หนี้เสีย'โรงสี'พุ่ง-แบงก์เบรกปล่อยกู้ใหม่

"ทีเอ็มบี"เผยหนี้โรงสี น่าเป็นห่วง เอ็นพีแอลสูงลิ่ว 16% โดยเฉพาะ โรงสีขนาดกลางรายได้ไม่เกิน 1 พันล้าน "หนักสุด" เอ็นพีแอลแตะ17% "กรุงไทย"ชี้ คุณภาพหนี้เน่าดีขึ้น หลังดูแลลูกค้า ใกล้ชิด เร่งปรับพอร์ตให้ต่ำกว่า 40% "กสิกร"หยุดปล่อยกู้รายใหม่ลดความเสี่ยง

ด้าน"สมาคมโรงสีข้าวไทย"วอนอย่าเหมาเข่ง มองเป็นธุรกิจไม่มีอนาคต

ธนาคารพาณิชย์ เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้เสียของกลุ่มโรงสี ไปพร้อมๆ กับ คุมปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหม่ หลังช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ กระทบรายได้ และความสามารถชำระหนี้ ส่งผลให้เป็นหนี้เสียจำนวนมาก

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics เปิดเผยว่า ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในช่วงที่ผ่านมา มีกลุ่มที่น่าเป็นห่วง เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)อยู่ในระดับสูง คือกลุ่มโรงสี

โดยสินเชื่อกลุ่มโรงสีของทั้งระบบ และทุกขนาด ทั้งขนาดเล็ก กลาง และธุรกิจ ขนาดใหญ่ พบว่ามียอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.10แสนล้านบาท ขณะที่เอ็นพีแอลทั้งพอร์ต อยู่ในระดับสูงที่ 15.8 % ส่วนสินเชื่อจัดชั้น กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM)ทั้งกลุ่มอยู่ที่ 3.9 %

หากดูรายพอร์ตพบว่า ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือธุรกิจโรงสีขนาดกลางที่มีรายได้ 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท กลุ่มนี้มีเอ็นพีแอลสูงสุดที่ 17.1% ขณะที่ SM สูงถึง 9.5 % หากเทียบกับพอร์ต สินเชื่อรวมของธุรกิจโรงสีขนาดกลางที่มีอยู่ราว 5.67 หมื่นล้านบาท

"กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง น่าเป็นห่วงที่สุด ทั้งด้านเอ็นพีแอลหรือ SM หากรวม เอ็นพีแอล และSM ของธุรกิจโรงสีขนาดกลาง คิดเป็น 1ใน 3 ของพอร์ตสินเชื่อโรงสี ขนาดกลางทั้งหมด"นายนริศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มโรงสี ขนาดใหญ่ที่มียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป กลุ่มนี้เอ็นพีแอลอยู่ในระดับสูงถึง 16.3 % ในขณะที่ SM อยู่ที่ 1.8 % หากเทียบกับพอร์ตสินเชื่อรวมของธุรกิจ โรงสีขนาดใหญ่ที่มีอยู่ราว 2.83 หมื่นล้านบาท ถัดมาคือกลุ่มธุรกิจโรงสีขนาดเล็กมีเอ็นพีแอลโดยรวมอยู่ที่ 14.1 % และ SM อยู่ที่ 2.0 % หากเทียบกับพอร์ตสินเชื่อ ของกลุ่มนี้ที่อยู่ราว 2.54 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ หากดูไส้ในของพอร์ตสินเชื่อ ของธุรกิจโรงสีเป็นรายจังหวัด พบว่า สินเชื่อ โรงสีที่มีกระจุกตัวอันดับหนึ่งคือชัยนาท โดยมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างมากที่สุด ราว 1.01 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือสุพรรณบุรี 9.77พันล้านบาท และสุรินทร์ มียอดสินเชื่อโรงสีอยู่ที่ราว 9.27พันล้านบาท

ช่วยลูกหนี้จัดการธุรกิจ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า คุณภาพหนี้ของกลุ่มโรงสีในปัจจุบันมีแนวโน้มปรับตัว ดีขึ้น โดยเอ็นพีแอลเริ่มปรับตัวเข้าสู่ ภาวะปกติมากขึ้น จากเดิมเอ็นพีแอลของกลุ่มโรงสี จะเติบโตหวือหวา หรืออยู่ระดับ 7-8% แต่ปัจจุบันปรับลดลงพอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารเข้าไปดูแลพอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งกลุ่ม ที่เป็นเอ็นพีแอลอยู่แล้ว และกลุ่มที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ "เราเชื่อมั่นในกระบวนการบริหารจัดการ ที่อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งการเข้มงวด การให้สินเชื่อ โดยให้สินเชื่อตรงกับวัตถุประสงค์มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กลุ่มนี้มากขึ้น จากอดีตที่พบว่า กลุ่มที่เกิดหนี้เสียส่วนใหญ่ นำสินเชื่อไปใช้ นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ หรือใช้ในธุรกิจอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันเริ่มเห็นทิศทางหนี้เสียกลุ่มนี้ ปรับตัวดีขึ้น" นอกจากนี้ธนาคารยังเข้าไปช่วยลูกค้า ในการบริหารจัดการด้านบัญชี ให้หันมาใช้ระบบบัญชีเดียว และนำนวัตกรรมมาใช้กับธุรกิจมากขึ้น ทำให้กลุ่มโรงสีสามารถ บริหารจัดการธุรกิจได้ดีขึ้น เป็นไปตามเป้าประสงค์ของธนาคารกรุงไทย ที่ต้องการเห็นลูกค้ากลุ่มนี้ดีขึ้น

