วิบากกรรมเศรษฐกิจไทย แสงสว่างปลายอุโมงค์ทยอยดับ

ไตรมาสแรกของปีผ่านพ้นไป สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทย ดูเหมือนจะยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มถูกพูดถึงความเสี่ยงจะถดถอยกันมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ฟื้นช้า

และตอนนี้หลายสำนักต่างปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงกันเป็นทิวแถว
เพราะมองไปข้างหน้าดูเหมือนจะเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ประเทศไทยจะรับมือกันอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) วิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ
ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า เดิมเปิดต้นปี 2565 มา คิดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะเจอ “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เพราะอยู่ในอุโมงค์มาแล้ว 2 ปี โดยคาดว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนน่าจะจบได้ในไตรมาสแรก แต่สุดท้ายก็ยังไม่จบ แถมมาเจอภาวะเงินเฟ้ออีก
ยิ่งมีสงครามรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำ ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่เดิมคาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้น เดิมคาดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ 6 ล้านราย แต่ล่าสุดก็ต้องปรับลดลงเหลือ 5 ล้านราย ซึ่งยังพอจะลุ้นได้
“เราอยู่ในอุโมงค์มา 2 ปี ก็น่าจะเริ่มเห็นแสงสว่าง ก็นึกว่าโอมิครอนจะจบในไตรมาสเดียว แต่ก็ไม่จบ ดันเจอเงินเฟ้อจากสงครามรัสเซียกับยูเครนอีก ซึ่งน่าห่วงมากเลย แล้วก็เรื่องการท่องเที่ยว ราคาน้ำมันแพง ตั๋วเครื่องบินก็แพง ซึ่งดูแล้วตลาดจีนคงไม่มา รัสเซียก็คงไม่มา ส่วนยุโรปก็ลำบาก ดังนั้น เทียบกับความหวังเมื่อตอนต้นปี ถึงตอนนี้หลายเรื่องก็ดูความหวังน้อยลง”
จับตา 3 ปัจจัยกระทบหนัก
โดย 3 ปัจจัยที่เรียกว่าจะกระทบไทยหนักพอสมควร ได้แก่ 1.เงินเฟ้อ ที่มาจากต้นทุนพลังงาน ราคาน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหินแพงขึ้น 2.ราคาโลหะเพิ่มขึ้น เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิต ทั้งเหล็ก นิกเกิล ทองแดง ซึ่งจะกระทบค่าก่อสร้างปรับขึ้นแน่นอน และ 3.สินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวสาลีกับข้าวโพด จะกระทบต้นทุนอาหารสัตว์ แล้วที่เป็นห่วงมากก็คือ ปุ๋ย เพราะเมืองไทยนำเข้าปุ๋ยจำนวนมาก
ค่าครองชีพพุ่งซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน
นอกจากนี้ ไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงเกิด stagflation แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะบอกว่ายังไม่ใช่ โดย ธปท.มองว่าเศรษฐกิจยังโตได้มากกว่า 3% โตสูงกว่าระดับศักยภาพอยู่ แต่ความเสี่ยงก็คือ เศรษฐกิจจริง ๆ จะโตไม่ถึง 3%
และอีกประเด็นคือ แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมอาจจะยังไม่รู้สึก แต่ถ้าถามคนหลายคน ก็เรียกได้ว่าเข้าสู่ stagflation แล้ว เพราะรายได้โตไม่ทันค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ และไปซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาที่ใหญ่อยู่แล้วให้ยิ่งใหญ่เข้าไปอีก
“ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากคนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แต่เกิดจาก income shock โดยคนอยากใช้จ่ายเหมือนเดิม แต่รายได้ไม่มาเท่าเดิม หรือธุรกิจหลายอย่างก็ไปต่อไม่ได้ กลายมาเป็นหนี้ แล้วมาตอนนี้ฝั่งรายได้ยังไม่ทันจะดีขึ้น ฝั่งรายจ่ายขึ้นกระจาย วิธีแก้ดีที่สุด คือ ทำให้เศรษฐกิจกลับไปเดินได้ เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจเดินไม่ได้ ก็จะมีปัญหา”
ส่อลามกระทบค่าจ้าง-ดันต้นทุนสินค้า
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อสูง อาจจะชั่วคราว แต่ถ้าค้างนาน ๆ จะทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อสูง ซึ่งจะได้เห็นการขอขึ้นทางด่วน ขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และสินค้าทุกอย่างจะขยับขึ้นตามกัน เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์และ ธปท.กลัว เพราะจัดการได้ลำบาก
