รัฐบาลจีนจะอุ้มหรือปล่อยให้ Evergrande ล้ม?

วิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังเป็นที่จับตาทั่วโลกว่าอาจลุกลามต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจีน Evergrande มีชื่อบริษัทในภาษาจีนว่า "เหิงต้า" ที่แปลว่า "ยิ่งใหญ่ชั่วฟ้าดินสลาย" ชื่อของมันดูทรนงองอาจยิ่งนัก ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีก่อนมันก็ใหญ่สมชื่ออยู่เพราะอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้นแรงมาหลายปีแล้ว

แต่ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืนทั้งเหิงต้าและตลาดอสังหาฯ จีน
รัฐบาลจีนพยายามจะคุมตลาดอสังหาฯ มานับสิบปีแล้วเปลี่ยนผู้นำมา 2 ชุดก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ แม้คนจีนจะรวยขึ้นแต่ราคาบ้านแพงเกินรายได้จริง มันขึ้นสูงจนบางคนทำงานทั้งชาติก็มีบ้านไม่ได้
ทำไมจึงเป็นแบบนี้? เพราะคนจีนมักนำเงินออมไปลงทุนในตลาดอสังหาฯ ซื้อบ้านเก็บไว้บ้าง ลงทุนในโครงการต่างๆ บ้าง มันป็นไม่กี่หนทางที่จะเก็บผลกำไรจากการลงทุน ขณะที่ดีมานด์สูงขึ้นไม่เหมือนไม่มีที่สิ้นสุด แลรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินก็มักตั้งราคาปล่อยที่ดินให้ผู้พัฒนาสูงๆ ผลก็คืออสังหาริมทรัพย์ของจีนคิดเป็น 28% ของ GDP ของจีน บริษัทอสังหาต่างๆ ต้องใช้เงินกู้มหาศาลมาขับเคลื่อนภาคส่วนนี้
แต่มันมีอันตราย 2 อย่างคือ หนึ่งบ้านจะแพงเกินจริงจนประชาชนเดือดร้อน และสองฟองสบู่จะระเบิดเข้าสักวัน
แล้ว Evergrande ก็กลายเป็นชนวนของการล่มสลาย
ด้วยความที่มันใหญ่มากจนโยงใยหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจทำการให้การสั่นคลอนของมันเป็นที่จับตา
วิกฤตนี้มาจาก "หนี้" เพราะ Evergrande ขาดสภาพคล่อง สาเหตุมีหลายประการ เช่น การขายผลิตภัณฑ์ความมั่งคั่งของบริษัทเอง
แต่หลักๆ คือการนำเงินไปลงทุนกระจายหลายสาขานอกเหนือจากภาคอสังหาฯ บางธุรกิจที่ลงทุนเป็นการขายฝันชัดๆ เช่น บริษัทลูกที่ผลิตรถยนต์พลังงานแนวใหม่ (Evergrande New Energy Auto) ที่เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อหุ้นตกไป 80,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้หุ้นแรงถึง 600,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ทั้งๆ ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์อะไรออกมาด้วยซ้ำ
มันเริ่มชัดเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน เมื่อลูกค้า/ผู้รับเหมาเริ่มไปทวงเงินจาก Evergrande และเริ่มทวงหนักเข้าตามสำนักงานของบริษัทในเมืองต่างๆ
ในเดือนสิงหาคม ยอดขายของ Evergrande ลดลง 26% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากกว่า 800 โครงการของ Evergrande มากกว่า 500 โครงการถูกปิดตัวลง
สถานการณ์ตอนนี้มันแย่ขนาดที่ "เพื่อนวงใน" ของบอสใหญ่แห่ง Evergrande ก็ยังสละเรือกันเป็นพัลวัน
"เพื่อนวงใน" ของ สวี่เจียอิ้น (อดีต) ประธานของ Evergrande ที่เคยค้ำชูกันมา บางคนเป็นแฟนฮาร์ดคอร์ของสวี่เจียอิ้นมาโดยตลอด เช่น หลิวหลวนสฺยง มหาเศรษฐีฮ่องกง หลิวเป็นอดีตประธานบริษัทพัฒนา
อสังหาริมทรัพย์ Chinese Estates ที่ในเดือนมกราคมของปีนี้ยังสนับสนุน Evergrande New Energy Auto อย่างแข็งขัน ตอนนี้ได้ลดการถือครองหุ้นส่วนใหญ่ของ Evergrande ไปแล้ว
นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่ธรรมดา Chinese Estates เป็นนักลงทุนรายสำคัญในการเข้าจดทะเบียนบริษัท China Evergrande ในฮ่องกงในปี 2552 และได้เพิ่มการถือครองหุ้น Evergrande หลายครั้งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ตอนนี้ลมเปลี่ยนทิศซะแล้ว
ใครเป็นนักลงทุนแล้วเจอสถานการณ์แบบนี้มีแต่เอามือก่ายหน้าผาก เพราะขนาดเพื่อนฮาร์ดคอร์ยัง "เฉือนเนื้อ" ทิ้งกันแล้ว
คำถามที่ว่ามันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรมีคนเล่าไปมากแล้ว คำถามสำคัญกว่าตอนนี้ก็คือ "จีนจะปล่อยให้มันล่มหรือไม่?"
