บี้ต่างชาติลงทะเบียนซื้อบอนด์ สกัดเก็งกำไร-ลดความผันผวน “ค่าบาท”

แบงก์ชาติจ่อคุมต่างชาติซื้อบอนด์ไทยสกัดเก็งกำไร-ลดความผันผวนค่าเงินบาท เตรียมออกเกณฑ์บีบ “ยืนยันตัวตน” หลังปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องไปเมื่อสิ้นเดือน ก.พ. “ThaiBMA” หนุนออกนโยบายตรงจุด ขณะที่แบงก์เร่งเตรียมพร้อมระบบหลังบ้าน รับมือเกณฑ์ ธปท. บังคับใช้ดีเดย์ ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อแนวทางการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทย ระยะที่ 1
โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในโครงการให้นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยลงทะเบียนแสดงตัวตน (Bond Investor Registration : BIR) เพื่อให้ ธปท.ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรวดเร็ว สำหรับใช้ในการติดตามพฤติกรรมนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ (market surveillance) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย (FX ecosystem)
สำหรับระยะที่ 1 จะเป็นการดำเนินการในส่วนนักลงทุนที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (nonresident : NR) ส่วนระยะที่ 2 จะดำเนินการกับนักลงทุนในประเทศต่อไป ทั้งนี้ เหตุที่ต้องดำเนินการในส่วน NR ก่อนเนื่องจากที่ผ่านมามีข้อจำกัด และไม่มีข้อมูลที่จะสามารถใช้ติดตามธุรกรรมซื้อขาย และยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ของ NR ระดับผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (ultimate beneficiary owner : UBO)
โดยข้อมูลที่ ธปท.ได้รับในปัจจุบันมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ 1.ข้อมูลการซื้อขายรายธุรกรรมรายวันเป็นข้อมูลที่ผู้ค้าตราสารหนี้ในไทย (local dealer) ซื้อขายกับคู่ค้าประเภท NR โดยไม่ทราบชื่อและประเภทของ NR และ 2.ข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ของ NR ระดับ UBO รายเดือน ซึ่งรายงานโดยผู้รับฝากทรัพย์สินในประเทศ (local custodian) และมีความล่าช้า (lag time) 10 วัน
ดังนั้น แนวทางก็คือ ธปท.จะกำหนดให้นักลงทุนตราสารหนี้ที่เป็น UBO ลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. และเปิดบัญชีรับฝากหลักทรัพย์แบบแยกราย UOB ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างของตลาดตราสารหนี้จากปัจจุบันที่รับฝากหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ เป็น omnibus account
โดยการปรับปรุงจะเอื้อให้ทางการได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ ได้แก่ 1.ข้อมูลการส่งมอบหลักทรัพย์รายธุรกรรมรายวัน ราย UBO และ 2.ข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ราย UBO ซึ่ง ธปท.จะได้รับข้อมูลดังกล่าวจากบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) หรือ TSD ซึ่งจะสามารถทดแทนรายงานยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ราย UBO ที่ local custodian รายงานเป็นรายเดือนได้
ทั้งนี้ ธปท.ได้ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้จะนำความคิดเห็นที่ได้รับไปประกอบการออกแบบการดำเนินการของ BIR และการออกเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ และคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในต้นไตรมาส 4 ปี 2564 เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีเวลาเพียงพอในการดำเนินการตามกฎเกณฑ์
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า แนวทางนี้จะทำให้ ธปท.ตรวจสอบตัวตนของผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงได้ และวิเคราะห์ข้อมูลเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ได้ดีขึ้นว่าเป็นเงินประเภทไหน
ทำให้มีข้อมูลในการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และออกนโยบายได้ตรงจุด เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์จะดำเนินการผ่านผู้รับฝากทรัพย์สิน (custodian) จึงไม่สามารถทราบตัวตนที่แท้จริงได้ ทำให้บางช่วงเวลาเกิดฟันด์โฟลว์เข้ามาเก็งกำไร โดยปัจจุบันก็มีในบางประเทศนำร่องใช้แนวทางนี้ไปแล้ว เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น
“ปัจจุบันสมาคมมีการเก็บข้อมูลฟันด์โฟลว์ระหว่างวันและทุกสิ้นวัน แต่ก็ยังไม่ทราบตัวตนที่แท้จริงของนักลงทุนว่าคือใคร อาจจะเป็นเฮดจ์ฟันด์ กองทุนระยะยาว กองทุนเก็งกำไร หรือนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ ๆ ซึ่งเรามองไม่เห็น รู้แต่เป็นเงินก้อนของ nonresident เท่านั้น” นางสาวอริยากล่าว
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธปท.น่าจะพยายามหาวิธีชะลอฟันด์โฟลว์ที่เป็นเงินพักระยะสั้น (hot money) ซึ่งสร้างความผันผวนให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
โดยหากดำเนินการตามแนวทางที่ฟังความเห็น ก็จะมีส่วนช่วยให้ค่าเงินบาทผันผวนน้อยลง เพราะการให้นักลงทุนลงทะเบียนแสดงตัวตน จะทำให้ ธปท.ได้รับข้อมูลได้เร็วและลึกขึ้น สามารถดูพฤติกรรมการเข้ามาพักเงินระยะสั้นลักษณะเก็งกำไรได้ดีขึ้น
“เดิม ธปท.ไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง และข้อมูลที่รายงานก็ค่อนข้างช้า ซึ่งการลงทะเบียนจะทำให้ ธปท.ได้รับข้อมูลละเอียดขึ้น เช่น นาย ก.ลงทุนผ่านกองทุนในต่างประเทศ จากเดิมกองทุนเหล่านี้จะส่งพอร์ตการลงทุนรวมเป็นก้อน
อาทิ มีพอร์ตบริหารให้บุคคล 50 คน เม็ดเงิน 20 ล้านบาท เดิมไม่สามารถระบุได้ว่า 50 คน คือใคร ลงทุนอะไร แต่หลังจากนี้จะต้องรายงานว่า บุคคลที่ 1-50 ลงทุนอะไร ทำให้ ธปท.วิเคราะห์พฤติกรรมได้ใครสุ่มเสี่ยงจะเก็งกำไร จะได้ออกนโยบายตรงจุดมากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายทีม Investment and Markets Research ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตอนนี้ทุกธนาคารกำลังเร่งทำระบบหลังบ้าน มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 เพื่อรองรับการลงทะเบียนยืนยันตัวตนผู้ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทย ตามแนวทางของ ธปท. โดยคาดว่า ธปท.น่าจะประกาศใช้ภายในเดือน ต.ค. 2564 นี้
“ธปท.ต้องการข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อดูว่าเงินบาทที่แข็งค่าเกิดจากสาเหตุอะไร จะได้แก้ไขได้ตรงจุด เพราะเดิมใครจะมาลงทุนก็สามารถลงทุนได้เลยทันที แต่การลงทะเบียนจะทำให้ ธปท.เข้าใจฟันด์โฟลว์ รู้จักตัวตนว่าใครเข้าข่ายเก็งกำไร และหลายประเทศใช้อยู่แล้ว” นายสงวนกล่าว
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman

Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"