ทั้งนี้ ตามปกติหากเศรษฐกิจร้อนแรง วิธีแก้เงินเฟ้อที่ดีที่สุด คือ การแตะเบรก โดยขึ้นดอกเบี้ย และรัดเข็มขัดทางการคลัง แต่วันนี้เงินเฟ้อมาจากต้นทุน และเศรษฐกิจไม่ดีด้วย ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลสุด คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าปรับสูงขึ้น ก็อาจจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานได้หลังจากนี้
“วันนี้ถ้าแตะเบรก ก็จะซ้ำเติมเศรษฐกิจ เผลอ ๆ จะหัวทิ่มกันหมด ทำให้ ธปท.วันนี้ยังไม่ทำอะไร แล้วก็ไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้ แต่คำถามคือ หากทิ้งไว้นาน ๆ จะแก้ยาก ดังนั้น ก็ต้องมอนิเตอร์ แล้วก็เทกแอ็กชั่นส่งสัญญาณอะไรบางอย่างออกมา”
ปุ๋ยแพงกระทบ “ชาวนา-คนกินข้าว”
ขณะที่ประเด็นปุ๋ยแพง ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะหากไปดูดัชนีราคาปุ๋ยโลก วันนี้ขึ้นมา 2-3 เท่าแล้ว จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญมาก ซึ่งจะกระทบกับชาวนาไทย
“ผมไปดูตัวเลขชาวนาทำนา 1 ไร่ ใช้ปุ๋ยประมาณ 900 บาทต่อการปลูก 1 รอบ มีกำไรประมาณ 1,000 บาท ถ้าราคาปุ๋ยขึ้น 2 เท่า กำไรหายหมดเกลี้ยงเลย ซึ่งก็มี 2-3 ทางเลือก คือ ไม่ปลูก เพราะปลูกไปก็ไม่มีกำไร หรือใช้ปุ๋ยน้อยลง ก็อาจกระทบผลิตภาพ คือปริมาณของจะน้อยลง และราคาของก็จะแพงขึ้น กลายเป็นความลำบากของทุกคน เพราะว่าผู้บริโภคก็จะซื้อข้าวแพงขึ้น แต่ว่าชาวนาไม่ได้มีเงินเพิ่มขึ้น เพราะเขามีกำไรลดลง”
เศรษฐกิจไทยเจอปัญหาทั้ง “สั้น-ยาว”
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งปัญหาระยะสั้นที่หากโควิดยังไม่จบ แล้วนักท่องเที่ยวไม่กลับมา แถมเงินเฟ้อสูง 3 ปัจจัยนี้จะเป็นความเสี่ยงหลัก เพราะปีนี้หากนักท่องเที่ยวมาได้ 5 ล้านคน เศรษฐกิจก็โตได้ 3.2% แต่หากนักท่องเที่ยวไม่กลับมา หรือไม่ได้เท่าปีที่แล้ว เศรษฐกิจไม่มีทางโตเกิน 3% แน่นอน อาจจะเหลือ 2% หรือ 1%
“ระยะสั้น นโยบายการเงินก็คงต้องสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปก่อน แต่ก็ต้องมอนิเตอร์ อย่าให้แรงกดดันของเงินเฟ้อมีปัญหา เพราะถ้ามีปัญหาจะแก้ยาก ส่วนฝั่งการคลัง เนื่องจากภาระการอุดหนุนจะเยอะขึ้นมาก ๆ ก็จะต้องหารูปแบบของการอุดหนุนที่ใช้เงินให้คุ้มค่ามากกว่านี้ ส่วนการคุมราคา อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ ของขาด ผมว่าสิ่งที่ดีจริง ๆ คือ การเพิ่มการแข่งขันด้วยซ้ำ รัฐอาจจะทำตัวเพิ่มการแข่งขัน ขายของในราคาถูกลง”
ส่วนระยะยาวก็ละสายตาไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้น จะกลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องเจอปัญหามาก ๆ ในอนาคต โดยปัจจุบันเมื่อดูภาพใหญ่แล้ว ประเทศไทยยัง “ติดกับดักรายได้ปานกลาง” และไม่สามารถหาทางออกได้ว่า ตัวขับเคลื่อนใหม่ ๆ ของเศรษฐกิจไทยคืออะไร ซึ่งสัญญาณที่ค่อนข้างน่าห่วงที่สุด คือ ไทยแทบไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“ปัญหาของเมืองไทย คือ 2 ปีที่ผ่านมา เราดับไฟ เพราะเราคิดว่า บ้านเราไฟไหม้ แต่เราแทบไม่ได้หาทางให้บ้านดีขึ้น ใหญ่ขึ้น หรือไม่มีการลงทุน วันก่อนเจอนักลงทุน เขาก็ถามว่า ไทยทำอะไรบ้างในแง่ของสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพราะตั้งแต่สหรัฐทะเลาะกับจีน ก็มีคนไต้หวันอยากย้ายฐานการผลิตจากเมืองจีน ซึ่งไทยมีโอกาส หรือฮ่องกงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองจีน ทำไมไทยไม่เป็น hub financial center ในเอเชียแทนฮ่องกง
หรือตอนนี้รัสเซียทะเลาะกับยุโรป เราเปลี่ยนแปลงอะไรได้มั้ย หรือดูอย่างการส่งออก ปีที่แล้วเราถือว่าดีมาก แต่สัดส่วนการส่งออกที่เป็นพวกไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ เราน้อยกว่าเวียดนาม ขณะที่ภาคการส่งออกเกษตร ข้าว เราก็สู้เขาไม่ได้ ดังนั้น เรากำลังเจอปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน เพราะระหว่างที่เรากำลังดับไฟอยู่ คนอื่นโตไปแล้ว” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ฝากทิ้งท้าย
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"