4แบงก์ใหญ่งัดแผนรับมือโควิด-19ระลอก3กรุงไทย งัดแผนป้องกันโควิดขั้นสูงสุด กสิกรไทยย้ำแม้โควิดยังไม่กระทบแผนการดำเนินธุรกิจ ขณะที่กรุงศรีฯเร่งช่วยลูกหนี้เชิงรุก ติดตามลูกหนี้ใกล้ชิด ขณะที่แบงก์กรุงเทพ ปรับแนวทางดำเนินธุรกิจยึด 3 แผน รุกดิจิทัล
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ธนาคารได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด “ขั้นสูงสุด”ตามแผนสำรองการทำงานในภาวะฉุกเฉิน (BCP) ทั้งมาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการด้านพนักงาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเป็นสำคัญประกอบด้วย
1.มีมาตรการคัดกรองลูกค้าและประชาชนในสาขา และสำนักงานของธนาคาร ต้องสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณภูมิโดยในช่วงการระบาดระลอกใหม่ ได้เพิ่มพนักงานประจำจุดคัดกรองการเข้าตัวอาคารสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา
2. จัดให้มีการเว้นระยะห่าง (Social Distancing )ในทุกจุดให้บริการ
3.ทำความสะอาดพื้นที่อาคารสาขา และสำนักงานอย่างสม่ำเสมอ โดยในช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ได้เพิ่มรอบทำความสะอาดอาคารสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา
4. ธนาคารให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่พักอาศัยWFH โดยให้พนักงานเข้ามาปฏิบัติงานที่สำนักงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยควบคุมการเข้าปฏิบัติงานในอาคารสำนักงานใหญ่ ไม่เกิน 20-25% ลดหรือเลื่อนการพบปะลูกค้าภายนอก
ทั้งประชุม สัมนา โดยให้ดำเนินการผ่านระบบ Video Conference หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด งดการเดินทางข้ามจังหวัดและพื้นที่เสี่ยง และรักษาวินัยการรายงานสถานะสุขภาพประจำวันอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ผลกระทบโควิดระลอก3นั้น ที่จำนวนผู้ติดเชื้อขยายวงกว้างและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าและประชาชน โดยการเดินทางมาทำธุรกรรมที่สาขาลดุล
ขณะที่การทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ปิดให้บริการชั่วคราวในสาขาที่มีการแจ้งว่ามีพนักงานติดเชื้อ หรือ อยู่ในไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ
ในส่วนของการดำเนินธุรกิจ ธนาคารมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการช่วยเหลือเป็นการทั่วไปและแบบเฉพาะเจาะจงเฉพาะกลุ่ม
รวมถึงสนับสนุนมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามแนวทางธปท.ทั้งสองมาตรการคือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบการชั่วคราว ในช่วงรอให้ธุรกิจฟื้นตัว
กสิกรย้ำโควิดยังไม่กระทบแผนธุรกิจ
นายกฤษณ์จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าจากผลกระทบโควิด 19 ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของคนในสังคม ธนาคารได้เร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ อีกทั้งธนาคารได้ดูแลประเด็นคุณภาพหนี้ และประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตด้านสินเชื่อปล่อยใหม่อย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ธนาคารได้ร่วมมือกับภาครัฐ ธปท. ในการออกมาตรการเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้และเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโควิด โดยมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือกับลูกค้า 3 ด้าน
ได้แก่
1. พักชำระเงินต้นจ่ายแต่ดอกเบี้ย หรือพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
2. ลดยอดผ่อนต่องวด
และ 3. ขอวงเงินสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงได้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัดและได้มีการจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (BCP)ในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ในด้านการดำเนินธุรกิจภายใต้โควิดระลอกใหม่คาดว่าเศรษฐกิจไทยนี้ มีแนวโน้มเติบโตลดลง มาอยู่ที่1.8% จากเดิมที่คาด2.6% โดยมองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าในระลอกก่อนหน้านี้ ความกังวลต่อสถานการณ์จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนซึ่งส่งผลต่อการบริโภคภาคครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกอาจดีกว่าที่คาด รวมถึงภาครัฐ ที่จะมีมาตรการต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
โดยตัวแปรสำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีน ทั้งนี้จากการประเมินโควิดระลอกใหม่ อาจยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางการเงินของธนาคารมากนัก โดยธนาคารยังคงเป้าหมายทางการเงินทุกตัวไว้ในระดับเดิม และยังคงมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงโดยพร้อมให้ความร่วมมือตามนโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในการช่วยพื้นฟูระบบเศรษฐกิจของไทย
อีกทั้ง ธนาคารจะติดตามสถานการณ์ รวมถึงความสามารถในการชำระคืนของลูกค้าอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ อีกทั้งยึดหลักการดำเนินธุรกิจตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน
และยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มอํานาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้าอีกทั้งได้พัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้า
ซึ่งครอบคลุมการเป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัล การยกระดับการปล่อยสินเชื่อทั้งด้านธุรกิจและบุคคล