Evergrande มีความโยงใยกับภาคส่วนต่างๆ ที่สำคัญมาก เช่น การจ้างงาน บริษัทกล่าวว่ามีพนักงาน 200,000 คน แต่สร้างงานทางอ้อมมากกว่า 3.8 ล้านตำแหน่งทุกปี ถ้ามันล้มขึ้นมาคนจะว่างงานกันเพียบ
แต่เรื่องว่างงานยังไม่ใช่เรื่องใหญ่เมื่อเทียบกับความเกี่ยวพันกับธนาคารต่างๆ และลูกค้าผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่จะเสียเงินไปเปล่าๆ
หากธนาคารหนึ่งล้มกลัวว่าจะล้มเป็นพรวนเพราะเจ้าหนี้ของ Evergrande มีเป็นร้อย แต่กรณีที่น่าสนใจคือ "ธนาคารเซิ่งจิง" เพราะเรื่องราวของมันมันลึกลับดำมืดเสียเหลือเกินน่าจะสะท้อนการก่อหนี้ของ Evergrande ได้เป็นอย่างดี
ในปี 2016 Evergrande กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของธนาคารเซิ่งจิงผ่าน Evergrande Nanchang โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 17.28% ในปี 2019 Evergrande Nanchang ใช้เงิน 13,200 ล้านหยวนอีกครั้งเพื่อจองซื้อหุ้นในประเทศ 2,200 ล้านหุ้นที่ออกโดยธนาคารเซิ่งจิงทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 36.40%
เมื่อเร็วๆ นี้ ไฉซิน สื่อจีนสายสืบสวนเผยว่า ลูกค้าที่ไม่ใช่ธนาคารรายเดียวที่ใหญ่ที่สุดของธนาคารเซิ่งจิงกู้เงินไปสูงถึง 155,232 ล้านหยวนต่อมาลดลงแต่ก็ยังคงเกิน 90,000 ล้านหยวน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ และยังพบในบัญชีฯ ของธนาคารว่าสินเชื่ออสังหาฯ นั้นเพิ่มขึ้นทุกปี
ผลคือเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม Lianhe Credit Rating ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหลักของธนาคารเซิ่งจิงจาก AAA เป็น AA+ ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่าธนาคารเซิ่งจิงมีความเสี่ยงสูงจากลูกหนี้ที่ไม่ระบุชื่อ
คำถามก็คือผู้กู้รายนี้คือใคร? คำถามที่สำคัญกว่าก็คือถ้าผู้กู้รายนี้ใช้หนี้ไม่ทันธนาคารเซิ่งจิงล้มเอาง่ายๆ
เบื้องต้นทางการเมืองเสิ่นหยาง (ที่ตั้งของธนาคารเซิ่งจิง) ระคะระคายและสั่งให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ช่วงนั้น แต่จะแก้ไขทันหรือไม่นั้นก็อีกเรื่อง เพราะปรากฎว่ามีรัฐวิหสากิจหลายแห่งในมณฑลเหลียวหนิงเสี่ยงที่จะเจอปัญหาจากแบงก์นี้
นี่นำไปสู่คำถามว่า "สมมติว่า" Evergrande ไปพัวพันกับหนี้สินของธนาคารขนาดนั้นแล้วเกิดล้มละลายขึ้นมา จะลากธนาคารไปกี่แห่ง รัฐวิสาหกิจ บริษัทรับเหมา บริษัทซัพพลายเออร์ ฯลฯ กี่รายลงหลุมไปด้วย?
นำไปสู่ประเด็นที่ทุกคนอยากรู้ก็คือ จีนจะปล่อย Evergrande ล้มหรือไม่?
