แบงก์เดินหน้ามาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อย-SMEs ฝั่ง ธปท. ต่ออายุมาตรการ พ.ค.-ธ.ค. 64

การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรงกว่าระลอกอื่นๆ ทำให้ภาคธนาคารต้องดูแลพอร์ตลูกหนี้ในมือมากขึ้น ทั้งลูกหนี้เดิมที่เข้ามาตรการช่วยเหลือ และการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งรายย่อยและ SMEs

โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะเริ่มสิ้นสุดลงช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกระดับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขึ้น โดยออกมาตรการฯ ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม – 31 ธันวาคม 2564
ttb ชี้ โควิด-19 ระลอก 3 เพิ่งเริ่ม ประเมินความรุนแรงยาก
อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) หรือทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 พบว่า แม้จำนวนลูกค้าที่เข้าขอความช่วยเหลือจะไม่มากเท่าระลอกก่อนหน้า เพราะเป็นช่วงต้นการระบาด แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ว่าลูกค้าได้รับผลกระทบจากระลอกนี้รุนแรงเพียงใด
ทั้งนี้ ทางธนาคารฯ ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในทุกเซกเมนต์ เช่น การยืดการผ่อนชำระ หรือลดอัตราดอกเบี้ย ฯลฯ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และขยายเวลาให้ลูกค้าสามารถกลับมาชำระได้ตามปกติ
“ตอนนี้ยังต้องติดตามว่าโควิด-19 จะจบเมื่อไร หลายฝ่ายจึงต้องรอดู และค่อยๆ มอนิเตอร์ในการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะราย แต่จะขยายการช่วยเหลือไปถึงปลายปีนี้หรือไม่ ยังต้องรอดูสถานการณ์”
อย่างไรก็ตาม ttb ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมมาตรการ 750,000 ราย และลูกหนี้กลับมาชำระได้ตามปกติหลังจากสถานการณ์ดีขึ้นเสมอ
แบงก์ชี้ มาตรการรวมหนี้คนใช้น้อย
แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารพาณิชย์ระบุว่า โควิด-19 รอบใหม่ ยังไม่จบ มองว่า ธปท. จะต่ออายุมาตรการฯ สิ้นสุดในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะขยายไปถึงสิ้นปี
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ออกมา โดยเฉพาะส่วนสินเชื่อรายย่อยพบว่า มาตรการที่ลูกค้าสนใจคือการยืดหนี้ (ยืดระยะเวลาผ่อนชำระ) ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีลูกค้ากลับมาจ่ายชำระและมีสถานะหนี้เป็นปกติได้ค่อนข้างมาก
“มาตรการฯ ที่เวิร์ก เช่น ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย ฯลฯ เพราะทำให้ลูกค้ากลับมาจ่ายหนี้ตามปกติได้เยอะ แต่การจะทำแฮร์คัตไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งถ้าลูกค้ามีวินัยทางการเงิน หากจำเป็นต้องผ่อน มากน้อยก็สามารถคุยกับธนาคารได้ ธนาคารก็เต็มใจช่วย”
อย่างไรก็ตาม ในมาตรการรวมหนี้พบว่า ภาพรวมยังมีผู้ใช้น้อยมาก บางแบงก์อยู่ที่หลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะลูกค้ายังไม่เข้าใจหรือไม่เห็นประโยชน์การรวมหนี้มาไว้ที่สินเชื่อมีหลักประกัน ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยถูกลง (เช่น การรวมสินเชื่อบัตรเครดิตมาไว้ที่สินเชื่อมีหลักประกันอย่างบ้านหรือรถ)
ในอีกทางหนึ่ง ลูกค้าส่วนใหญ่มีสินเชื่อหลายประเภทในหลายธนาคาร ทำให้การรวมหนี้ทำได้ไม่ง่ายและยังไม่สะดวก หวังว่า ธปท. จะสื่อสารให้มากขึ้น
กสิกรดันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ‘พักต้น-พักดอก’ ต่อเนื่อง
ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้น ทางธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องให้ลูกค้าเลือก เช่น พักต้น พักดอก เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยต่ออายุมาตรการช่วยเหลือให้เข้ารับความช่วยเหลือได้ถึงสิ้นปี 2564
“ตอนนี้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งให้ลูกค้าเลือกรูปแบบได้เหมาะสมกับลูกค้าส่วนใหญ่ แต่ถ้าลูกค้าที่ตกงานเลยอาจยังไม่เหมาะ เพราะยังไม่มีแหล่งรายได้ ซึ่งก็มีมาตรการช่วยเหลือของแบงก์รัฐ (ออมสิน, ธ.ก.ส.) รายละ 10,000 บาท ก็เป็นอีกทางออกหนึ่ง”