รวมถึง การกระจายการให้บริการลงทุนและประกันไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อย และการขยายฐานลูกค้าในตลาดภูมิภาค AEC+3 พร้อมด้วยการยกระดับประสบการณ์บริการและการขาย การร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคร และธุรกิจสตาร์ทอัพและพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจมากขึ้นเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและความเป็นผู้นำในการให้บริการด้านดิจิทัลแบงกิ้งควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัยด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำแห่งภูมิภาค
แบงก์กรุงเทพ เปิดจุดโฟกัส 3C รับโควิด
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวทางการปรับตัวทางธุรกิจของธนาคารในสถานการณ์ปัจจุบันว่า บริการทางการเงินและการทำธุรกรรมต่างๆ ยังคงมีความสำคัญสำหรับลูกค้าอยู่เสมอ แต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือช่องทางการใช้งาน ดังนั้นธนาคารต้องเข้าใจลูกค้าและปรับตัวให้ทันเวลา
โดยเฉพาะต้องปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ธนาคารคงต้องให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง หรือ 3C ประกอบด้วย
1.Customer หรือการดูแลลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสมและทันเวลา โดยแบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ที่มีแนวทางในการดูแลแตกต่างกัน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ธนาคารมีมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบออกมารองรับโดยเฉพาะลูกค้าสินเชื่อที่สามารถขอเลื่อนชำระค่างวด ชำระบางส่วน หรือพักชำระ โดยลูกค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ทันที โดยเฉพาะลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม รวมไปถึงมาตรการด้านการสนับสนุนสภาพคล่องต่างๆ หรือการแก้ไขและบรรเทาปัญหา ตามที่ภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือมาในช่วงนี้ เพื่อให้สามารถฟื้นตัวกลับมาดำเนินการต่อได้เมื่อสถานการณ์เศษฐกิจคลี่คลาย
รวมถึง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย หรือสามารถปรับตัวได้ ลูกค้าอาจจะต้องการใช้บริการทางการเงินเช่นเดิม แต่ด้วยเงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างออกไป เช่น ใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นสำหรับการบริหารจัดการเงินของลูกค้าธุรกิจ
หรือในกรณีลูกค้าบุคคลที่เปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสนใจวางแผนการเงินและประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ต้องการการลงทุนในตลาดใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับโอกาสในอนาคต โดยทั้งหมดนี้ต้องสามารถทำธุรกรรมได้ง่าย ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล
และกลุ่มที่มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับพฤติกรรมหรือความต้องการของตลาดในปัจจุบัน เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเวชภัณฑ์ การค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนด้านการเงินเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ด้านที่สองคือ Channels หรือช่องทางการทำธุรกรรมที่ธนาคารได้พยายามแนะนำให้ลูกค้าเลือกใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น โมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ (Bangkok Bank Mobile Banking) บริการบัวหลวงไอแบงก์กิ้ง (Bualuang iBanking) เครื่องบัวหลวงเอทีเอ็ม (ATM) และเครื่องบัวหลวงรับฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM) ซึ่งสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกได้อย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเลือกใช้บริการตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ที่เทสโก้ โลตัส เซเว่นอีเลฟเว่น และบริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code)
โดยที่ผ่านมา ธนาคารให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และบริการหลายอย่างเพิ่มเติม เช่น การออกบริการโมบายแบงก์กิ้ง เวอร์ชั่นใหม่ ที่ใช้สะดวกมากขึ้น และมีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งฟีเจอร์ถอนเงินจากเครื่องเอทีเอ็มโดยไม่ใช้บัตร สามารถทำธุรกรรมด้านการลงทุนได้ครบวงจร และล่าสุดที่ได้เปิดให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม
เช่นเดียวกับการบริการสำหรับลูกค้าธุรกิจ ธนาคารได้ร่วมมือกับกรมสรรพากร เปิดตัวระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดย่อม ไปจนถึงความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจการเงินระดับโลกพัฒนาช่องทางใหม่
สำหรับบริการเทรดไฟแนนซ์ ด้วยการเปิด L/C (Letter of Credit) ข้ามประเทศได้ภายใน 1 ชั่วโมง โดยไม่ต้องส่งเอกสารที่เป็นกระดาษจำนวนมากระหว่างกัน ลดเวลาในการเรียกเก็บและชำระเงินจากเดิม 3 สัปดาห์ เหลือเพียง 24 ชั่วโมง
ด้านที่ 3 คือ Clean หรือความสะอาดปลอดภัยของทุกจุดให้บริการต่างๆ โดยเฉพาะสาขา และศูนย์บริการธุรกิจ และสำนักงานต่าง ๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยของทั้งลูกค้าและพนักงานโดยปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งการรักษาความสะอาด การตรวจวัดอุณหภูมิ การเว้นระยะห่าง รวมถึงแนวทางการปฏิบัติเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งการปิดพื้นที่ชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดฉีดพ่นฆ่าเชื้อ การกักตัวเองเพื่อสังเกตอาการ
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ปรับแผนการดำเนินงาน โดย Split Site/Split Team เพื่อกระจายความเสี่ยง และกำหนดให้พนักงานปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) เพื่อลดการเดินทาง และหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก
ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค ทั้งนี้ ยังยึดเป้าหมายการให้บริการลูกค้า ซึ่งธนาคารก็ได้สื่อสารเรื่องนี้ต่อเนื่องมาเป็นระยะ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ และย้ำเตือนให้พนักงานของธนาคารเองให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ด้วย
