ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้หดตัว -8.3% อัตราเงินเฟ้อ -0.9% แต่หากเป็นกรณีที่แย่สุดคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว -10.4%
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้หดตัว -8.3% อัตราเงินเฟ้อ -0.9% แต่หากเป็นกรณีที่แย่สุดคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว -10.4% จากนั้นในปี 64 เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 4.9% อัตราเงินเฟ้อ 1% แต่หากเป็นกรณีที่แย่สุดคาดว่าเศรษฐกิจไทยก็จะยังขยายตัวได้ 3.5%
ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต่างมีความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาด ที่นำไปสู่การลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ผลลัพธ์ของแต่ละประเทศขึ้นจะอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของประเทศนั้นๆ ว่าสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และประเทศได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
เวิลด์แบงก์ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (อีเอพี) จะเติบโตได้เพียง 0.9% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ พ.ศ.2510 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 63 พบว่าเศรษฐกิจประเทศจีนหดตัวลง 1.8% ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เศรษฐกิจหดตัวลงเฉลี่ย 4%
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกใน 3 ด้านต่อประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอีเอพีคือ ความกังวลจากปัญหาโรคระบาด, ความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยาวนาน
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนปี 2563 จะขยายตัว 2% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 1% เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยรายงานระบุว่า จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวสวนทางภูมิภาค โดยคาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 1.8% ในปีนี้ และ 7.7% ในปีหน้า โดยได้แรงหนุนจากการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จ
Source : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
**********
ธนาคารโลกเผย เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเผชิญแรงกระแทก 3 ทางจากวิกฤตโควิด-19 : ธนาคารโลก เปิดเผยว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องเตรียมรับแรงกระแทก 3 ทางจากทั้งวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เอง และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินมาตรการควบคุมต่างๆ รวมทั้ง แรงกระเพื่อมจากสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศลงมือดำเนินการนโยบายที่จำเป็นเพื่อรักษาสภาพเศรษฐกิจและป้องกันไม่ให้ปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้นหลังจากนี้
ในรายงานล่าสุดที่ชื่อ From Containment to Recovery ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจประจำเดือนตุลาคมของปีนี้ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลกชี้ว่า ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัสได้ และทำการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนได้พอควร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจของทั่วโลกอย่างมากอยู่ดี แต่ความต้องการจากทั่วโลกกลับยังอยู่ในภาวะซบเซา
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตในอัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ อันเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออกที่ยังแข็งแกร่ง และอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต่ำ แต่ในเวลาเดียวกัน การขยายตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาคนี้น่าจะปิดตัวปีนี้ที่ติดลบ 3.5 เปอร์เซ็นต์
สำหรับในปีหน้า ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตประมาณ 7.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ จะขยายตัวราว 5.1 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้สมมติฐานว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ กลับคืนสู่สภาพปกติได้ เนื่องจากมีวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมาใช้งาน
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า อัตราความยากจนในภูมิภาคนี้จะขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ด้วยตัวเลขคนยากจนราว 38 ล้านคนที่ไม่สามารถหลุดพ้น หรือกลับเข้าสู่ภาวะยากจนอีกครั้งเพราะวิกฤติโควิด-19
วิกตอเรีย ควาควา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า โควิด-19 ไม่ใช่เพียงกระทบกลุ่มคนยากจนมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังสร้าง “คนจนกลุ่มใหม่” ขึ้นมาด้วย ทำให้ภูมิภาคนี้ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมายที่ไม่เคยมีมาก่อน และรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องทำการตัดสินใจอย่างยากลำบากด้วย
ขณะเดียวกัน รายงานล่าสุดนี้ เตือนว่า หากรัฐบาลทั้งหลายไม่ดำเนินการต่างๆ เพื่อรับมือทุกทางแล้ว วิกฤตครั้งนี้อาจทำให้อัตราการเจริญเติบโตของโลกในช่วงทศวรรษหน้าลดลงได้ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยครัวเรือนที่ยากจนจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
Source: VOA Thai
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
--------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you