่อยมีคุณภาพ เป็นการก่อหนี้ใหม่ที่เกินตัว ฟุ่มเฟือยเกินตัว หรือว่าเกินความสามารถในการชำระคืน ถ้าปล่อยให้มีหนี้ใหม่แบบนี้เกิดเยอะขึ้น ก็จะวนกลับมาเป็นปัญหาหนี้กลุ่มแรก คือเป็นหนี้เสีย หรือกลุ่มสอง หนี้เรื้อรัง และ
4. กลุ่มสุดท้าย คือหนี้ที่อยู่นอกสายตา พวกหนี้นอกระบบ โดยช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่ารายได้ที่ตกไปมาก จะมีคนไปพึ่งหนี้นอกระบบค่อนข้างเยอะ ทำอย่างไรที่จะดึงกลุ่มนี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบได้ในเวลาที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น ก็พาเขากลับเข้ามา
ทั้งนี้ ธปท. เห็นว่า ขณะนี้กลุ่มที่ต้องแก้ก่อน คือ กลุ่มที่ป่วยหนัก โดยทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด คือ กลุ่มหนี้เสียที่พยายามทำให้เป็นหนี้ดี หลักสำคัญ คือการปรับโครงสร้างหนี้ ปกติมีเงินเดือน 1 หมื่นบาท จ่ายหนี้เดือนละ 5 พันบาท ก็อาจจะไม่ไหว หรือถ้ามีเงินเดือน 2 หมี่นบาท จ่ายหนี้เดือนละ 5 พันบาท พอใช้ได้ แต่พอเจอโควิด เงินเดือนลดเหลือ 8 พันบาท จ่ายเดือนละ 5 พัน นี่แทบไม่มีอะไรเหลือจะกินแล้ว ก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระการจ่ายหนี้แต่ละเดือนพอที่ยังมีเงินไปกินข้าว มีเงินไปเลี้ยงลูกได้ คือ จากที่เคยจ่ายหนี้เดือนละ 5 พันบาท ก็อาจจะต้องลดลงมาเหลือ 1 พันบาท หรือในจำนวนที่สอดคล้องกับความสามารถ นี่คือหลักที่ยึด
แต่ตัวเลขหนี้เสียที่เห็นหลังจากโควิด แสดงว่ายังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่อีก ประมาณ 4.5 ล้านบัญชีที่เพิ่งมาเป็นหนี้เสียตอนเกิดโควิด กลุ่มนี้ 70% อยู่ในสถาบันการเงินของรัฐ อีก 20% อยู่ที่ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ อีก 10% อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ หนี้เสียที่อยู่กับสถาบันการเงินของรัฐส่วนใหญ่เป็นเงินช่วยเหลือช่วงโควิด ซึ่งหลายคนที่ได้รับไปอาจจะเข้าใจว่าเป็นเงินให้เปล่า ไม่ต้องคืนก็ได้ เพราะบังเอิญช่วงนั้นมีเงินให้เปล่าพอดี ทำให้เกิดความเข้าใจผิด กระทรวงการคลังและธนาคารของรัฐจึงชักชวนให้คนที่อาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินเชื่อก้อนนี้กลับมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาจ่ายคืนกันเท่าที่ไหว ทำตารางจ่ายกันใหม่ หนี้เสียกลุ่มนี้ก็จะกลับมาเป็นหนี้ดีได้ เป็นหนี้เสียซ่อมได้
“ส่วนหนี้เสียที่ไม่ได้เกิดในช่วงโควิด ก็ยังรับมือได้ มันมี 2 แบบ คือ ระบบสถาบันการเงินของไทยเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับหนี้เสียนี้ได้ วิกฤติที่เกิดรอบนี้ไม่เหมือนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง คือก่อนเกิดวิกฤติธนาคารมีการกันสำรองค่อนข้างเยอะ และปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ฉะนั้น แม้จะมีหนี้เสียเกิดขึ้นจากช่วงโควิด ทุกคนก็ยังเข้มแข็ง และยังมีความสามารถ มีกำลังในการปล่อยหนี้ใหม่ แล้วยังมีกำลังพอที่จะช่วยเหลือหนี้เดิมได้ด้วย ซึ่งดีกว่าภาวะที่เจ้าหนี้ไม่มีกำลังจะช่วย แย่เลย”
