การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นการประชุมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีการกล่าวถึงแผนการลดสภาพคล่องจากระบบเศรษฐกิจ
และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 0% มายาวนานเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี
นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชี้แจงเหตุผลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ว่าเป็นการปรับนโยบายทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ การสื่อสารที่ชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ตลาดการเงินเชื่อมั่นว่าในปี 2565 นี้ จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 4 ครั้ง เริ่มต้นในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
แม้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงมีแนวโน้มคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 0.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในช่วงที่การบริโภคและการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว แต่ประชาชนและธุรกิจไทยเองก็มีโอกาสได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ผ่านการเปลี่ยนแปลงตลาดการเงินโลกและค่าเงินบาทไทยในประเด็นดังต่อไปนี้
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประเด็นแรก คือ ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางสินทรัพย์ในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร กองทุนรวม และสินทรัพย์ประเภทใหม่ เช่น สกุลเงินดิจิทัล ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินจากการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้ลงทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมีการปรับตัวลดลง ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายการลดสภาพคล่องในระบบ (Quantitative Tightening) มีแนวโน้มเกิดขึ้นภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมจะส่งผลกระทบทำให้สภาพคล่องในระบบลดลงมากยิ่งขึ้นไปอีก
ผลกระทบต่อตลาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายที่เคยเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตการเงินซับไพรม์ในปี 2551 โดยผลตอบแทนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดาวน์โจนส์ ปรับตัวลดลง 2.2% ในขณะที่ตลาดหุ้น S&P 500 ปรับตัวลดลง 0.7% ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบจากความกังวลด้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน โดยตลาดหุ้น S&P 500 ปรับตัวลดลง 5.3% ซึ่งถือเป็นการหดตัวรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่เริ่มเกิดการระบาดของโรคโควิด-19
ผลการเปลี่ยนแปลงในตลาดทุนส่งผลต่อเนื่องทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐปรับเพิ่มสูงขึ้น และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางแข็งค่าเพิ่มขึ้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อประเทศไทยอีกประการ นั่นคือแนวโน้มค่าเงินบาท ที่คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเพิ่มขึ้นในปี 2565 ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในช่วงปี 2551 ได้คาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ พบว่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ จนถึง เดือนตุลาคม เงินบาทไทยอ่อนค่าจากระดับ 32.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินบาทสูงถึง 13%
นอกเหนือจากการอ่อนค่าของสกุลเงินบาทแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 นี้ คือความผันผวนของค่าเงินบาท ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินต่างประเทศ ประกอบกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะนำพาให้กระแสเงินต่างชาติ ทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน มีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น จนอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทก็มีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และเมื่อศึกษาความผันผวนของค่าเงินบาทผ่านดัชนีสกุลเงินบาทและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 1 เดือน (USDTHB 1 Month Implied Volatility) จะพบว่าเดือนตุลาคม ปี 2551 ค่าเงินบาทผันผวนสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจาก ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่เกิดการเทขายสินทรัพย์จากการระบาดของโรคโควิด-19
ผลจากการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรจับตาการเปลี่ยนแปลงของตลาดอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรวางแผนศึกษารับมือค่าเงินบาทไทยในปีนี้ โดยผ่านเครื่องมือทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากทิศทางและความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ
โดย นริศ สถาผลเดชา
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you