สังคมไทย (กำลัง) ไร้เงินสด?

les"e-Payments ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินสดของประชาชน อย่างไรก็ดี เราอาจสรุปได้แค่เพียงว่า สังคมไทยยังไม่ใช่ cashless แต่เป็น less cash หากจะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว

อาจต้องมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของผู้ให้บริการ ตลอดจนประชาชนอยากใช้และมั่นใจในความปลอดภัย"

"สังคมไร้เงินสด (cashless society)” ได้รับ การกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจากระบบการชำระเงินที่พัฒนาขึ้นช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้จ่าย และลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน ทำให้ผู้คนเริ่มพกเงินสดกันน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลชี้ว่าแม้คนไทยจะนิยมใช้ e-Payments ในการชำระเงินมากขึ้นแต่การใช้เงินสดก็ยังถือเป็นสื่อกลางหลักของการชำระเงิน สะท้อนจากสัดส่วน เงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ (currency in circulation: CIC) ต่อ GDP ที่ไม่ได้ปรับลดลง แต่ทรงตัวที่ประมาณร้อยละ 9.0 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการใช้ e-Payments ต่อ GDP กลับเพิ่มขึ้นในระยะหลัง (ภาพที่ 1)

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในแง่ของการเพิ่มขึ้นหรือการเร่งตัวระหว่างการใช้เงินสดและ e-Payments อาจกล่าวได้ว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของปริมาณเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เติบโตชะลอลงกว่าครึ่งเทียบกับช่วงปี 2004-2013 ในทางกลับกันปริมาณการใช้ e-Payments ของคนไทยกลับเร่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในลักษณะ exponential growth ซึ่งเห็นได้ชัดจาก ความนิยมในการใช้ e-Payments ผ่าน internet-mobile banking (ภาพที่ 2 และ 3)

"สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) หรือไม่" จำเป็นต้องเข้าใจบางประเด็นอย่างถ่องแท้ ได้แก่ (1) ประเภทและลักษณะสำคัญของ e-Payments (2) นิยามของปริมาณเงินในความหมายต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องชี้สะท้อนประเภทการใช้จ่ายและระดับของการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด รวมทั้ง (3) ความสัมพันธ์ของ e-Payments และปริมาณเงิน

1.e-Payments และปริมาณเงินหมายถึงอะไร และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

1.1 e-Payments คืออะไร มีกี่ประเภท

การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payments) เป็นช่องทางการชำระเงินที่ประมวลผลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ให้บริการทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยงานศึกษานี้ขอมุ่งประเด็นไปที่การชำระเงินรายย่อย (retail e-Payments) ซึ่งธุรกรรมส่วนใหญ่ประมวลผลผ่านบัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์ โดย e-Payments ในงานศึกษานี้แบ่งได้ 3 กลุ่มหลักตามประเภทของสื่อการชำระเงิน (instruments) ได้แก่ บัตรเครดิตและบัตรเดบิต (card payment) การโอนและชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ (internet - mobile banking) และเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) [1]

[1] หมายถึงเงินสดที่อยู่ในรูปของสื่อการชำระเงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น multi-purpose stored value card e-Purse e-Wallet และ smart card

1.2 ปริมาณเงินหมายถึงอะไร มีนิยามใดบ้าง

ธปท. พยายามวัดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจทั้งที่เป็นเงินในกระเป๋าสตางค์ประชาชน เงินที่ฝากไว้กับธนาคาร หรือเงินที่เก็บไว้ในรูปแบบอื่น ๆ จึงได้นิยามปริมาณเงินตามมาตรฐาน MFSM2000 [2] ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ปริมาณเงินตามความหมายแคบ (narrow money) และปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (broad money) โดยปริมาณเงินตามความหมายแคบจะรวมสิ่งที่มีคุณสมบัติใกล้เงินที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ (currency in ci rculation: CIC) กว่าร้อยละ 90 ส่วนปริมาณเงินตามความหมายกว้าง จะนับรวมปริมาณเงินตามความหมายแคบรวมเงินฝากหรือตราสารหนี้อื่น ๆ ที่มีสภาพคล่องกึ่งเงินสด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝาก (ภาพที่ 2)

[2] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Monetary and Financial Statistics Manual 2000 โดย IMF

