แบงก์ชาติสรุปตั้ง “โกดังเก็บหนี้” ก่อนสิ้นปี เผยกำลังหากลไกดูแลราคาซื้อพอร์ตสินทรัพย์ให้ยอมรับได้ทั้งฝั่ง “ผู้ซื้อ-ผู้ขาย” แย้มดึง บสย.ช่วยค้ำประกัน ระบุสินทรัพย์ที่เข้าโกดังไม่จำเป็นต้องเป็นเอ็นพีแอลอย่างเดียว “หนี้ดี”ก็แช่แข็งได้
ฟากสถาบันการเงินลุ้นทางการเคาะวิธีช่วย 2 แนวทางให้เอกชนเลือกดำเนินการได้
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหากลไกช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และต้องการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่เข้าสู่การพักกิจการชั่วคราว หรือ warehousing (โกดังเก็บหนี้) ซึ่งจะต้องหาแนวทางช่วยให้สินทรัพย์ที่เข้าไปเก็บใน warehousing มีราคาที่ดีในระดับที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายพึงพอใจ
ทั้งนี้ ความคืบหน้าการ warehousing นั้น ธปท.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หน่วยงานในตลาดทุน รวมถึงสมาคมธนาคารไทย ถึงการจัดการหลากหลายแนวทาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป อาทิ การตั้งกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) เป็นต้น โดยรายละเอียดการจัดตั้งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2563 นี้
“หัวใจสำคัญของ warehousing คือ จะต้องมีคนเข้ามาค้ำประกัน หรือทำอย่างไรให้มีการขายสินทรัพย์ของลูกหนี้เข้ามาใน warehousing ในราคาที่ทุกคนยอมรับได้ ทั้งลูกหนี้เองและเจ้าหนี้ ซึ่ง warehousing จะตั้งเป็นอีกนิติบุคคลหนึ่งเพื่อมาดูแลสินทรัพย์ แต่จะตั้งรูปแบบไหน ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป” นายรณดลกล่าว
โดยหลักการสากลการขายสินทรัพย์เข้าwarehousing ไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เท่านั้น สามารถเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด เช่น จำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว ก็สามารถขายสินทรัพย์เข้ามาแช่แข็งไว้ก่อนได้ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ก็สามารถขายหนี้ดีออกมาได้ หากได้รับความยินยอมจากลูกหนี้
“ธุรกิจที่จะขายสินทรัพย์เข้ามาใน warehousing ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเท่านั้น ธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถขายสินทรัพย์ได้ โดยต้องมีแนวทางที่เข้าดูแล ถ้าเข้าไปใน warehousing แล้วเงินทุนในการซื้อสินทรัพย์มาจากไหน
อีกทั้งผู้ลงทุนยังต้องมีความเชื่อมั่นที่ตนเองลงทุนด้วย ว่ากองทุนนี้มีความชัดเจนในเรื่องของความเสี่ยง หรือต้องมีการค้ำประกันให้ ถ้า warehousing เป็นการแช่แข็งธุรกิจเอาไว้ เมื่อวันไหนเหตุการณ์ดีขึ้นก็เปิดตู้เย็นออกมา รูปแบบสากลจะให้ลูกหนี้ขอซื้อกิจการคืนได้”
ส่วนกรณีที่มีการจัดตั้ง Private Fund ของนักลงทุนต่างชาติและเอกชนของไทย เพื่อเข้ามาซื้อสินทรัพย์ในประเทศ ที่อาจจะมีการกดราคานั้น นายรณดลกล่าวว่า ราคาซื้อขายจำเป็นต้องตอบโจทย์ได้ทั้งผู้ลงทุนและเจ้าของสินทรัพย์
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า warehousing เป็นเครื่องมือที่ ธปท.กำลังศึกษา ซึ่งทางสถาบันการเงินก็ต้องการให้ ธปท.สนับสนุนในบางเรื่อง เพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งไม่เป็นภาระของธนาคารพาณิชย์และลูกหนี้ เช่น ได้มีการหารือกับทางกรมสรรพากรเรื่องการขอยกเว้นภาษีในการตีโอนชำระหนี้ รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต เป็นต้น
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การ warehousing ที่หารือกัน ขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ การตั้งกองทุนขึ้นมาบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อให้แบงก์ขายพอร์ตหนี้ไปพักไว้ กับแนวทางที่แบงก์ยังเก็บพอร์ตหนี้ไว้ แต่ต้องให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อให้แบงก์มากขึ้น เพื่อช่วยลดความสูญเสียในกรณีเกิดการผิดนัดชำระหนี้
ซึ่งจะช่วยให้แบงก์ไม่มีภาระเพิ่มขึ้นมากในเรื่องการตั้งสำรองหนี้ อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ทั้ง 2 แนวทางคู่กัน เพื่อให้แบงก์สามารถเลือกวิธีบริหารจัดการได้
นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ต้องรอดูโมเดลและแนวทางการทำ warehousing ของ ธปท.ว่าจะออกมาแบบใด โดยการดำเนินการต้องขึ้นกับลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมด้วยว่าประสงค์จะเข้าโครงการหรือไม่ เพราะมีกฎระเบียบด้วย เช่น เข้าโครงการแล้วจะซื้อคืนธุรกิจได้หรือไม่ เป็นต้น
“ที่ผ่านมาก็มีลูกค้าถามถึงหลักเกณฑ์ เพราะส่วนหนึ่งยังต้องการทำธุรกิจต่อ ซึ่งการทำ warehousing ถือเป็นทางออกหนึ่งให้กับลูกค้าในช่วงที่มีภาวะวิกฤตหรือช็อก แตกต่างไปจากการให้ซอฟต์โลนที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าเท่านั้น
โดยตอนนี้เราก็รอดูโมเดลว่าจะออกมารูปแบบไหน แต่ถือเป็นแนวทางที่ดี และก็มีธุรกิจโรงแรมที่สนใจจะเข้าโครงการ หากทำให้ธุรกิจเขาไปต่อได้”
นางอภิพันธ์ กล่าวว่า ไทยพาณิชย์มีลูกค้าธุรกิจโรงแรมที่ยังต้องได้รับความช่วยเหลือ หลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ราว 220 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 1.1 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มโรงแรมของแบงก์ทั้งสิ้น 1.6 หมื่นล้านบาท หรือจำนวนลูกหนี้ 350 ราย โดยการช่วยเหลือเพิ่มเติมของแบงก์ ก็มีการพักหนี้ให้อีก 3-6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการราวเดือน มี.ค. 2564
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
-----------------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you