ส่องเอฟเฟกต์ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังสัญญาณบ่งชี้เศรฐกิจไทยชะลอตัว ขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่มแบงก์โดนเทขาย สวนทางกลุ่มอสังหาฯ และไฟแนนซ์ที่ต้นทุนลด ส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่ม
ตลาดเงิน ตลาดทุน
ส่องเอฟเฟกต์ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังหลายสัญญาณบ่งชี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ด้านกระทรวงการคลังปลื้มสอดนโยบายกระตุ้น ขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่มแบงก์โดนเทขาย สวนทางกลุ่มอสังหาฯ และไฟแนนซ์ที่ต้นทุนลด ส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่ม แต่เตือนอย่ามองข้ามหุ้นธนาคาร เพราะยังซื้อขายบนค่า P/E ที่ถูก อนาคตมีโอกาสขยับขึ้น
ต้องยอมรับ การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปีและให้มีผลทันที เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สร้างเอฟเฟกต์ให้กับ หลายสิ่งในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดเงินตลาดทุน เพราะถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ในรอบ 4 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2558
"ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส" ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. รายงานว่า ที่ประชุมกนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี หลังจากที่ประชุมได้มีการปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ต่ำลงกว่าการประมาณการ ครั้งก่อนที่ 3.3% และ 1.0% ตามลำดับ พร้อมกับคาดว่าตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้จะติดลบ จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 0% เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนเพิ่มสูงขึ้น และขยายวงกว้างมากขึ้น และตัวเลขการนำเข้าที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ ก็มีผลต่อการส่งออกในอนาคตด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ ที่ประชุมกนง.ยังมองว่า ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า ที่ประเมินไว้ตามการลงทุนภาครัฐ ที่มีข้อจำกัดจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้า ประเด็นที่สำคัญ คือ เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่า ขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ปรับลดลงเร็ว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดัน ในฝั่งกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้เชื่อว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ กนง. ก็จะติดตามความเสี่ยงเรื่องการกีดกันทางการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีเพิ่มขึ้น
ภาพรวมสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมติครั้งนี้ของกนง.ครั้งนี้ เนื่องจากเป็น การชั่งน้ำหนักระหว่างภาวะเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดและต่ำกว่าระดับศักยภาพ กับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน แม้มองว่า ธปท.มีมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินแล้วในระดับหนึ่ง แต่ต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นการขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และนั่นทำให้ในระยะต่อไปหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินและมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน อาจจะถูกนำมาใช้มากขึ้น
คลังปลื้มลดดอกเบี้ยส่งผลดี ศก.
"ลวรณ แสงสนิท" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% ของกนง.ครั้งนี้ นับว่าเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถือเป็นจิตวิทยาอีกด้านหนึ่งช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้า ลดแรงกดดันต่อเงินบาทแข็งค่า โดยกระทรวงการคลังเตรียมประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในเร็วๆนี้ หลังจากไตรมาสแรก จีดีพีขยายตัว 2.8%
ส่วนการอ่อนค่าของเงินหยวน กระทรวงการคลังยืนยันว่าจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเงินหยวนอ่อนค่าลง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะจีนเป็นต่างชาติกลุ่มใหญ่เดินทางมาเที่ยวไทย ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมคนไทยเที่ยวไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย ขณะนี้ได้หารือกับหลาย หน่วยงานเตรียมพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใกล้สรุป หลักเกณฑ์ทั้งหมดแล้วเพื่อดูแลทั้งภาคเกษตร ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี คนมีรายได้ระดับกลาง โดยมีเงินทุนอัดฉีดประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดจะเสนอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาได้วันที่ 19 ส.ค.นี้
