อาฟเตอร์ช็อก (After Shock) คือ แผ่นดินไหวระลอกหลังต่อจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านไป บางครั้งอาจอันตรายไม่แพ้รอบแรกเพราะอาจเกิดหลายรอบ คาดเดาได้ยาก และมาในยามที่โครงสร้างต่างๆ ร้าว ใกล้พังมิพังแหล่อยู่แล้ว
หากการปิดเมืองจากโควิด-19 รอบที่ผ่านมาเป็นเสมือนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สิ่งที่เราต้องระวังตอนนี้ก็คือ ‘อาฟเตอร์ช็อก’ ต่อเศรษฐกิจที่น่าจะมาจากอย่างน้อย 2 ทางหลักๆ คือ ช็อกจากการระบาดระลอกสอง และช็อกจากภาคการเงิน
อาฟเตอร์ช็อกจากไวรัส
ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศที่ขึ้นชื่อว่าควบคุมไวรัสได้ดีเกิดการระบาดระลอกสองขึ้นมา เช่น เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ข่าวดีคือ ณ วันที่เขียน (วันที่ 6 กรกฎาคม 2563) เราไม่มีกรณีติดเชื้อในประเทศติดต่อกันมากกว่า 40 วัน
แต่ข่าวไม่ดีนักคือ บททดสอบที่แท้จริงอาจยังไม่มาถึง เราอาจสอบกลางภาคผ่าน แต่สอบใหญ่กำลังจะมา นั่นคือเมื่อเราเริ่มเปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศโดยไม่มีการกักตัว
ฟื้นได้ไหมโดยไม่มีท่องเที่ยวต่างประเทศ?
แม้ว่าช่วงนี้จะมีข่าวว่าการท่องเที่ยวในประเทศกระเตื้องขึ้น โรงแรมบางแห่งถูกจองเต็ม ร้านบางร้านเริ่มแน่น แต่เราควรระมัดระวังในการตีความข้อมูลเหล่านี้
หนึ่ง การเดินทางท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอาจสะท้อนอาการเก็บกด (เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า ‘Revenge spending’ หรือ ‘การใช้จ่ายแบบล้างแค้น’) ที่สะสมมานานหลังพ้นช่วงที่ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้
แต่การใช้จ่ายแบบนี้อาจมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่ทำได้ และอาจหมดก๊อกเมื่อ ‘ความเก็บกด’ จางไป
นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมด้วยว่าปริมาณการท่องเที่ยวที่เยอะขึ้นอาจมาจากการแจกโปรโมชั่นพิเศษของโรงแรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้คนกลับมาเที่ยว ซึ่งแปลว่ารายได้เข้ากระเป๋าอาจน้อยกว่าช่วงปกติมาก พร้อมกับต้นทุนต่อหัวที่สูงขึ้นเพราะมาตรการเพื่อรักษาความสะอาดและระยะห่าง
สอง การท่องเที่ยวในประเทศทดแทนการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ยาก
ก่อนโควิด-19 มาเยือน รายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นมากถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาทต่อปี สูงกว่าไทยเที่ยวไทยประมาณ 2 เท่า
นั่นแปลว่าเราต้องให้คนไทยโดยรวมควักกระเป๋าท่องเที่ยวมากกว่าเดิมสองเท่า เพื่อจะอุดช่องว่างจากการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่หายไป แต่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การทำเช่นนั้นคงไม่ง่ายนัก (ดูรายงานจาก KKP Insights)
แม้ว่าคนไทยที่ชอบเที่ยวต่างประเทศในอดีตทั้งหมดจะหันมาเที่ยวไทยแทน ก็ยังไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างได้ เพราะโดยเฉลี่ย คนไทยเที่ยวต่างประเทศใช้เงินประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 5 ของท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
สาม คนไทยอาจเที่ยวคนละจังหวัดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การวิเคราะห์ข้อมูลความถี่สูง เช่น Mobility data โดย Krungthai Compass ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าจังหวัดที่การท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวเร็วที่สุดคือ กลุ่มที่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากนักและอยู่ใกล้กรุงเทพ เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา หรือประจวบคีรีขันธ์ที่เดินทางโดยรถได้
