ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประกาศเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity : IPEF) ในระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันนี้
ทั้งนี้ ประเทศที่เข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF ได้แก่ สหรัฐ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คิดเป็นสัดส่วน 40% ของทั้งโลก
กรอบความร่วมมือ IPEF จะประกอบด้วย 4 เสาหลักคือ การค้า ห่วงโซ่อุปทาน พลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งภาษีและการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งสมาชิกทั้ง 13 ประเทศไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมทั้ง 4 เสาหลัก โดยสามารถตัดสินใจเข้าร่วมในกรอบที่มีความสนใจ ขณะที่จะมีการหารือสำหรับการเจรจาใน 4 เสาหลักต่อไป
นอกจากนี้ สมาชิกจะเชิญประเทศคู่ค้าอื่นในอินโด-แปซิฟิกที่มีเป้าหมายและผลประโยชน์ร่วมกันเข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF ในอนาคต
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สหรัฐระบุก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐไม่มีความประสงค์ที่จะเชื้อเชิญจีนให้เข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF แต่อย่างใด
Source: อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ก้องเกียรติ กอวีรกิติ
****************
‘กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ คืออะไร ทำไมแผนการใหม่ของสหรัฐฯ จึงถูกเมิน : ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ มีกำหนดจะประกาศจัดตั้ง กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ระหว่างการเยือนประเทศพันธมิตรในเอเชียตะวันออก รวมทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ในวันที่ 20-24 พฤษภาคม เพื่อจะผสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และแน่ชัดว่าเป็นการแข่งขันอิทธิพลทางเศรษฐกิจกับจีน
กรอบความร่วมมือใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯ นี้ได้รับการนำเสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคมแล้ว แต่ผู้นำอาเซียนให้ความสนใจกันน้อย เนื่องจากสหรัฐฯ ผู้นำเสนอเองก็ยังไม่มีความชัดเจน ขาดรายละเอียดทั้งในแง่วัตถุประสงค์ ยุทธศาสตร์และรูปแบบวิธีการในการดำเนินงาน และที่สำคัญ ไม่ต้องการให้อาเซียนเข้าร่วมกันทั้งกลุ่ม
เหนือสิ่งอื่นใด ประสบการณ์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership: TPP) บอกให้รู้ว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไม่มีความคงเส้นคงว่าในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบพหุภาคีเอาเสียเลย เพราะรัฐบาล บารัค โอบามา ลงนามเข้าร่วม TPP ในปี 2016 แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯ กลับถอนตัวในปี 2017 ครั้งนี้ก็ไม่มีหลักประกันอีกเช่นกัน ว่าถ้าสิ้นรัฐบาลไบเดนแล้ว ชะตากรรมของกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกจะเป็นอย่างไรต่อไป
ประธานาธิบดีไบเดนได้นำเสนอกรอบความร่วมมืออันใหม่นี้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2021นัยว่าให้เป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกในอันที่จะสร้างความสัมพันธ์และเกี่ยวพันกับประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย
กรอบความร่วมมือนี้ไม่ใช่ความตกลงการค้าเสรีหรือการเปิดตลาดอย่างที่คุ้นเคยกัน หากแต่เป็นความพยายามที่จะร่วมมือและจัดระเบียบในการทำความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งมี 4 เสาหลักด้วยกันได้แก่
เสาแรก การค้าที่เป็นธรรมและยืดหยุ่น ซึ่งภายใต้เสานี้มีภาคส่วนต่างๆ อยู่ 7 สาขา คือ แรงงาน สิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ เศรษฐกิจดิจิทัล การเกษตร ความโปร่งใสและธรรมาภิบาล นโยบายการแข่งขัน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า
หลายฝ่ายมีความวิตกกังวลว่าในบางเรื่อง เช่น เรื่องแรงงานและเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น สหรัฐฯ อาจจะมีวาระซ่อนเร้นหรือพยายามผลักดันแนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ ตัวอย่างเช่น สิทธิในความเป็นส่วนตัวในโลกดิจิทัลในไทยและสหรัฐฯ อาจจะแตกต่างกันมากหรือไปกันไม่ได้เลย
เสาที่สอง ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain resilience) ซึ่งยังมีความคลุมเครืออยู่มากว่าหมายถึงอะไรกันแน่ สหรัฐฯ ต้องการอะไร หลายประเทศในเอเชียเข้าใจว่าตัวเองทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตและเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจสมัยใหม่ แต่ความกังวลคือ สหรัฐฯ จะใช้กรอบความร่วมมือนี้ในการควบคุมอุปทาน การผลิต หรือใช้มันต่อต้านผู้ผลิตรายใหญ่ในเอเชีย