1.3 e-Payments และปริมาณเงินสัมพันธ์กันอย่างไร

ธุรกรรมส่วนใหญ่ที่ชำระเงินผ่านระบบ e-Payments ประมวลผลผ่านบัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องถอนเงินสดออกมาชำระค่าสินค้าและบริการ จึงพอสรุปได้ว่าการใช้ e-Payments ส่วนใหญ่เป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกในการชำระเงินและเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน จากที่เคยใช้เหรียญกษาปณ์และธนบัตรเป็นการชำระเงินผ่านการหักธุรกรรมผ่านบัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น หากจะเชื่อมโยง e-Payments กับปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ จะพบว่า e-Payments ทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินจากการใช้เหรียญกษาปณ์และธนบัตรเป็นการใช้เงินในบัญชีเงินฝาก ซึ่งจะทำให้ปริมาณเงินในความหมายแคบลดลงเพราะมีสัดส่วนเงินสดมากถึงร้อยละ 90

2. การชำระเงินผ่าน e-Payments มีส่วนทำให้การใช้เงินสดลดลงมากน้อยเพียงใด

งานศึกษานี้สนใจว่าการชำระเงินผ่าน e-Payments เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบพฤติกรรมการใช้เงินสดของคนไทยหรือไม่ โดยจะพิจารณาตัวแปรอื่นเพิ่มเติมตามทฤษฎีความต้องการถือเงินของนักเศรษฐศาสตร์สำนัก Keynesian อาทิ (1) ตัวแปรที่สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่สะท้อนจากดัชนีพ้องทางเศรษฐกิจ (coincident economic indicator: CEI) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) (2) ตัวแปรสะท้อนต้นทุนค่าเสียโอกาสของการถือเงินสด (opportunity cost) เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่น

ทั้งนี้ เพื่อตอบคำถามว่าการชำระเงินผ่าน e-Payments มีส่วนทำให้การใช้เงินสดลดลงมากน้อยเพียงใด ผู้เขียนจึงนำแบบจำลองทางเศรษฐมิติและแนวคิดความต้องการถือเงินดังกล่าวมาใช้ในการวิเคราะห์ในบริบทของไทย และเลือกใช้ CIC เป็นตัวแปรตามเนื่องจากต้องการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการใช้เงินสด โดยเพิ่มตัวแปรที่สะท้อนการใช้ e-Payments เป็นตัวแปรอิสระ อาทิ มูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payments) ในภาพรวมและแยกย่อยผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การชำระเงินด้วยบัตร (card payment) การโอนและการชำระเงินผ่าน internet - mobile banking ตลอดจนการใช้ e-Money

การศึกษาใช้วิธี error correction model (ECM) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมการใช้เงินสดทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยได้ผลการศึกษาแสดงในตารางที่ 1

แบบจำลอง full-sample estimation (ม.ค. 2010 ถึง พ.ย. 2019) ในสมการความสัมพันธ์ระยะสั้น (Short-run equation) ชี้ว่าความต้องการถือเงินสดขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ตัวแปรต้นทุนค่าเสียโอกาสของการถือเงินสดมีส่วนอธิบายเพียงเล็กน้อย สำหรับตัวแปร e-Payments โดยรวมมีความสัมพันธ์เชิงลบกับความต้องการถือเงินสดอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนว่าการใช้ e-Payments มีส่วนทำให้คนลดการใช้เงินสดลง แต่ยังมีบทบาทน้อยกว่าตัวแปรทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลดังกล่าวสอดคล้องกับหลายงานศึกษาในไทย อาทิ ประภัสสรและบัณฑิต (2006) และ Hataiseree and Bancheun (2010)

3.ความนิยมของการใช้ e-Payments ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด (exponential growth) มีอิทธิพลต่อการใช้เงินสดของคนไทยมากขึ้นหรือไม่

อัตราการขยายตัวของปริมาณการใช้ e-Payments เพิ่มขึ้นมากจากอดีต โดยในเดือนพฤศจิกายน 2019 เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากระยะเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโต ณ สิ้นปี 2014 ที่ร้อยละ 17 และมีลักษณะ exponential growth ในช่วงหลัง จึงตั้งข้อสังเกตสำหรับการประมาณผลจากแบบจำลองว่า full-sample estimation อาจไม่สามารถวัดผลกระทบของการใช้ e-Payments ต่อการใช้เงินสดได้ดีนักสำหรับช่วงที่เริ่มมีการใช้ e-Payments แบบ exponential ผู้เขียนจึงทดสอบสมมติฐานดังกล่าวโดยใช้วิธีทางเศรษฐมิติซึ่งใช้ตัวแปรดังตารางที่ 1 เช่นเดิม แต่ปรับช่วงเวลาที่ใช้ในการประมาณค่า จากวิธี full-sample estimation เป็น rolling-window estimation ครั้งละ 3 ปีเพื่อทดสอบว่าผลของการใช้ e-Payments ต่อพฤติกรรมการใช้เงินสดเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาหรือไม่