ในทางกลับกัน จังหวัดที่ฟื้นช้าที่สุด คือกลุ่มที่อยู่ห่างจากกรุงเทพ ต้องพึ่งพาการบินและนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูง เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ หรือพังงา
จังหวัดเหล่านี้ คือกลุ่มที่มี over supply สูงที่สุดเช่นกัน เพราะปกติจะเป็นหัวหอกของการท่องเที่ยว นั่นแปลว่ามีความเสี่ยงที่ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดตัวหรือไล่พนักงานออก เพราะไม่สามารถอยู่ได้ในวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเพียงพอ
‘สกัดไฟให้ทัน’
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
แม้ว่าการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจะทำอย่างระมัดระวังตามแนวทางของ Travel Bubble โดยให้มีการคัดเลือกกลุ่มคนและประเทศที่จะเข้ามาได้ แต่ก็ยังต้องยอมรับว่าคงยากที่จะคุมไม่ให้มีการติดเชื้อเกิดขึ้นเลย
ดังนั้น ควรมีมาตรการเสริมรับมืออีกขั้นคือ การมีมาตรการ Damage control หรือ ‘สกัดไฟ’ ไม่ให้ลาม หากพบผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิด Super Spreading Event (SSE) เช่นสถานที่ปิด (indoor) ที่มีคนหนาแน่นและมีการพูดกันเสียงดัง อาจเป็นแหล่งกระจายการติดเชื้อให้กระโดดสูงขึ้นจนอาจไม่ใช่ ‘อาฟเตอร์ช็อก’ แต่เป็น ‘ช็อก’ (‘Shock’) ใหญ่ลูกใหม่
หัวใจคือ การมีระบบ Test Trace และ Isolate (TTI) ที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะการแกะรอย (Trace) เพื่อตามดูว่าคนที่ติดเชื้อไปที่ไหนมาบ้าง เสี่ยงแพร่เชื้อกับใครบ้าง จะได้ป้องกันการแพร่กระจายได้ทันท่วงที
แม้ว่าการใช้งบประมาณรัฐลงไปกับการพัฒนาระบบและกำลังคนสำหรับการทำ TTI อาจหน้าตาไม่เหมือนนโยบายเศรษฐกิจ แต่อาจเป็น ‘การกระตุ้นเศรษฐกิจ’ ที่คุ้มค่าและมีประสิทธิผลที่สุดรูปแบบหนึ่ง หากมันทำให้เราเปิดประเทศ-เปิดเมืองได้มากขึ้น
อาฟเตอร์ช็อกจากภาคการเงิน
อาฟเตอร์ช็อกอีกตัวที่ต้องระวังนั้น มาจากภาคการเงินซึ่งอาจถูกกระแทกจนมีรอยร้าวอยู่แล้วจากช็อกรอบแรก
สำหรับประเทศไทย ประเด็นที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้รายย่อยที่มีความท้าทายหลายมิติ
หนึ่ง จำนวนคนที่ถูกกระทบและมูลค่าหนี้มีขนาดใหญ่ ในวันที่เขียน มีลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการพักภาระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงสามเดือนแรกถึง 11.5 ล้านบัญชี มูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท
สอง หนี้รายย่อยผูกโยงกับ SMEs อย่างแน่นแฟ้น เพราะคนไทยมักไม่กู้ผ่านธุรกิจ แต่กู้ในชื่อตัวเองแล้วนำเงินไปใช้ในบริษัท
สาม เราไม่รู้ว่าธุรกิจที่ใช้มาตรการพักภาระหนี้นี้ มีสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ที่ถูกกระทบจากโควิด-19 ชั่วคราว มีกี่ส่วนที่จะยังถูกกระทบต่อไปจนกว่าจะมีวัคซีน และมีกี่กลุ่มที่อาจไม่มีธุรกิจให้กลับไปทำแล้วไม่ว่าจะรอนานแค่ไหน เพราะโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19
ระวัง ‘แผลเป็น’ ทางเศรษฐกิจ
ที่สำคัญ เราอาจยังไม่มีกลไกและระบบที่สามารถแก้ปัญหาหนี้รายย่อยที่มีปริมาณมากขนาดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ดูบทความ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย)
หากผู้คนจำนวนมากต้องเข้ากระบวนการล้มละลาย โดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดในเวลาเดียวกัน อาจทำให้ทั้งฝั่งลูกหนี้และเจ้าหนี้เดือดร้อน เกิดเป็นเสมือน ‘แผลเป็น’ ทางเศรษฐกิจ ทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ช้าแม้อาฟเตอร์ช็อกผ่านไปแล้ว คล้ายกับนักกีฬาที่หายเจ็บแล้วยังไม่สามารถกลับไปเล่นได้อย่างเก่า
