การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังส่งผลให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของญี่ปุ่นต้องเผชิญภาวะหนี้ที่พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี จากการกู้เงินเพื่อพยุงธุรกิจจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแบกรับ
นิกเคอิ เอเชีย รายงานผลวิจัยล่าสุดของสถาบันวิจัยนโยบาย กระทรวงการคลังญี่ปุ่น พบว่า อัตราส่วนภาระการชำระหนี้ (burden of repayment ratio) ของบริษัทเอสเอ็มอีญี่ปุ่น พุ่งขึ้นสูงมากจากสถานการณ์โควิด-19
โดยบริษัทเอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่มีเงินทุน 100 ล้านเยนขึ้นไปพบว่า ในปีงบประมาณ 2021 มีภาระหนี้สินสูงกว่ากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ถึง 4.9 เท่า ซึ่งสูงเกือบเท่ากับอัตราส่วน 5.2 เท่า ในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008
ขณะที่บริษัทเอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่มีเงินทุนไม่ถึง 100 ล้านเยน โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก มีภาระหนี้สูงกว่ากำไรเกือบ 14 เท่า ซึ่งเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หรือปิดกิจการเป็นอย่างมาก
สาเหตุมาจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตามปกติ ขณะที่รายได้ลดลง ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องเพื่อรักษากิจการ
แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่เอสเอ็มอียังเผชิญภาวะยากลำบากที่ต้องพยายามหารายได้เพื่อชำระหนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่หรือไม่
ตามข้อมูลสำมะโนเศรษฐกิจของสำนักงานสถิติญี่ปุ่น ปี 2016 พบว่า เอสเอ็มอีและกิจการเจ้าของคนเดียวคิดเป็น 99.7% ของวิสาหกิจทั้งหมดของญี่ปุ่น โดยมีการจ้างงานสูงถึง 68.8% ของแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งหากเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างหนักอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะการว่างงาน
ขณะที่ผลสำรวจของบริษัทวิจัยการตลาด “โตเกียว โชโกะ รีเสิร์ช” ชี้ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2021 มีธุรกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่นล้มละลาย 2,937 บริษัท ลดลง 24% จากปีก่อนหน้า และต่างจากช่วงวิกฤตการเงินที่มีบริษัทล้มละลายกว่า 15,000 บริษัท เป็นผลมาจากมาตรการเยียวยาของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยและไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมกว่า 40 ล้านล้านเยน ผ่านสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน
โดยรัฐบาลญี่ปุ่นประกันความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินเหล่านั้น ผ่าน “เจแปน ไฟแนนซ์ คอร์ปอเรชั่น” (เจเอฟซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการทางการเงินสาธารณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณ แต่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2021 เจเอฟซีขาดทุนสุทธิ 1.037 ล้านเยน เนื่องจากเอสเอ็มอีที่กู้เงินบางรายไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ และเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
ดังนั้น หากเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่สามารถฟื้นตัวและชำระหนี้ได้ เจเอฟซีก็จะยังคงตกอยู่ในสภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาระดังกล่าวจะตกมาอยู่ที่ประชาชนผู้เสียภาษี เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้งบประมาณไปอุ้มเจเอฟซีมากขึ้น
“โยชิฮิโระ ซากาตะ” นักวิเคราะห์ของโตเกียว โชโกะ ระบุว่า มีบริษัทเอสเอ็มอีจำนวนมากที่จะครบกำหนดชำระคืนเงินต้นในช่วงปลายปี 2022 แต่หากเกิดการระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง และกระทบต่อกิจกรรมขององค์กร หลายบริษัทอาจไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรใช้มาตรการที่เอสเอ็มอีจะสามารถเพิ่มรายได้ได้ด้วยตนเอง มากกว่าการสนับสนุนเงินกู้เพิ่มเติม
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you