จากการประมาณผลแบบ rolling-window ได้ข้อสรุปว่า ตัวแปร e-Payments มีผลทดแทนการใช้เงินสดมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต สะท้อนจากค่าความยืดหยุ่นของมูลค่าการใช้ e-Payments ต่อการใช้เงินสดของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 (ตารางที่ 2) สอดคล้องกับช่วงเวลาที่การเติบโตของการใช้ e-Payments เริ่มมีลักษณะ exponential growth โดยพบว่าค่าความยืดหยุ่นติดลบมากขึ้นอยู่ที่ -0.03 ในปี 2019 จาก -0.01 ในปี 2016 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า อย่างไรก็ดี บทบาทของ e-Payments ยังน้อยกว่าตัวแปรกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากค่าความยืดหยุ่นที่น้อยกว่า

ทั้งนี้ เมื่อประมาณค่าด้วยวิธีดังกล่าวแต่จำแนกรายประเภทของสื่อการชำระเงินของ e-Payments ได้ข้อสรุปเพิ่มเติมว่า การใช้ internet-mobile banking มีความสำคัญมากขึ้นทำให้คนใช้เงินสดลดลงในระยะหลัง ขณะที่การชำระเงินผ่าน e-Payments ช่องทางอื่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงินสดของคนไทยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ มีข้อสันนิษฐานหลายประการที่อธิบายสาเหตุที่ผลของ internet-mobile banking มีมากขึ้น (ค่าความยืดหยุ่นเป็นลบมากขึ้น) ได้แก่

(1) นโยบายลดค่าธรรมเนียมของบริการการโอนและชำระค่าสินค้าและบริการ ในเดือนมีนาคม 2018 ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งประกาศไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินและชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ โดยช่องทางที่นิยมใช้กันคือ internet-mobile banking ทำให้จำนวนธุรกรรมการโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคารผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจาก 56 ล้านรายการในเดือนมีนาคม 2018 เป็น 167 ล้านรายการในเดือนมีนาคม 2019 (เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว)

(2) นโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ประชาชนลงทะเบียนพร้อมเพย์และรับเงินโอนจากภาครัฐผ่านบัญชีธนาคารโดยตรง กรมสรรพากรให้ประชาชนรับคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยในปี 2017 มีผู้ขอคืนภาษีผ่านบริการพร้อมเพย์กว่าร้อยละ 62 ของผู้รับคืนเงินภาษีทั้งหมดและเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 100 ในปี 2019 [3] นอกจากนี้ ภาครัฐยังให้ประชาชนรับสวัสดิการต่าง ๆ ผ่านช่องทางนี้

[3] อณิยา ฉิมน้อย และอรรถเวช อาภาศรีกุล (2561), เข้าใจ“พร้อมเพย์”บริการโอนเงินและชำระเงินทางเลือกใหม่

(3) ความนิยมในการใช้ quick response code (QR code) เพิ่มขึ้น ซึ่งการโอนและชำระสินค้าและบริการผ่านช่องทางนี้จัดอยู่ในรูปแบบ internet-mobile banking โดย QR code เริ่มเป็นที่นิยมใช้ในปลายปี 2017 และความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งจากการเพิ่มจุดติดตั้ง Thai QR code ที่ในปัจจุบันมีมากถึง 5 ล้านจุด

(4) ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความสะดวกรวดเร็วในการใช้งานเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ สถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์ที่ทำธุรกรรมผ่านช่องทางนี้มากขึ้น

ในขณะเดียวกันความสำคัญของการชำระเงินผ่านบัตรพลาสติกต่อการใช้เงินสดทยอยลดลง สะท้อนจากค่าความยืดหยุ่นที่เป็นลบน้อยลง โดยคาดว่ามาจากหลายสาเหตุ ได้แก่

(1) พฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยหันมารับชำระเงินด้วย QR code แทนบัตรเดบิต/บัตรเครดิต เนื่องจากไม่มีค่าติดตั้ง merchant discount rate (MDR) ตามที่ ธปท. มีนโยบายส่งเสริมการรับชำระเงินด้วย QR code โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถรับเงินได้จากทุกธนาคารและเงินเข้าบัญชีร้านค้าทันที