ด้านลูกหนี้ นอกจากธุรกิจจะล้มไปแล้ว อาจเสียทรัพย์สินสำคัญที่อาจจำเป็นทั้งในการทำธุรกิจหรือแม้แต่การใช้ชีวิต (เช่น หากใช้บ้านเป็นหลักประกัน) จนหันเข้าหาหนี้นอกระบบ ทำให้ยิ่งติดหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถเริ่มต้นธุรกิจหรือสร้างอาชีพใหม่ได้
ส่วนเจ้าหนี้ก็มีหลักประกันที่ขาดสภาพคล่องมากองกันอยู่เป็นจำนวนมาก หากขายพร้อมกัน ราคาก็จะตกหนัก แม้ระบบธนาคารไทยจะมีฐานะการเงินและทุนสำรองที่เข้มแข็ง ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องวิกฤตการเงินไปได้ แต่สถาบันการเงินต่างๆ ก็อาจอยู่ในสภาพที่ต้องรัดเข็มขัด ไม่สามารถออกสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยธุรกิจต่างๆ ให้ฟื้นตัวได้
ป้องกัน ‘อาฟเตอร์ช็อก’ ทางการเงินและ ‘แผลเป็น’ ทางเศรษฐกิจ
เราจำเป็นต้องช่วยกันคิดให้ตกผลึกว่าจะป้องกันอาฟเตอร์ช็อกการเงินและแผลเป็นทางเศรษฐกิจนี้ได้อย่างไร แต่ในเบื้องต้นคิดว่ามี 3 ส่วนที่สำคัญ
ส่วนแรก คือการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาชั่วคราวให้ผ่านพ้นพายุโควิด-19 นี้ไป โดยกุญแจสำคัญคือนโยบายการเงินและการกำกับสถาบันการเงินที่รักษาสมดุลระหว่างสุขภาพของภาคการเงินและสุขภาพของลูกหนี้
หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ ‘สถาบันการเงินต้องรอดแต่อย่ารวย (เกิน)’ ต้องใช้กำลังทุนที่มีมาช่วยลูกหนี้ให้รอดไปด้วยกันด้วย (อ่านต่อได้ในบทความ นโยบายการเงิน 3 กระบวนท่า 5T)
ส่วนที่สอง คือการช่วยลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ต่อให้ยืดเวลาผ่อนปรนให้เริ่มต้นใหม่ได้ โดยให้ไม่เกิดภาวะภัยทางศีลธรรม (moral hazard) และไม่ฉุดสถาบันการเงินไปด้วย
ในส่วนนี้ ผมมองว่าข้อเสนอของคุณสฤณี อาชวานันทกุลในเรื่อง การออกกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา การตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ และการมีที่พักสินทรัพย์ดี (Asset Warehousing) เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก
ส่วนที่สาม คือการช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหาโดยใช้เครื่องมือการเงินแบบกึ่งหนี้กึ่งทุนโดยมีรัฐสนับสนุน คล้ายที่ทาง Chief Economist ของ IMF เพิ่งเสนอ คือในช่วงแรก ผู้ที่ออกตราสารนี้/ผู้ได้รับความช่วยเหลือ (เช่น ธุรกิจโรงแรม) ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือจ่ายในอัตราที่ต่ำมากในช่วงที่ไม่มีรายได้ แต่ในระยะยาวเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ไวรัสผ่านไป ผู้ถือตราสารสามารถเปลี่ยนตราสารนี้ให้เป็นหุ้นในบริษัทได้ ทำให้ได้ส่วนแบ่งของกำไรในอนาคต (upside)
วิธีการเพิ่มทุนเช่นนี้ที่เป็นที่นิยมในหมู่สตาร์ทอัพที่มักขาดสภาพคล่องในช่วงแรก แต่ในกรณีนี้ รัฐอาจต้องเป็นพระเอกตั้งกองทุนมาลงทุนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจน้ำดีที่เผชิญปัญหาชั่วคราว
New Abnormal ที่แท้ทรู
ในวันที่วัคซีนยังมาไม่ถึง เรากำลังอยู่ในสภาวะ ‘ไม่ปกติใหม่’ แบบที่เคยคาดไว้อย่างแท้จริง
โจทย์ไม่ได้มีแค่การ ‘อยู่รอด’ แต่ต้อง ‘อยู่เป็น’ คือเดินไปข้างหน้า แต่ต้องคอยระวังอาฟเตอร์ช็อกระลอกใหม่ ไม่ว่าจะมาจากไวรัสหรือดภาคการเงิน
แม้นโยบายรับมือสองช็อกจะต่างกันในรายละเอียด แต่หัวใจอยู่ตรงการบริหารความเสี่ยง (Risk management) รักษาสมดุล (Balancing Act) การปรับตัวอย่างรวดเร็ว (Agility) ตามข้อมูลจริงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (Data driven)
สอบมิดเทอมคุมโควิด-19 ผ่านแล้วอย่าประมาท ต้องสอบไฟนอลให้ผ่านด้วยกันครับ
โดย Santitarn Sathirathai
Source: 101 World
---------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you