อย่าว่าแต่ เราๆ ท่านๆ จะมึนเลยว่า อยู่ดีๆ ธนาคาร กรุงไทย ที่เราคิดและเข้าใจมาตลอดว่า เป็นธนาคารของรัฐและเป็นรัฐวิสาหกิจ วันหนึ่งจะถูกคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) วินิจฉัยว่า กรุงไทย ไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
เหตุเพราะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ เอฟไอดีเอฟ ถือหุ้นในสัดส่วน 55.07% นั้น ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นกัน
เพราะแม้แต่กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงไทย อย่างนายผยง ศรีวณิช ยังอึ้งๆ ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ เพราะต้องขอศึกษาในรายละเอียดของกฎหมายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีอยู่หลายฉบับด้วยกัน ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงจำนวนพนักงานที่มีเกือบ 3 หมื่นราย จะระส่ำหรือมึนงง แค่ไหน
ทั้งที่ว่ากันตามหลักความเป็นจริงแล้ว ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่แรก ไม่ได้เป็น 1 ใน 44 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และไม่ได้นำเงินส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน เพราะกระทรวงการคลัง ถือหุ้นเพียง 50,000 หุ้น หรือประมาณ 1% ของหุ้นทั้งหมดเท่านั้น
เพราะนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 2540 สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งประสบปัญหาถูกถอนเงินจนขาดสภาพคล่อง กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เข้ามาช่วยเพิ่มสภาพคล่องและกลายเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงธนาคาร กรุงไทยด้วย ดังนั้นที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูฯ จึงมีอำนาจในการบริหารกรุงไทยมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการแทน ทำให้ลักษณะการทำงานหรือบทบาทของกรุงไทย เปรียบเสมือนการเป็นรัฐวิสาหกิจมาโดยตลอด แต่หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคำนิยามของคำว่า รัฐวิสาหกิจใหม่ว่า จะต้องเป็นหน่วยงานหรือกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นเกิน 50% ดังนั้น กรุงไทย จึงถูกหยิบยกขึ้นมาตีความให้ชัดเจนและจริงจังมากขึ้นว่า ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจอย่างแน่นอน แม้ที่ผ่านมา จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอยู่แล้วก็ตาม
นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สคร.ระบุว่า จากนี้ สคร.จะเข้าไปดูขอบเขตของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร กรุงไทย หรือเกี่ยวกับการเป็นรัฐวิสาหกิจว่าเป็นอย่างไร และวิเคราะห์ถึงสถานะตามกฎหมายให้ชัดเจนว่า การบริหารจัดการของกรุงไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร
"ที่ผ่านมา คลังมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่โหวต หรือ ดำเนินงานต่างๆ แทนกองทุนฟื้นฟูฯ แต่หลังจากนี้ ก็จะต้องไปดูสถานะของกฎหมายที่มีความทับซ้อนกันอยู่ว่า มีกฎหมายตัวไหนอีกบ้างที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการสั่งการให้กรุงไทยทำอะไรได้ เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่ก็มีกฎหมายอะไรที่ต้องปฏิบัติตามได้ หรือมีอำนาจเชื่อมโยงกับรัฐอยู่อีกหรือไม่"นายชาญวิทย์ กล่าว
สำหรับการทำงานของกรุงไทยหลังจากนี้ ก็อาจจะไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก โดยกรุงไทย ถือเป็นองค์กรมหาชน ที่กำกับดูแลโดยผู้ถือหุ้น ฉะนั้นทิศทางการดำเนินนโยบายต่างๆ จะขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นมากกว่า ซึ่งกระทรวงการคลัง ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะธนาคารของรัฐเกิดขึ้นมาเฉพาะ ตามกฎหมายเฉพาะที่จัดตั้งขึ้น จึงเรียกว่า ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังมีอำนาจในการกำกับดูแล ภายใต้คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตรง
สำหรับการทำงานพนักงาน หรือผลตอบแทนที่จะได้รับหลังจากนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ก็ไม่มีอำนาจในการกำหนดอัตราผลตอบแทนประจำปีใดๆ กับกรุงไทยอยู่แล้ว แตกต่างจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่กำหนดว่าจะต้องเสนอแผนงาน และประเมินผล หรือ KPI ที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนระหว่างปีกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นเป็นหน้าที่ของกรุงไทยที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเองได้
"ที่ผ่านมากรุงไทยก็ไม่เคยต้องกำหนด KPI เพื่อเสนอ ครม. แต่เขาเอาหลักเกณฑ์นี้ไปอ้างอิง เพื่อจ่ายโบนัสให้กับพนักงานของเขา แต่การกำหนดขั้นหรือเงินต่างๆ ก็แล้วแต่เขา ไม่เกี่ยวกับเรา"นายชาญวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีสถานการณ์เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ธนาคารกรุงไทย จะยังเป็นหนึ่งธนาคารที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐต่อไป
เราคงพอมองภาพออกแล้วว่า แม้กรุงไทย จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นองค์กรมหาชน ที่ยังต้องเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการดำเนินนโยบายรัฐ และในแง่การเป็น บจ. ยังต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลท. ดังนั้นสิทธิประโยชน์พึงมีพึงได้ ของพนักงานก็จะยังเป็นไปตามเกณฑ์เดิม ตามที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติ
แต่สิ่งที่กระทบอย่างชัดเจนคือ สหภาพแรงงาน จากปัจจุบันที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 จะต้องกลับไปใช้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เหมือนกับที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องกลับไปใช้ เพื่อพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ
Source: ฐานเศรษกิจออนไลน์
เพิ่มเติม
- คลังได้ทางออกแล้ว! หน่วยงานรัฐฝากเงิน 'กรุงไทย' ต่อได้ :
-------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you