อรมนต์กล่าวถึงในด้านลูกหนี้ด้วยว่า ลูกหนี้ก็ต้องรู้ด้วยว่า วิธีแก้หนี้ที่ดีที่สุดคืออะไร ซึ่งไม่ง่ายเลย ที่ผ่านมา ธปท. พยายามสื่อสารหลายช่องทาง แต่บางครั้งยากมาก หลายกรณีที่ลูกหนี้อยากจะแก้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร กลุ่มนี้ก็หวังว่าการสื่อสารต่างๆ ทั้งของสื่อมวลชน ทั้งของ ธปท. และเจ้าหนี้ จะทำให้เขาพอเข้าใจว่า ถ้ามีปัญหาให้มาติดต่อเจ้าหนี้นะ หรือถ้านึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ให้มาติดต่อแบงก์ชาติ แต่ก็มีบางกลุ่มที่มีความเชื่อว่า เขามีหนี้ที่ยังไม่ต้องคืนก็ได้ ไม่คืนไม่เป็นไรหรอก กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กระตุกมาค่อนข้างยาก เป็นเรื่องของการพัฒนา เป็นเรื่องของความเข้าใจทางการเงินที่ดี คือถ้าเขารีบมาจัดตารางใหม่แล้วจ่ายคืนเท่าที่ไหว จะดีกับเขามากๆ นี่คือสิ่งที่ ธปท. อยากจะสื่อ สื่อให้ถึงหลายๆ กลุ่ม แทนที่จะรอฟ้องก็ได้ หรือบางคนคิดว่า หนี้ก้อนเล็ก เขาคงไม่มาตามเรามั้ง ไม่ได้ อยากให้ลุกไปหาเจ้าหนี้เอง แล้วบอกว่า ปรับโครงสร้างหนี้ให้ชั้นเถอะ ชั้นอยากจ่ายนะ แต่ในแต่ละเดือนชั้นจ่ายได้เท่านี้
นอกจากนี้ การให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้ ได้พูดคุยกัน มีทั้งกรณีที่ง่าย เวลาไปทำมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ทั้งที่กรุงเทพฯ และที่ต่างๆ จะเห็นคนจำนวนมากที่ต้องการรักษาประวัติเครดิตของเขา และเขาแค่อยากรู้ว่า ต้องทำอย่างไร เขาไม่รู้ ช่วยบอกเขาที หรืออีกกรณีที่มีมากเลย คือลูกหนี้มีหนี้เสียอยู่ และได้ยินเรื่องรีไฟแนนซ์มา เขาคิดจะแก้หนี้ด้วยการรีไฟแนนซ์ แต่ไม่รู้ว่าการรีไฟแนนซ์เหมาะกับคนที่มีประวัติหนี้ดี แต่ถ้าประวัติหนี้เสียแล้ว ต้องเปลี่ยนจากการขอรีไฟแนนซ์ มาเป็นขอปรับโครงสร้างหนี้ เป็นคนละคำกัน ทำให้เขาติดต่อขอรีไฟแนนซ์ไปที่ไหนก็ไม่มีใครรับเขาเลย จึงต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า วิธีที่เหมาะกับเขาคือ การปรับโครงสร้างหนี้ พอบอกแบบนี้ เขาก็คลิก แล้วก็แก้ปัญหาต่อได้
“อีกกรณีที่พบในมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จะมีทั้งกรณีที่เจ้าหนี้ไม่ค่อยบอก มีกรณีที่เจ้าหนี้พยายามจะติดต่อไปเพื่อที่จะบอก แต่ไม่รับโทรศัพท์ ไม่สามารถติดต่อให้มาปรับโครงสร้างหนี้ได้ เจ้าหนี้ก็รายงานกลับมาว่า ข้อตกลงที่ให้ลองพยายามติดต่อลูกหนี้ 5 รอบให้ได้ เจ้าหนี้ก็บอกว่าลองแล้ว ติดต่อ 5 ครั้งแล้วก็ยังไม่สำเร็จ เราก็มาลองดูเหมือนกัน ก็ปรากฏว่ามีหลายกรณี และเป็นส่วนใหญ่ที่ลูกหนี้ไม่รับสาย ซึ่งก็เข้าใจลูกหนี้เหมือนกันว่า ในภาวะแบบนี้ที่มีเรื่องภัยทางการเงิน มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีเบอร์แปลกๆ มาก็ไม่กล้าจะรับเหมือนกัน คือ ไม่ได้มีใครผิดใครถูก แต่เป็นปัญหาของการทำให้คนสองคนมาเจอกัน มาคุยกัน”