ขณะนี้มีเพียงหูซีจิ้น บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Global Times ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนเตือน Evergrande ว่า บริษัทไม่ควรเดิมพันกับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลโดยทึกทักเอาว่าบริษัท "ใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม"
คำว่า "ใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม" นั้นก็คือ Too big to fail ยืมมาจากวิกฤตซับไพร์มของสหรัฐ เพราะตอนนี้มีบางคนเชื่อว่า "เหิงต้า" (ที่แปลว่ายิ่งใหญ่ชั่วฟ้าดินสลาย) มันเข้าเค้ากรณีซับไพร์ม
Too big to fail ก็คือบริษัทนั้นค้ำยันเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ หากปล่อยให้มันล้มเศรษฐกิจของประเทศจะพังพินาศไปด้วย ซึ่ง Evergrande ก็น่าจะเข้าข่ายนั้น และถ้า "สมมติว่า" Evergrande ไปพัวพันกับการกู้มโหฬารขอธนาคารเซิ่งจิง มันจะเข้าข่ายนี้ทันที
แต่บางคนก็เชื่อว่ามันคนละเรื่องกันเลยและจะไม่พังครืนแบบนั้น เช่น Citi กับ Barclays ที่บอกว่ามันไม่ใช่ "Lehman moment" หรือสถานการณ์เดียวกับที่เกิดขึ้นกับบริษัท Lehman ที่นำไปสู่วิกฤตซับไพร์ม
เท่าที่กะด้วยสาตาจากการสำรวจคร่าวๆ ผู้เชี่ยวชาญในวงการเชื่อว่าจีนจะไม่ปล่อยให้ล้มแน่นอน แต่ในความเห็นกลุ่มนี้ก็ยังเสียงแตกออกเป็น 2 กลุ่มคือ จีนจะอุ้ม Evergrande กับจีนไม่อุ้ม Evergrande แต่จะอุ้มภาคส่วนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ
ขนาดสหรัฐอเมริกาทุนนิยมตัวพ่อ ตามหลักการแล้วจะต้องปล่อยไปตามยถากรรม แต่สุดท้ายก็ยังมี "มือที่มองเห็น" เข้าไปช่วยอุ้มไม่ให้ Too big to fail จนบัดนี้ก็ยังเป็นเรื่องครหาของประชาชนอยู่ว่าเอาเงินภาษีประชาชนไปอุ้มคนรวย
ย้ำอีกครั้งว่าเราจะลืมไม่ได้ว่าจีนคือสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ไม่ใช่ทุนนิยมเต็มรูปแบบ ดังนั้นจีนจะไม่ปล่อยกรณีนี้ไปตามยถากรรมแน่ๆ เพราะจีนจะใช้ "มือที่มองเห็น" มาสกัดไม่ให้มันลุกลามไป แต่จะช่วยใครบ้างนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง
อย่างเช่นบริษัท S&P เชื่อว่าแม้ว่า Evergrande จะผิดนัด แต่คาดว่าผลกระทบทางลบโดยตรงต่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพสินทรัพย์ของระบบธนาคารจีนนั้นค่อนข้างดีอาจรองรับแรงกระแทกได้ และรัฐบาลกลางจะเต็มใจที่จะปล่อยสภาพคล่องเพื่อตอบสนองปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นในตลาด
แต่ถึงที่สุดแล้วจีนจะสกัดวิธีไหนนั้นยังจนด้วยเกล้า เพราะแม้แต่กูรูและนักการเงินชั้นนำก็ยังเถียงกันไม่จบ ยิ่งรัฐบาลจีนมักอมพะนำด้วยแล้วยิ่งคาดเดายาก
แต่มีความเห็นที่น่าสนใจจาก Epoch Times ภาคภาษาจีน (ซึ่งเป็นสื่อสายตรงกันข้ามกับรัฐบาลจีน) ในความคิดของผู้เขียนสื่อนี้มีทัศนะต่อสถานการณ์นี้ที่แหลมคมที่สุด อาจเป็นเพราะเป็น "อริ" กับรัฐบาลจีนจึงทำให้มองคนละมิติจากคนอื่นๆ
Epoch Times ชี้ว่ารัฐบาลจีนรู้ปัญหาของ Evergrande มาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากที่รัฐบาลจีนออกกฎ "เส้นตายสีแดง 3 เส้น" คือ กำหนดอัตราส่วนหนี้และเงินสดที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์จะต้องมี นัยว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัยหาสภาพคล่อง
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2020 สื่อทางการจีนเปิดเผยว่า Evergrande ล้ำเส้นสีแดงทั้งสามทุกข้อ ถึงเดือนกันยายนในโลกโซเชียลจีนมีการเผยแพร่จดหมาย "ร้องทุกข์" ของ Evergrande ถึงรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนลงวันที่ 24 สิงหาคม 2020