ทั้งนี้ กรณีมาตรการการตัดหนี้ หรือแฮร์คัต จากข้อมูลปัจจุบันยังประเมินได้ยาก ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการที่เปิดให้แฮร์คัตกับลูกค้าทั่วไป โดยจากข้อมูลที่อยู่ในขณะนี้พบว่า มีการแฮร์คัตหนี้ในบางกรณีที่ลูกหนี้มีการขายทรัพย์ทอดตลาดแล้ว แต่ยังมีหนี้สินเหลือไม่มาก จะมีการแฮร์คัตหนี้หลังการขายทรัพย์นั้น แต่กระบวนการถือว่ายาวมาก
“มาตรการรวมหนี้ยังไม่เห็นข้อมูลภาพรวมจาก ธปท. ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยยังมีลูกค้ารวมหนี้ไม่เยอะ เพราะเมื่อรวมหนี้แล้ว เช่น บ้านรวมกับบัตรเครดิต วงเงินบัตรฯ จะหายไป ซึ่งลูกค้าอยากรักษาสภาพคล่องและมีวงเงินไว้ใช้เผื่ออนาคตมีรายได้กลับมา คนเลยยังไม่ใช้รวมหนี้มากนัก”
ขณะที่ลูกค้าธุรกิจ มีมาตรการให้ลูกค้าที่ต้องการสภาพคล่องหรือสินเชื่อเพิ่มเติม โดยเริ่มต้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ตามมาตรการของ ธปท.) ได้แก่ มีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing)
ทิสโก้เร่งลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้-ปรับผ่อนขั้นบันได หากไม่ไหวตีโอนทรัพย์
ด้านธนาคารทิสโก้เปิดเผยว่า เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทางธนาคารพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละประเภท โดยสำหรับลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ SMEs เน้นการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ภาระผ่อนชำระลดลง เช่น การปรับภาระการผ่อนเป็นขั้นบันได ในกรณีที่ลูกค้าบางรายไม่สามารถไปต่อได้ ธนาคารจะเสนอโครงการตีทรัพย์ชำระหนี้ และปรับลดภาระหนี้ส่วนที่เหลือให้ตามความเหมาะสม
ในส่วนลูกหนี้ภาคธุรกิจ ธนาคารยังให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของ ธปท. ได้แก่ สินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์ พักหนี้
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกหนี้คิดเป็นยอดหนี้ราว 24% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเมื่อครึ่งปีหลัง 2563 เห็นการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและอุปสงค์ในประเทศ ทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ จนช่วงสิ้นปี 2563 มียอดลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือเพียง 4% ของสินเชื่อรวม
SCB เปิดยอดช่วยลูกค้าจากโควิด-19 รายย่อย 1.9 แสนล้าน SMEs กว่า 8 หมื่นล้าน
พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ธนาคารมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กับลูกค้า SMEs อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ตามนโยบายของภาครัฐ ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องและการขยายให้สินเชื่อลูกค้าใหม่ โดยมุ่งเน้นการประคองธุรกิจของลูกค้าในวิกฤต โดยช่วงที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ารับความช่วยเหลือในวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 81,000 ล้านบาท
อรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทางธนาคารเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยจะติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ระลอก 3 นี้ว่าจะส่งผลต่อรายได้ของผู้บริโภคในวงกว้างและรุนแรงมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ปัจจุบันทางธนาคารมียอดลูกค้ารายย่อยที่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือโควิด-19 ราว 196,000 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) ขณะที่มาตรการล่าสุดของ ธปท. ในกลุ่ม SMEs ที่เปิดให้ยื่นคำขอ 26 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนของสินเชื่อฟื้นฟูมียอดให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่ม sSME 3,500 ราย หรือราว 3,500 ล้านบาท (ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564)
กรุงไทย-กรุงศรี เร่งประเมินผลกระทบ พร้อมออกมาตรการช่วยรายย่อย-SMEs เพิ่มเติม
เอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 กรุงไทยดูแลลูกค้าในวิกฤตโควิด-19 ต่อเนื่อง ทั้งการออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยบรรเทาภาระทางการเงินให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม และหลังจากนั้นออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางธนาคารจึงออกมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามแนวทาง พ.ร.ก. ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และตามแนวทางของ ธปท. ผ่าน 2 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์-พักหนี้
อย่างไรก็ตาม ธนาคารติดตามสถานการณ์ของลูกค้าและประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาสู่การให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงจุดและทันท่วงทีต่อไป
ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 ทางธนาคารมีการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ เช่น พักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์-พักหนี้ ฯลฯ
ทั้งนี้ ทางธนาคารยังตั้งทีมผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ เพื่อติดต่อและติดตามสถานการณ์ในการช่วยเหลือลูกค้าเสมอ โดยจะติดตามการระบาดระลอก 3 อย่างใกล้ชิด หากประเมินว่าสถานการณ์ยังยืดเยื้อ ธนาคารเตรียมพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม
แบงก์ชาติอัปเดตข้อมูลโครงการช่วยเหลือลูกหนี้
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งรุนแรงกว่าการระบาดในรอบ 1-2 ยิ่งซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจผ่านการปรับปรุงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอย่าง Soft Loan ให้ SMEs เข้าถึงมากขึ้น และมีมาตรการใหม่อย่าง ‘พักทรัพย์-พักหนี้’ รวมถึงมาตรการรายย่อย โดยมีความคืบหน้าดังนี้
สินเชื่อฟื้นฟู มีการอนุมัติแล้ว 6,212 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 3,012 ราย วงเงินอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 2.1 ล้านบาทต่อราย (ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2564)
การปรับโครงสร้างหนี้ มียอดภาระหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ผ่านสถาบันการเงินและ Non-Bank 2.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1.77 ล้านบัญชี และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) หรือแบงก์รัฐ ราว 1.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.02 ล้านบัญชี (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564)
Soft Loan สินเชื่ออนุมัติแล้ว 138,200 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับสินเชื่อ 77,787 ราย สินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 1.8 ล้านบาทต่อราย (ณ วันที่ 12 เมษายน 2564)
มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ มีผู้เข้าร่วมมาตรการราว 280,504 คน คิดเป็น 567,682 รายการ (ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ ธปท. ออกมาอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 ซึ่งในช่วงแรกที่ปูพรมพักหนี้-ลดดอกเบี้ยฯ ในวงกว้าง จนการระบาดรอบ 2 ปรับมาตรการให้ช่วยเหลือเจาะกลุ่มเฉพาะบุคคล มีมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ฯลฯ ซึ่งเบื้องต้นมาตรการต่างๆ จะสิ้นสุดในช่วงเดือนมิถุนายน 2564
จากข้อมูลล่าสุดที่ ธปท. ประกาศไว้ช่วงปลายปี 2563 ว่ายอดหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือรวมลดลง เพราะภาคธุรกิจมีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ลูกหนี้รายย่อยสามารถกลับมาชำระหนี้ตามปกติได้ถึง 70% (ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2563)
โดย ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์
Source: The Standard Wealth

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman

Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"