อรมนต์กล่าวถึงปัญหาการใช้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล ที่ถูกนำไปใช้จ่ายที่ไม่เป็นประโยชน์ว่า เป็นสาเหตุให้ ธปท. มีการออกประกาศการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ หรือ responsible lending โดยสิ่งที่ไทยต้องการนั้น ต้องการทั้ง responsible lender และ responsible borrower คือต้องรับผิดชอบทั้งสองฝ่าย ทั้งฝั่งลูกหนี้ และฝั่งเจ้าหนี้ เพราะถ้ากฎนี้ออกมาใช้กับเจ้าหนี้สำเร็จ ก็จะทำให้เกิด responsible lender คือเจ้าหนี้ที่รับผิดชอบแล้ว จะทำอย่างไรให้เกิดลูกหนี้ที่รับผิดชอบด้วย เพราะว่าหลังจากนี้ลูกหนี้จะได้รับข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้ที่ดีขึ้น ลูกหนี้ก็มีหน้าที่เหมือนกันที่จะต้องเก็บข้อมูลเหล่านั้น แล้วเอามาปรับพฤติกรมของตัวเอง
โดย ธปท. จะมีการกำกับในมุมต่างๆ มุมแรก คือเรื่องสื่อโฆษณา “ของมันต้องมี” “ถือกระเป๋ารวยไปอวดเพื่อน” “บินก่อนผ่อนทีหลัง” แต่การใช้บัตรเครดิตให้ฉลาด แล้วสามารถจ่ายคืนได้ จริงๆ แล้วเป็นประโยชน์กว่า แต่ถ้ารูดเพลินจนไม่สามารถจ่ายคืนได้ ปัญหาหนี้บัตรเครดิตก็จะกลายไปเป็นปัญหาอื่นๆ ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ธปท. ก็หวังว่าสื่อโฆษณาที่ไม่กระตุ้นจนเกินไป มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจน จะทำให้คนมีพฤติกรรมการใช้เงิน การใช้เงินกู้ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ในกรณีคนที่จ่าย แต่จ่ายแค่ขั้นต่ำ ซึ่งเกิดจาก 2 กรณี กรณีแรกคือมีความสามารถที่จะจ่ายเท่านี้จริงๆ ซึ่งเข้าใจและหวังว่าจะมีการหารายได้เพิ่ม และลดรายจ่าย ให้ตัวเองจ่ายคืนได้มากขึ้น แต่อีกกรณีหนึ่ง คือจ่ายขั้นต่ำแบบไม่รู้ตัวว่า ถ้าจ่ายมากกว่าอีก 3-5 เท่า จะลดดอกเบี้ยต่อสัญญาลงได้เยอะมาก แทนที่หนี้จะจบในอีก 10 ปี จริงๆ อาจจะจบใน 4 ปี หรือ 5 ปีก็ได้ ก็จะมีการเพิ่มข้อมูลการเปรียบเทียบให้มากขึ้น ว่าถ้าผ่อนขั้นต่ำจะใช้เวลาอีกกี่ปีกว่าจะผ่อนจบ ดอกเบี้ยทั้งสัญญาจะจ่ายไปทั้งหมดเท่าไหร่ แต่ถ้าผ่อนเพิ่มอีก 3-5 เท่า จะจบหนี้ได้ภายใน 4 ปี จ่ายดอกเบี้ยแค่นี้เอง เพื่อกระตุกพฤติกรรม เหมือนโปะหนี้ ซึ่งคนที่บริการจัดการเงินดี เขาจะโปะ แต่บางคนก็จ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ก็ต้องการกระตุกนิดหนึ่ง เพื่อให้ปรับพฤติกรรมไปโปะมากขึ้น เพราะการเป็นหนี้มันมาพร้อมภาระ ถ้าเลือกได้ ซื้อของก็จ่ายสด หรือเลือกได้อาจจะรูดบัตรเครดิตแล้วจ่ายคืนเต็มจำนวน แบบนี้ไม่มีดอกเบี้ยเพิ่มเลย แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ต้องรูดไปจ่ายค่าเทอม ก็อยากให้กู้เมื่อจ่ายคืนไหว