“โจทย์ของช่วงนี้ เน้นการสร้างความเชื่อมั่นและดูแลลูกค้าปัจจุบันอย่างใกล้ชิด และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการนำนโยบายด้านความช่วยเหลือต่างๆ มาดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของธนาคารในฐานะสถาบันการเงินแห่งหนึ่งของระบบ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล ซึ่งสะท้อนถึงการวางแผนการจัดการด้านระบบนิเวศทางดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสะอาดปลอดภัยในการใช้บริการช่องทางสาขา และสุดท้ายสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาตลอดก็คือการดูแลลูกค้าเหมือนเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่เรายึดถือมาตลอด โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ที่เราจะก้าวข้ามไปด้วยกัน”
ทั้งนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและปัจจัยท้าทายใหม่ ๆ ธนาคารกรุงเทพยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ของ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ที่เน้นดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด มีความเข้าใจลูกค้าอย่างถ่องแท้ และพร้อมสนับสนุนลูกค้าได้อย่างถูกต้องและทันการณ์ ซึ่งเป็นทางการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลให้ธนาคาร ลูกค้า ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
แบงก์กรุงศรีฯ เร่งช่วยลูกหนี้เชิงรุก
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งจำนวนวัคซีนยังไม่มีการกระจายทั่วประเทศ กรุงศรีมี มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
ทั้งเน้น มาตรการความปลอดภัยพนักงาน โดยมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องในการให้ความเข้าใจแก่พนักงานเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคเช่น ให้ทำงานอยู่บ้านมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ขอให้อัปเดตมาตรการป้องกันสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดให้เป็นปัจจุบันเสมอ อาทิเช่น ให้พนักงานรายงานสถานะการปฏิบัติงานที่บ้าน และรายงานสุขภาพผ่านแอปพลิเคชั่น iJoin ทุกครั้ง งดการเดินทางออกนอกพื้นที่ ฯลฯ รวมถึงสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และมีการเปิดช่องทางสื่อสารผ่านทาง LINE เพื่อตอบข้อซักถามของพนักงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ทันทีโดยเฉพาะ
รวมถึง ทางธนาคารกำลังศึกษาและเตรียมการร่วมกับสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญา เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานให้กับพนักงาน
สำหรับมาตรการการดูแลความปลอดภัยของลูกค้าและผู้มาติดต่อ ทั้งที่สาขาและสำนักงานต่างๆ ธนาคารยังคงเคร่งครัดในมาตรการเพื่อความปลอดภัยสูงสุดเช่นกัน
ส่วนการดำเนินธุรกิจ ธนาคารได้เตรียมการอย่างรอบคอบเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตามแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) ที่ได้จัดทำไว้แล้ว และในฐานะที่กรุงศรีเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) ธนาคารได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติโดยได้รับคำปรึกษาจากธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยในการระบุหน่วยงานธุรกิจหลักขององค์กร (Critical Business Function) และได้เริ่มดำเนินการตามแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจด้านการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19
อาทิเช่น การทำงานจากศูนย์ปฏิบัติงานสำรอง (Split Site) เพื่อยังคงให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่องท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ ท้าทาย อีกทั้งการแนะนำให้ลูกค้าใช้บริการของธนาคารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ Krungsri Mobile App (KMA) สำหรับลูกค้ารายย่อย และ Krungsri Biz Online (KBOL) สำหรับลูกค้าธุรกิจ ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังคงส่งผลต่อเนื่อง ทำให้การให้บริการทางโมบาย แบงกิ้งยิ่งถูกเร่งให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาให้สามารถตอบสนองการใช้งานได้เหมือนไปที่สาขาของธนาคาร ลดการเดินทาง เว้นระยะห่าง ซึ่งการพัฒนาจะมุ่งเน้นการส่งมอบประสบการณ์การใช้งานบนช่องทางดิจิทัลที่สะดวก ง่าย รวดเร็ว และปลอดภัยให้กับลูกค้าซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจภายใต้โควิด ท่ามกลางท่ามกลางความไม่แน่นอนและสภาพแวดล้อมที่ท้าทายสำหรับภาคการธนาคารและเศรษฐกิจไทย กรุงศรียังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจในบทบาทสำคัญของผู้ให้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ
โดยมุ่งให้ความสำคัญในการการช่วยเหลือลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่มและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้า กรุงศรียังคงดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 โดยติดตามและบริหารพอร์ตสินเชื่ออย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ ในปี 2564 กรุงศรียังคงเดินหน้าดำเนินงานตามแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปี 2564-2566 มุ่งให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
ควบคู่กับการเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดใหม่ๆ ภายนอกประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าทั่วทั้งอาเซียน ซึ่งพร้อมเป็นพันธมิตรที่คอยช่วยเหลือและเชื่อมโยงทุกความต้องการด้านการเงินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างครอบคลุมทั่วภูมิภาค
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you