(2) ผู้ใช้บริการลดการถือบัตรพลาสติกและเปลี่ยนมาใช้ฟังก์ชันบน mobile banking มากขึ้น เช่น การลงทะเบียนบัตรเครดิตบนมือถือแล้วสแกนเพื่อชำระเงิน และกดเงินสดผ่านแอปพลิเคชั่นโดยไม่ต้องใช้บัตรเดบิต

(3) โครงการภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตหมดลง โดยในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2017 ถึง 31 พฤษภาคม 2018 ภาครัฐดำเนินโครงการแจกโชคลุ้นล้านผ่านบัตรเดบิต เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้

สำหรับ e-Money ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงินสดของคนไทยอย่างมีนัยสำคัญ (ค่าความยืดหยุ่นไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมูลค่าการชำระเงินผ่านช่องทางนี้ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ โดย ณ เดือน พฤศจิกายน 2019 อยู่ที่ประมาณ 23,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.07 ของ e-Payments โดยรวม

จากผลการศึกษาเบื้องต้น นำมาสู่คำถามสำคัญว่า สังคมไทยในปัจจุบันเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) แล้วหรือไม่ จากงานศึกษาของ Thomas (2013) แบ่งการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1. inception 2. tipping point 3. transition และ 4. advanced โดยใช้เกณฑ์การวัดที่หลากหลาย อาทิ สัดส่วนการใช้เงินสดในการทำธุรกรรมเทียบกับธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินสด และการเติบโตของ cashless payments โดยระยะที่ 4 (advanced) เป็นระยะที่ถือว่าเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มตัว ซึ่งประชากรในประเทศเหล่านี้มีบัตรเดบิตแทบทุกคน รวมทั้งร้านค้าเกือบทุกร้านรับชำระค่าสินค้าด้วยบัตร อาทิ สวีเดน และแคนาดา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนเงินสดต่อ GDP ต่ำมากอยู่ที่ราวร้อยละ 1 เท่านั้น

สำหรับกรณีของไทยยังอยู่ในระยะที่ 1 (inception) เช่นเดียวกับหลายประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ เช่น อินเดีย ไต้หวัน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศกลุ่มนี้ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ยังทำธุรกรรมด้วยเงินสด สอดคล้องกับสัดส่วนเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อ GDP ที่ค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีการใช้จ่ายไร้เงินสดที่ยังไม่มาก อย่างไรก็ดี สัดส่วนเงินสดต่อ GDP ของไทยล่าสุดในปี 2019 อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ซึ่งคอนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศในกลุ่ม inception และค่อนข้างใกล้เคียงกับจีนซึ่งอยู่ในระยะถัดไป (ภาพที่ 4)

จึงเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าไทยมีการพัฒนาทางด้านการชำระเงินและประชาชนเปิดรับ cashless payments อย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีส่วนทำให้การใช้เงินสดลดลงได้เช่นกันเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามต่อไปว่าปัจจัยนี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนชั่วคราวหรือถาวร ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายแห่ง อาทิ องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) แนะนำให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้ cashless payments และใช้เงินสดเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการเท่าที่จำเป็นเพื่อลดการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีส่วนสำคัญที่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยทำให้ประชาชนหันมาซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์และชำระเงินผ่านระบบ e-Payments มากขึ้น จึงเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนหนึ่งที่ทำให้การใช้เงินสดลดลงได้เช่นกัน

บทสรุป

หลายปีที่ผ่านมา e-Payments ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้จ่าย และลดต้นทุนการทำธุรกรรมการโอนเงินของคนไทย โดยมีส่วนช่วยให้การใช้เงินสด (เหรียญ/ธนบัตร) ลดลง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่การใช้ e-Payments เติบโตในอัตราที่ก้าวกระโดด ยิ่งทำให้ประชาชนใช้เงินสดลดลงมากขึ้น อย่างไรก็ดี เราอาจจะสรุปได้เพียงว่า "ในปัจจุบันสังคมไทยอาจไม่ใช่ cashless แต่เป็น less cash" ในระยะข้างหน้า ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดได้โดยเฉพาะหากมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ e-Payments ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ของผู้ให้บริการซึ่งตอบโจทย์ความต้องการทำให้ประชาชนอยากใช้และมั่นใจในความปลอดภัย

โดย ธนพล กองพาลี

Source: สำนักข่าวอิศรา

 

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"