เสาที่สาม คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และการลดคาร์บอน (decarbonization) ที่หลายประเทศก็กำลังประสบปัญหาในการขาดแคลนเงินทุนในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม หรือลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่มีราคาแพง หลายประเด็นอย่างเช่น เรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์นั้นปฏิบัติยาก แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐฯก็ไม่อยากทำ แต่ชอบจะบีบบังคับให้ประเทศยากจนลงทุนด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม
เสาที่สี่ คือเรื่องภาษีและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเกือบทุกประเทศในโลกนี้ และดูเหมือนยังหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหากันไม่ได้
ทุกรัฐบาลในโลกนี้ไม่อยากให้ใครยุ่งกับเรื่องภาษีซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของตัวเองและการทุจริตมากต่อมากเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเองนั่นแหละ หลายประเทศยอมรับสนธิสัญญาต่อต้านทุจริตของสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ปฏิบัติกันไม่ค่อยได้ ดังนั้นก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่ากรอบความตกลงที่สหรัฐฯ นำเสนอนี้จะเป็นจริงได้
ผู้นำสหรัฐฯ ได้นำเสนอแนวคิดกรอบความตกลงเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกแก่ผู้นำเอเชียและอาเซียนไปแล้ว และได้แสดงเจตนาอยากจะให้ประเทศที่คิดคล้ายๆ กันในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมก่อนเป็นลำดับต้น ในชั้นนี้คาดว่าประเทศที่จะตอบรับจะได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติในกรุงชิงตัน ดี.ซี. ได้ทำการสำรวจและศึกษาท่าทีของประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเป้าหมายและทำรายงานออกมาหลายชิ้นในระหว่างเดือนเมษายน และพฤษภาคม พบว่า หลายประเทศที่สหรัฐฯ อยากให้เข้าร่วมนั้นต่างพากันพูดว่า อยากจะให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกมากกว่า เพราะหลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวแล้ว สมาชิกที่เหลืออยู่ในอาการไปไม่เป็น ไม่รู้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จึงทำได้แค่เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans Pacific Partnership: CPTPP)
กล่าวแต่เฉพาะกลุ่มอาเซียนนั้น รัฐบาลในทำเนียบขาวไม่ได้ตั้งใจจะเชิญอาเซียนทั้งกลุ่มเข้าร่วมกรอบความตกลงเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกแต่อย่างใด ประเทศที่อยู่ในเป้าหมายที่ต้องการจะเชิญให้เข้าร่วมในเบื้องต้นมีแค่ 4 ประเทศคือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามเท่านั้น
โปรดสังเกตว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียนอย่างไทยและประเทศที่เป็นพันธมิตรทางทหารอย่างฟิลิปปินส์ถูกมองข้าม ในขณะที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่าง บรูไน ลาว และกัมพูชา ไม่มีคุณสมบัติในการเข้าร่วม (เจ้าหน้าที่ในวอชิงตันอาจจะลืมไปว่าบรูไนนั้นคือประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง TPP) ส่วนพม่านั้นดูเหมือนจะถูกละเลยด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองและปัญหาสิทธิมนุษยชน
หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนสหรัฐสมัยพิเศษที่วอชิงตันเมื่อสัปดาห์ก่อน มีเพียงนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์เท่านั้นที่พูดว่าสนใจอยากเข้าร่วมกรอบความตกลงเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกอย่างจริงจัง ส่วนนายกรัฐมนตรี ฟาม มิญ จิญ ของเวียดนามซึ่งได้รับเชิญให้ไปปาฐกถาที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ บอกว่าเวียดนาม (ซึ่งร่วม CPTPP อยู่แล้ว) สนใจ แต่ขอเวลาศึกษาในรายละเอียดอีกสักระยะหนึ่ง
เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลไบเดนไม่ต้องการเชิญให้จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐเข้าร่วมกรอบเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก ซึ่งนั่นก็อาจจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับสมาชิกอาเซียนหลายประเทศที่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีและสมดุลกับทั้งจีนและสหรัฐฯ
อีกประการหนึ่ง บางประเทศเห็นว่า อาเซียนทั้ง 10 ประเทศเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ร่วมกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนไปเข้ากรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำแต่อย่างใด หากไม่มั่นใจว่าจะได้ผลประโยชน์เพียงพอ
Source: ไทยรัฐออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you