หุ้นแบงก์โดนขาย สวนทางไฟแนนซ์&อสังหาฯ
"ภากร ปีตธวัชชัย" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า กนง. มีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้นโยบายด้านการเงิน เข้ามา เป็นเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่า คณะกรรมการได้ประเมินปัจจัยต่างประเทศที่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยแล้ว โดยแนะนำนักลงทุน ให้ติดตามและศึกษาการลงทุนเป็น รายบริษัท รายอุตสาหกรรม และพิจารณาการลงทุนตามความสามารถในการทำกำไรของแต่ละบริษัท เพราะบริษัทจดทะเบียนไทยถือว่าแข็งแกร่งจากที่มีการประกอบกิจการในและต่างประเทศ รวมถึง เศรษฐกิจไทยไม่อ่อนแอ เพราะมีฐานะทางการเงิน และการคลังที่แข็งแกร่ง
ขณะเดียวกันในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามเรื่องสงครามการค้าที่จะพัฒนาเป็นสงครามค่าเงินหรือไม่ หลังจากที่จีนลดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงเพื่อเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯ ที่จะเก็บภาษี สินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์และทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลต่อทิศทางตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
ไม่เพียงเท่านี้ หลังจากมีมติประชุมกนง.ออกมานั้น ได้เกิดแรงซื้อเข้ามาในตลาดหุ้นจนดัชนีหลักทรัพย์สามารถขยับขึ้นไปแตะระดับ 1,680 ทันทีแม้หลังจากนั้นจะปรับตัวลดลงก็ตาม โดยสิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือ แรงเทขายในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ตามความกังวลว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลต่อกำไรที่อาจจะน้อยกว่าประมาณการ ขณะที่กลุ่ม ไอซีที การเงิน กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ปรับขึ้น
เนื่องจากมติดังกล่าวของ กนง.ถือเป็น Positive Surprise ของตลาดหุ้นไทยเพราะจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ กับผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มว่าเม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้นโดยหุ้นกลุ่มที่เชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์โดยตรงคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนทั่วไป ประกอบกับราคาหุ้นในกลุ่มหลายตัวปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่น่าทยอยสะสม อีกทั้งถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการปรับลดต้นทุนภาคธุรกิจ และภาระดอกเบี้ยของผู้กู้ลดลง จึงเป็นปัจจัยหนุนต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ขณะที่กลุ่มไฟแนนซ์ที่ปล่อยกู้รายย่อย จะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวด้วย เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยจะสูงขึ้น พร้อมกันนี้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้หน่วยลงทุน Property Fund REIT รวมไปถึงหุ้น ที่เป็น High Dividend มีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งกลุ่มหุ้นได้ประโยชน์จะเป็น กลุ่มส่งออก ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามหุ้นกลุ่มธนาคาร ยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ซื้อขายในระดับราคาต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ที่ถูกมากแล้ว จึงมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต.
แบงก์ใหญ่อ่วมดอกเบี้ยลด กดดันรายได้ปรับตัวลง
ภาพรวมกลุ่มแบงก์ได้รับผลกระทบ หลังกนง. ลดดอกเบี้ย เหตุกระทบรายได้ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ที่มีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากคงที่สูง ขณะที่แบงก์กลาง-เล็กได้ปัจจัยบวก แต่ภาพรวมไม่กระทบความสามารถจ่ายปันผล อีกทั้งที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ยังราคาถูก ทำให้ยังน่าสนใจ
มีการคาดการณ์ว่าหลังจาก คณะกรรมการนโยบาย การเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ เนื่องจากทุกธนาคาร จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง นั่นหมายถึงเรื่อง ดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับและ ส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ (ดอกเบี้ยรับ-ดอกเบี้ยจ่าย) หรือ NIM มากขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วนโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย เงินฝากเป็นอัตราคงที่สูง
ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง-ขนาดเล็ก มีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่สูง และโครงสร้างดอกเบี้ยเงินฝากเพียงบางส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงเป็นบวกต่อ NIM แต่เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบศักยภาพ การจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ เพราะยังคงมีรายได้จากด้านอื่นเข้ามาทดแทน
อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยดังกล่าวทำให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถูกปรับลดลงมาให้ "น้อยกว่าตลาด" เนื่องจากประเมินว่าโดยภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยแวดล้อมยังไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในระยะสั้น ส่วนระยะกลาง-ยาว ยังสามารถเข้าสะสมหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการฟื้นตัวได้เร็ว อาทิ BBL และ SCB
นอกจากนี้ ปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มธนาคารยังถูกมาก เทียบกับดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่ราคาหุ้น กลุ่มธนาคารเคลื่อนไหวอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อช่วงต้นปีที่ ผ่านมา ทำให้นักลงทุนสามารถทยอยสะสมได้อย่างต่อเนื่อง เพราะช่วงไตรมาส 3-4 จะเข้าสู่ฤดูสินเชื่อ อีกทั้งรัฐบาลใหม่น่าจะผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยหนุนให้สินเชื่อกลุ่มในปี 2563 ให้ โตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึง จะทำให้การจ่ายเงินปันผลมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น
โดย บล.ฟินันเซียไซรัส ให้ความเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. จะกระทบต่อ NIM และกำไรของกลุ่มธนาคารไม่มากนัก เนื่องจากคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะไม่มีการปรับลด (เนื่องจากก่อนหน้าไม่ได้มีการปรับขึ้น อยู่แล้ว) ขณะที่แรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินน่าจะ ผ่อนคลายลง ในเชิงทฤษฎี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียว คาดว่าจะกระทบ NIM ราว 0.10% และกำไรสุทธิของกลุ่มราว 6% แต่ประเด็นสำคัญคือ Statement ของธปท. ที่ระบุถึงปัจจัยแวดล้อมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกว่าที่คาด ดังนั้นอาจเห็นการชะลอตัวของสินเชื่อเช่นกัน
ทำให้ปรับลดคำแนะนำเป็น Neutral จากเดิม Overweight ในช่วงสั้น โดยนักลงทุนน่าจะพิจารณาลงทุนในธนาคารขนาดเล็กก่อนเพราะจะได้ประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง แนะนำ TISCO (ราคาเหมาะสม 105 บาท) และ TCAP (ราคาเหมาะสม 60 บาท) ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ขาดปัจจัยเป็นบวกจากภาพเศรษฐกิจ ทำให้ขาด Catalyst มีเพียงมูลค่าหุ้นที่ลงมาซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงและมีความน่าสนใจเชิงมูลค่า ซึ่งภาพรวมแนะนำ KBANK (ราคาเหมาะสมที่ 212 บาท) และ SCB (ราคาเหมาะสมปี 2019 ที่ 152 บาท).
กลุ่มอสังหาฯต้นทุนลด แถมลูกค้ากาลังซื้อเพิ่ม
หุ้นอสังหาฯรับอานิสงส์ดอกเบี้ยนโยบายลด เพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภคซื้อที่อยู่อาศัยหลังต้นทุนถูกลง เช่นเดียวกับผู้ประกอบการ ภาพรวม ครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัวหลังที่ผ่านมาเกณฑ์ LTV แบงก์ชาติทำพิษ ส่วนอนาคตเติบโตตามการเปิดตัวโครงการใหม่ และแผนการโอนคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จใหม่จำนวนมาก
การลดดอกเบี้ยของกนง.คาดว่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มอสังหาฯ เพราะจะช่วยกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุน การกู้เงินซื้อบ้านของประชาชนจะปรับตัวลดลง ขณะที่ในส่วนของต้นทุนทำโครงการของผู้ประกอบการอสังหาฯจะปรับตัวลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้คาดว่าผลประกอบการของกลุ่มอสังหาฯน่าจะค่อยๆ ปรับตัว ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้
นั่นทำให้โดยรวม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของ กนง. ถือเป็น Positive Surprise ของตลาดหุ้นไทย เนื่องจากจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ กับผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มว่าเม็ดเงินลงทุนจะไหล เข้ามาในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หลายตัวปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่น่าทยอยสะสม เช่น LH ราคาเหมาะสมที่ 13.60 บาท คาดอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 7%, QH ราคาเหมาะสมที่ 4.10 บาท คาดอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 7%, และ ORI ราคาเหมาะสมที่ 20.50 บาท