อรมนต์กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยปัจจุบันอยู่ 87% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ค่อนข้างมาก แม้จะลดลงจากช่วงโควิดที่ขึ้นไปถึง 90% ขณะที่บีไอเอสศึกษาว่าไม่ควรเกิน 80% ถ้าเทียบกับตัวเราเอง ถ้ามีหนี้น้อย ก็จะเพิ่มการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจโตได้เรื่อยๆ แต่ถ้าถึงจุดที่มีหนี้ล้นพ้นตัว เวลามีรายได้เพิ่ม แทนที่จะนำไปใช้จ่ายเพื่อหมุนเวียนเศรษฐกิจต่อ กลายเป็นว่าเราต้องไปจ่ายคืนหนี้ เวลามีหนี้เยอะเศรษฐกิจก็จะไม่โตดี ก็จะไม่ยั่งยืน บีไอเอสจึงบอกว่า ไม่เกิน 80% น่าจะดี การจะลดตัวเลขนี้ได้ก็ต้อง “ปิดจบหนี้ให้เร็วขึ้น” ฉะนั้น การกระตุ้นให้จ่ายหนี้มากกว่าขั้นต่ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ หรือการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้เน้นเฉพาะสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ ไม่กู้มากเกินไป ก็เป็นเรื่องสำคัญ
อีกจุดที่สำคัญ คือ ถ้าสามารถเอาหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบได้ ตัวเลข 87% ในระยะสั้นอาจจะเพิ่มขึ้น แต่เพื่อที่ว่าในระยะยาวจะลงมาอยู่ในระดับ 80% ได้อย่างถาวร เพราะถ้ายังมีหนี้นอกระบบอยู่ แล้วเขาจ่ายแต่หนี้นอกระบบ หนี้ในระบบเขาจะไม่จ่ายเลย เพราะเขากลัวหนี้นอกระบบ จะจ่ายหนี้นอกระบบอย่างเดียว ซึ่งจ่ายเท่าไหร่ก็ไม่จบเสียที ฉะนั้น ถ้าสามารถพาหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบได้ ระยะสั้นตัวเลขอาจจะสูงขึ้น แต่ระยะยาวให้ผลที่ดีกว่ากับประเทศ ทำให้ตอบได้ยากว่า เมื่อไหร่หนี้ครัวเรือนจะลดลงได้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าทำได้ โดยทุกคนต้องร่วมมือกัน
อรมนต์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ ให้หนี้ลดลงได้ จะยึดหลัก 3 ข้อ คือ
1) ทำอย่างครบวงจร ถ้าแก้หนี้เดิมอย่างเดียว แต่ไม่คุมหนี้ใหม่ ก็จะเป็นงูกินหางไปเรื่อยๆ เหมือนคนอ้วนที่ไปดูดไขมันแล้วไม่คุมอาหารการกิน ไม่ออกกำลังกาย ก็จะกลับมาอ้วนเหมือนเดิม
2) ต้องทำถูกหลักการ บางครั้งเรามองว่าแก้แบบนี้ในระยะสั้น เร็วดี แต่อาจจะส่งผลเสียไปในอนาคต ซึ่งมี 2-3 ตัวอย่าง เช่น ชำระหนี้ไปเรื่อยๆ ระยะยาวดีหรือเปล่า เพราะทำให้มีภาระหนี้เงินต้นค้างอยู่อย่างนั้น และมองไม่ออกว่าจะปิดหนี้เมื่อไหร่ดี หนี้ครัวเรือนที่จะลงมา 80% ของจีดีพีก็จะไม่ลง ก็จะค้างอยู่อย่างนั้นต่อไปยาวๆ หรือไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ คือถ้ามีการพักชำระหนี้ไปเรื่อยๆ หนี้จะไม่จบ เป็นภาระไปในในอนาคต หรือถ้าทำแล้วลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต คือเรื่องลบข้อมูลเครดิต ถ้าลบ ก็จะมีปัญหาว่าไม่มีใครกล้าปล่อยสินเชื่อให้ใครเลย เพราะไม่รู้ว่าใครดี ใครไม่ดี เป็นต้น
3) ตั้งใจจริง และร่วมมือกัน คือสินเชื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ไม่รวมหนี้นอกระบบ ต้องร่วมมือกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นี่คือหลักที่วางไว้
ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร
Source: ThaiPublica

Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"