จดหมายระบุว่า Evergrande กำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้มากกว่า 8 แสนล้านหยวน หากรัฐบาลไม่ช่วย Evergrande จะเจอปัญหาผิดนัดชำระหนี้และห่วงโซ่ทุนพังทะลาย ในหนี้สินจำนวนนี้ 5 - 6 แสนล้านเป็นหนี้ธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศจีนหลายร้อยแห่ง ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่เป็นหนี้นักลงทุนต่างประเทศ
ตอนนั้น Evergrande ปฏิเสธเรื่องจดหมาย แต่ข้อมูลเรื่องตัวเลขนั้นกลับถูกต้อง
Epoch Times ชี้ว่า รัฐบาลจีนน่าจะรู้มาเป็นปีแล้วว่า Evergrande เจอวิกฤต แต่เลือกที่จะไม่ช่วย ไม่ใช่ช่วยช้า และอาจจะเตรียมการตัดสินใจเอาไว้แล้ว โดยทำเป็นขั้นๆ ไป
เพียงแต่บทวิเคราะห์ของ Epoch Times มองในแง่ทฤษฎีสมคบคิดมาเกินไปจึงจะไม่ขอเอ่ยถึงในจุดนั้น แต่จุดที่น่าสนใจคือพวกเขาตั้งข้อสังเกตว่าถ้ารัฐบาลจะช่วยก็คงช่วยแบบกรณีบริษัทหัวหรง (China Huarong Asset Management) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ทางการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่เจอวิกฤตในเวลาไล่เลี่ยกัน และแบบเดียวกันคือปัญหาหนี้
หัวหรงนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจและพัวพันกับ "คนใหญ่คนโต" ทางการจีนจึงเข้ามาช่วยและบอกให้ธนาคารต่างๆ ปล่อยเงินกู้ให้ กรณีหัวหรงนั้นแดงขึ้นมาก่อนเหิงต้าเสียอีก แต่คนภายนอกไม่ค่อยรับทราบกัน
ย้ำว่าจุดที่น่าสนใจก็คือรัฐบาลจีนรู้เรื่อง Evergrande มานานแล้วและมีทางออกแล้วโดยไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
เป็นไปได้หรือไม่ว่าทางออกนี้อาจไม่ใช่ทางรอดของ Evergrande แบบที่จีนช่วยหัวหรง?
เรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วไม่มีใครล่วงรู้ เพราะแม้แต่คนวงในกว่าเราๆ ก็ยังไม่รู้ อย่างที่รายงานของ Bloomberg ระบุว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารของรัฐแย้มเป็นการลับว่าพวกเขายังคงรอคำแนะนำจากผู้นำระดับสูงของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาระยะยาว
เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์คนอื่นๆ Epoch Times มีทัศนะในทำนองว่ารัฐบาลจีนจะไม่อุ้ม Evergrande แต่จะช่วยผู้เสียหายจากกรณีนี้ จะหาวิธีๆไม่ให้มันลุกลามไป หากทฤษฎีข้างต้นเป็นจริง แสดงว่าคงได้เตรียมการบางอย่างเอาไว้แล้ว
ย้อนกลับไปที่ข้างต้น กรณีของธนาคารเซิ่งจิงนั้น มีรายงานจากไฉซินว่า "เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงของ Evergrande แพร่กระจายไปยังธนาคารเซิ่งจิง รัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลเหลียวหนิงจึงตั้งใจที่จะค่อยๆ ควบคุมธนาคารแห่งนี้" วิธีการก็คือให้รัฐวิสาหกิจไปซื้อหุ้นของเซิ่งเจียงที่ถือโดยบริษัทลูกของ Evergrande
นี่อาจเป็นทางออกสำหรับกรณีของ Evergrande หรือไม่ คือปล่อยบริษัทตามยถากรรม แต่จะช่วยภาคส่วนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ
จึงไม่น่าแปลกใจที่หูซีจิ้น กระบอกเสียงของรัฐบาลจะแย้มว่าบริษัทนี้อย่เข้าใจผิดว่าตัวเอง "ใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม" นั่นหมายความว่า จีนอาจจะปล่อยให้มันล้มได้ แต่จะล้มก็ต่อเมื่อมันไม่ใช่ตัวปัญหาของประเทศไปแล้ว
อย่างไรเสียปัญหานี้จะต้องจบก่อนการประชุมสมัชชาแห่งชาติของพรรคคอมมิวนิสต์ในปีหน้า เพราะหากแก้ไม่ทันรัฐบาลจีน หรืออย่างน้อยสีจิ้นผิงมีหวัง "เสียหน้า" ในการประชุมใหญ่ และพานจะเสียดุลอำนาจในพรรคไปด้วยซ้ำ
โดย กรกิจ ดิษฐาน
Source: Posttoday

 

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"