ตลาดจะรับไหวไหมเมื่อปัจจัยเสี่ยงพรั่งพรู

อาทิตย์ที่แล้ว ผมมีโอกาสคุยกับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ท่านหนึ่ง ที่โชกโชนเรื่องตลาดการเงินและเศรษฐกิจ คุยกันนาน และมีความห่วงใยคล้ายกันเกี่ยวกับสถานการณ์ขณะนี้
สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงที่มารวมกันอยู่ในเวลาเดียวกัน

ซึ่งแต่ละปัจจัยสามารถนำโลกไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงหรือวิกฤติการเงินได้ เช่น ดอกเบี้ยขาขึ้น เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ปัญหาหนี้ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Geopolitics)
คล้ายเป็นพายุใหญ่สมบูรณ์แบบหรือ Perfect storm ที่กำลังตั้งเค้า คำถามคือ ตลาดการเงินจะรับมือปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ไหมถ้าเกิดปะทุขึ้นพร้อมกัน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
วิกฤติเศรษฐกิจการเงินในโลก ถ้าศึกษาลึกซึ้งจะพบว่าสาเหตุหลักแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรกคือ ปัญหาฟองสบู่แตกและการผิดนัดชำระหนี้ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยจากขาลงเป็นขาขึ้น คือช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง อัตราดอกเบี้ยต่ำนำไปสู่การเติบโตของสินเชื่อ การใช้จ่ายและการเก็งกำไร ทำให้ราคาสินทรัพย์ เช่น หุ้น บ้าน ที่ดิน รวมถึงราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่นักลงทุนเข้าไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเกิดภาวะฟองสบู่
คือราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน เราจึงเห็นตลาดหุ้นปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจจะอ่อนแอหรือขยายตัวต่ำ ส่วนอีกด้านคือความเป็นหนี้ที่เพิ่มสูงพร้อมกันไปด้วย จากการใช้จ่ายและกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นมาก กระตุ้นโดยอัตราดอกเบี้ยต่ำ
พออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนเป็นขาขึ้น ทุกอย่างก็เปลี่ยน ต้นทุนการเงินแพงขึ้นและความเสี่ยงในการลงทุนมีมากขึ้น พฤติกรรมลงทุนเปลี่ยนจากพร้อมเสี่ยงเป็นหนีความเสี่ยง ราคาสินทรัพย์ปรับลง ซึ่งถ้าเร็วและรุนแรงก็คือภาวะฟองสบู่แตก สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ที่ถือสินทรัพย์นั้น
ส่วนอีกด้านคือภาระชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น ซ้ำเติมโดยเศรษฐกิจที่ชะลอ ทำให้ผู้มีหนี้อาจผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกว้างขวางเป็นปัญหาเชิงระบบ ก็อาจทำให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้
สำหรับสถานการณ์โลกปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น และความเป็นหนี้ในเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีวงเงิน 226 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2020 คิดเป็น 256 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก เป็นหนี้ภาครัฐร้อยละ 40 ที่เหลือเป็นหนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือน ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ไปทั่ว
ในส่วนตลาดการเงินราคาสินทรัพย์ทั่วโลกก็ปรับลดลง ที่ลงมากคือ ราคาสินทรัพย์เสี่ยงเช่น สินทรัพย์คริปโทที่ราคาลดลงจากระดับสูงสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง และที่ต้องระวังมากคือการปรับลงของราคาสินทรัพย์ที่เป็น asset class ขนาดใหญ่
เพราะการสูญเสียจะมีมากและกว้างขวาง ทำให้ประเทศล่อแหลมต่อสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติ ล่าสุดไอเอ็มเอฟก็ออกมาเตือนว่าการปรับลดของราคาสินทรัพย์อาจลากยาวจากสภาพคล่องตึงตัวที่เป็นผลจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทำให้ผู้ทำนโยบายต้องระวัง นี่คือปัจจัยกลุ่มแรก
กลุ่มสอง คือ นโยบายเศรษฐกิจของประเทศเองที่ผิดพลาด นำประเทศไปสู่วิกฤติ เช่น รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว ทำให้ประเทศขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรง รวมถึงดำเนินนโยบายผิดพลาดเมื่อเศรษฐกิจเผชิญผลกระทบจากภายนอก
เช่น ปัญหาเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ที่ภาครัฐควรรัดเข็มขัดและให้ราคาปรับตัวตามกลไกตลาด แต่กลับตรึงราคา ทำให้รัฐบาลยิ่งขาดดุลการคลัง และเมื่อเศรษฐกิจชะลอ รัฐบาลก็ขาดรายได้ มีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งถ้ารุนแรงและเกิดการผิดนัดชำระหนี้ วิกฤติเศรษฐกิจก็อาจเกิดขึ้น
ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังเจอกับปัญหาเงินเฟ้อ หลายประเทศแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและราคาน้ำมันแพงด้วยการตรึงราคาโดยใช้เงินภาครัฐเข้าอุดหนุนไม่ให้ราคาปรับขึ้น ซึ่งสร้างภาระมากต่อฐานะการคลังของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจยิ่งล่อแหลมต่อการเกิดวิกฤติเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น เช่น กรณี ตุรกี ศรีลังกาและตูนีเซีย ขณะนี้
นี่คือปัจจัยที่เป็นสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจที่มีให้เห็นพร้อมกันขณะนี้ในเศรษฐกิจโลก ที่ต้องตระหนักคือการมีอยู่ของปัจจัยเหล่านี้พร้อมกันไม่ได้หมายความว่า วิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้น แต่ที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจยิ่งอ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโดยตัวเองจะไม่ทำให้เกิดวิกฤติ จนกว่าจะมีปัจจัยเข้ามา trigger หรือจุดชนวนให้ความอ่อนแอที่เศรษฐกิจมีกลายเป็นวิกฤติ คือเปลี่ยนความอ่อนแอที่มีอยู่เป็นวิกฤติ
ถ้าดูจากวิกฤติในอดีต ปัจจัยที่จุดชนวนวิกฤติส่วนใหญ่จะมาจากการเปลี่ยนของนโยบายหรือมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่เหนือการคาดการณ์ของตลาด ทำให้ตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นในสถานการณ์ เทขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ ตลาดปรับตัวรุนแรงแบบไร้ทิศทางจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
ซึ่งปัจจัยจุดชนวนที่รู้จักกันดีคือ การล้มของธนาคารวานิชธนกิจ ลีหแมนบราเธอร์ (Lehman Brothers) ในเดือนกันยายนปี 2008 ที่เป็นผลจากการตัดสินใจด้านนโยบายที่จะไม่เข้าไปช่วยเหลือทำให้ตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นในสถานการณ์และเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกขณะนี้ต้องยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงมีพรั่งพรู และถ้าปัจจัยเหล่านี้เลวร้ายลง ความเสี่ยงที่สถานการณ์แบบวิกฤติอาจเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรประมาทและต้องพร้อมรับมือ ซึ่งในการรับมือประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามใกล้ชิดคือ ทิศทางของนโยบายและเหตุการณ์ในโลกที่อาจเปลี่ยนไปอย่างเหนือความคาดหมาย
โดยเฉพาะ หนึ่ง pace หรือจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ สอง สถานการณ์ความขัดแย้งใน geopolitics ที่อาจบานปลายหรือรุนแรงกว่าที่ตลาดคาด สาม วิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เป็นประเทศใหญ่ หรือเกิดวิกฤติการเงินในบริษัทขนาดใหญ่ของโลกที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ก็หวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีอะไรรุนแรง.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"