ส่วนแนวโน้ม กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ช่วงต่อจากนี้ บล. ฟินันเซียไซรัส ประเมินว่า ภาพรวมอสังหาฯมีทิศทางชะลอตัว สะท้อนยอด Presales ในไตรมาส 2/62 คาดทำได้เพียงทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัว 25% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับการเปิดโครงการใหม่ที่เร่งขึ้น 105% เนื่องจากผล กระทบของการเริ่มใช้เกณฑ์ LTV ใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย.นั้น โดยเฉพาะคอนโดฯ อีกทั้ง ที่ผ่านมามีวันหยุดจำนวนมาก รวมถึงผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้คาดว่า ยอด Presales ในครึ่งปีแรกของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะอ่อนตัว 17% คิดเป็น 39% ของเป้าทั้งปีที่ 2.8 แสนล้านบาท แต่ประเมินว่า AP, ORI และ PSH มียอด Presales ครึ่งแรก แกร่งที่สุดในกลุ่ม คิดเป็น 53%, 46% และ 43% ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 39% ของเป้าทั้งปี เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดตัวคอนโดมิเนียมที่ได้รับการ ตอบรับดี ทำยอดขายได้ 70-100% จากผลิตภัณฑ์ที่เน้นความต้องการอยู่จริง ในราคาเข้าถึงได้ บนทำเลที่มีศักยภาพ
แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำยอดขายครึ่งปีแรกได้เพียง 20-40% ทำให้มีความเสี่ยงต่อการปรับลดเป้าหมายยอดขาย และแผนการเปิดโครงการใหม่ของปีนี้ หลังประกาศงบไตรมาส 2/62 ออกมา เพราะบริษัทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่นั่นทำให้ประเมินว่า LH จะทำกำไรปกติไตรมาส 2/62 แกร่งที่สุด แม้คาดลดลง 23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เติบโตได้ 4% จากไตรมาสก่อนหน้า เทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นที่หดตัว ส่วน AP คาดกำไรไตรมาส 2/62 จะอ่อนแอที่สุด หดตัว 56%
พร้อมกันนี้ มองว่าภาพรวมผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/62 และจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ จากปรับตัวของทั้งลูกค้าและผู้ประกอบการต่อเกณฑ์ LTV ใหม่ รวมถึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกจากนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว คิดเป็น 63% ของแผนทั้งปี
โดยสิ่งที่จะได้เห็นจากหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ต่อจากนี้คือ การเติบโตตามการเปิดตัวโครงการใหม่ และแผนการโอนคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จใหม่จำนวนมาก บน Backlog ปัจจุบันที่รองรับประมาณการยอดโอนทั้งปีแล้วเฉลี่ย 60% นั่นหมายถึงโมเมนตัมกำไรของหุ้นในกลุ่มนี้จะฟื้นตัวในไตรมาส 3/62 และทำระดับสูงสุดของปีในไตรมาสสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามคือ การแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกแคมเปญการตลาดในรูปแบบลดแลก แจกแถม และข้อเสนอพิเศษทางการเงินร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อกระตุ้นยอดขาย อาจกดดันค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น รวมถึงยอดปฏิเสธ สินเชื่อที่ทรงตัวสูง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงล่าง
"คงน้ำหนักการลงทุน "เท่ากับตลาด" สำหรับกลุ่มอสังหาฯ และแนะนำเลือกลงทุนหุ้นปลอดภัยอย่าง LH จากทั้งแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาดีกว่ากลุ่ม และความน่าสนใจในฐานะหุ้นปันผลเด่น คาดให้ผลตอบแทนเงินปันผลงวดครึ่งปีแรกที่ 2.7% ส่วนทั้งปี คาด 6.8% รวมถึงโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง และมี Upside Risk จากแผนการขายโรงแรม Grande Centre Point Sukhumvit 55 เข้า REIT ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้"
ทั้งนี้ แม้จุดเด่นของหุ้นกลุ่มนี้คือ ราคาหุ้นซื้อขายบน P/E 2562-2563 ต่ำเพียง 7.8 เท่า และจ่ายปันผลสูง 6-7% ต่อปี แต่ราคาหุ้น ปรับขึ้นเฉลี่ย +16% ทำให้หุ้นหลายตัวมี Upside จำกัด นอกจากนี้ ระยะสั้น อาจถูกกดดันจากกำไรไตรมาส 2/62 ที่อ่อนแอ รวมถึงมี ความเสี่ยงในการปรับลดเป้าหมายยอดขาย และแผนการเปิดโครงการใหม่ ส่งผลให้ตลาดมีโอกาสปรับประมาณการปีนี้ลง เชิงกลยุทธ์จึงแนะนำรอเข้าลงทุนหลังประกาศงบแล้วเสร็จ.
Source: ผู้จัดการ 360 องศา
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you