ก่อนอื่นขออนุญาตเกริ่นถึงแรงบันดาลใจของบทความนี้ว่ามาจากงานชิ้นหนึ่งของ ศาสตราจารย์ Clayton M.Christensen แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ปรมาจารย์ด้านนวัตกรรมผู้ล่วงลับ ซึ่งคุณ Steve Jobs แห่งบริษัท Apple เคยกล่าวว่า หนังสือของอาจารย์ที่ชื่อว่า
The Innovator's Dilemma เป็นหนังสือธุรกิจเพียงเล่มเดียวที่กระตุ้นแรงบันดาลใจได้อย่างลึกซึ้ง
แต่บทความนี้มาจากหนังสืออีกเล่ม คือ How Will You Measure YourLife ? ซึ่งเป็นการสรุปปาฐกถาพิเศษที่กล่าวไว้ในวันสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาโรงเรียนธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ตอบคำถามว่าเราควรจะวัดความสำเร็จของชีวิตอย่างไร
อาจารย์เล่าว่าในช่วงแรกๆของชีวิต เราอาจวัดความสำเร็จกันด้วยชื่อเสียง เงินทอง ความมั่งคั่ง การมีคู่สมรสที่หน้าตางดงามเพียบพร้อม แต่เมื่อผ่านไปหลายสิบปี อาจารย์พบว่า เพื่อนร่วมรุ่นของอาจารย์ที่มีเงินทองมากมายอาจไม่มีความสุขกับครอบครัวเผชิญการหย่าร้างหลายครั้ง ไม่มีเวลาคุยกับลูกหลาน หรือแม้กระทั่งอาจเลือกทางลัดเพื่อให้ร่ำรวยจนกระทั่งติดคุกดังนั้นอาจารย์จึงกระตุกความคิดของมหาบัณฑิตใหม่ด้วยคำถามที่ว่าเราจะวัดความสำเร็จอย่างไร หากเราเห็นด้วยว่าควรให้ความสำคัญกับครอบครัวสุขภาพ และความมั่นคงทางการเงิน มากกว่าชื่อเสียงและเงินทอง และเราจะดำเนินชีวิตอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้
หากประยุกต์คำถามนี้มาใช้กับนโยบายด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันเรากำลังใช้อะไรเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จเรากำลังประเมินเศรษฐกิจด้วยตัวเลข GDP เรากำลังดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อให้กระจายตัวทั่วถึงต่อผู้รับอานิสงส์ให้มากที่สุด หรือเรากำลังจะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวกันแน่ หากเป็นประการหลัง แล้วเราจะออกแบบมาตรการอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย จึงขอใช้แนวทางเดียวกับที่อาจารย์ใช้ถามลูกศิษย์ในหนังสือ
ประการแรกต้องเอื้อให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างสำคัญของมาตรการลักษณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงหลังของปีก่อนซึ่งเอื้อให้ผู้ประกอบการรายย่อยเป็นจำนวนมากสามารถใช้งานเทคโนโลยีทางการเงินและการตลาดออนไลน์เพื่อหาลูกค้ารายใหม่ ตลอดจนมีการปรับการให้บริการจากที่เคยมุ่งดูแลลูกค้าต่างชาติเป็นหลักมาเป็นการรับรองลูกค้าในประเทศด้วย
ประการต่อมาต้องติดตามความคุ้มค่าของการดำเนินการทั้งก่อนและหลังเพื่อให้ผลบวกทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงต่อ GDP และทางอ้อมในการเสริมสร้างศักยภาพในระยะยาวคุ้มทุนกับเม็ดเงินงบประมาณทางการคลังดังนั้น เราจะทุ่มงบประมาณก็ต่อเมื่อสามารถแก้ปัญหาระยะสั้นพร้อมกับระยะยาวอาทิการพัฒนาทักษะการให้บริบาลผู้สูงอายุแก่ผู้ว่างงาน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างรายได้ แต่จะช่วยรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศ
ประการสุดท้าย ต้องดำเนินการสอดประสานกับมาตรการอื่นๆ เช่นมาตรการด้านความมั่นคงและมาตรการทางสังคม มิฉะนั้น หากกระตุ้นเศรษฐกิจแต่มีผลข้างเคียงให้ธุรกิจบางประเภทเติบโต เช่น ธุรกิจที่ประกอบการในสถานที่อโคจรคงจะได้ไม่คุ้มเสีย เช่น ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำแล้วซ้ำอีก
โดยสรุป มาตรการทางเศรษฐกิจที่เรากำลังดำเนินอยู่อาจมีผล Quick Win ในการเทเม็ดเงินลงสู่สังคมในวงกว้างซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยไม่ให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจแย่ลงเกินควรแต่มาตรการเหล่านี้จะเข้าข่ายสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวหรือไม่ ท่านผู้อ่านลองตอบเองในใจว่ามาตรการที่ใช้ในขณะนี้จะเอื้อให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลง มีการติดตามความคุ้มค่าและสอดประสานกับมาตรการอื่นๆหรือไม่
คอลัมน์ บางขุนพรหมชวนคิด: โดย ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.
**บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด**
Source: ไทยรัฐออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-----------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you