"ที่ผ่านมาเราคุยกับลูกค้ามากขึ้น ผมต้อง ไปพบลูกค้า คุยกับลูกค้ามากขึ้นว่ามีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆหรือไม่ ทำให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้นว่าโดยธรรมชาติกลุ่มนี้ต้องการสินเชื่อตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว เมื่อเรา เข้าใจไซเคิลกลุ่มนี้มากขึ้น ก็ต้องนำนวัตกรรมมาใช้ยกระดับกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องโน้มน้าวให้ลูกค้าใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีกับธุรกิจมากขึ้น"

"กรุงไทย"เร่งลดพอร์ต

เขากล่าวต่อว่า พอร์ตสินเชื่อโรงสีของธนาคารปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง ประมาณ 60,000 ล้านบาท ธนาคารพยายามประคองไม่ให้สินเชื่อกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น เพราะมองว่า ระดับดังกล่าวเป็นระดับที่สูงเกินไป ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดให้การปล่อยสินเชื่อแต่ละพอร์ต ไม่ควรสูงเกิน 40 % ของทั้งอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันกรุงไทยมีพอร์ตสินเชื่อโรงสีสูงถึง 60 % หากเทียบกับทั้งอุตสาหกรรม ดังนั้นกรุงไทยต้องพยายามลดพอร์ตสินเชื่อ ลงมาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลดพอร์ตสินเชื่อของ ธนาคาร ไม่ต้องการให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารทำได้คือการประคองพอร์ตเดิมให้ดีขึ้น และพยายามไปโตในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นการแปรรูปสินค้าเกษตรหรือการเติบโตในส่วนสินค้าที่มีการแปรรูปด้านการบรรจุภัณฑ์มากขึ้น

"พอร์ตสินเชื่อที่ระดับ 60,000 ล้านบาท เป็นระดับที่สูงเกินไปนิด แต่เราก็ไม่ต้องการให้กลุ่มนี้เดือดร้อนจากการปรับพอร์ตสู่ระดับที่เหมาะสม ดังนั้นก็ต้องช่วยเหลือ ประคองกันไป โดยปีนี้อยากเห็นพอร์ตสินเชื่อโรงสีปรับลดลง"

"กสิกร"หยุดปล่อยกู้โรงสี

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า พอร์ตสินเชื่อกลุ่มโรงสีของธนาคารในปัจจุบัน เริ่มเห็นการปรับลดลงต่อเนื่อง โดยสัดส่วน สินเชื่อของกลุ่มโรงสีในพอร์ตสินเชื่อ เอสเอ็มอี พบว่ามีสัดส่วนไม่เกิน 6% จากพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของกสิกรทั้งหมด661,000 ล้านบาท

สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มโรงสี ในปัจจุบัน พบว่าไม่มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ ในธุรกิจนี้ มีเพียงพอร์ตลูกค้าเก่าที่เป็นลูกค้าดี ที่ยังคงใช้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนกับธนาคารอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมา ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนี้

"เราหยุดปล่อยกู้ใหม่กลุ่มนี้มานานแล้ว ส่วนที่ค้างอยู่ในพอร์ตวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าดีแบงก์ยังคงให้วงเงินหมุนเวียนอยู่เพราะเราพยายามลดพอร์ตกลุ่มนี้ลงมา จากความเสี่ยงที่มากขึ้น ส่วนลูกค้าที่มี ปัญหา ก็มีบ้างที่ยังค้างอยู่ในพอร์ต" นายสุรัตน์กล่าว

แนะช่วยโรงสีมีอนาคต

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า โรงสีมีหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลมานานแล้ว โดยเมื่อมีปัญหาสภาพคล่องจากการบริหารโรงสี ก็ใช้สินเชื่อ จากธนาคารประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาวงเงินลดเหลือ 5 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งมาจากช่วง 3-4 ปีทีผ่านมา ราคาข้าวหอมมะลิลดลง 30-40% จึงกระทบรายได้โรงสี

ทั้งนี้การแข่งขันของโรงสีมากขึ้นทำให้ต้องลงทุนสูงขึ้นและส่งผลต่อสภาพคล่อง ทำให้โรงสีบางแห่งมีต้องใช้สินเชื่อจาก ธนาคารเต็มวงเงิน 100% โดยโรงสีต้องลงทุนซื้อข้าวและแข่งขันกันระบายข้าว ซึ่งผลกระทบ ทางการเงินทำให้โรงสีมีผลกระทบหลายลักษณะที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ คือ 1.อยู่ไม่ได้ ต้องปิดกิจการและเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย 2.อยู่ไม่ได้แต่ถ้าได้รับความช่วยเหลือ ก็ทำธุรกิจต่อไปไปได้เช่นสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้โรงสีที่มีโอกาสอยู่รอด

เสนอจัดชั้นลูกค้าโรงสี

"โรงสีข้าวเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจทำให้โรงสี ที่ปรับตัวไม่ได้ต้องล้มหายไป ส่วนที่อยู่ได้ ก็กังวลจะมีปัจจัยอื่นทำให้ต้องปิดกิจการ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเคยหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ช่วยประสานงานกับธนาคารกรุงไทย จัดลำดับชั้นลูกค้าและผ่อนคลายมาตรการหรือเงื่อนไขลงให้กับโรงสี เพราะการที่ ธนาคารเห็นว่า โรงสีเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้ม ไม่ดีและจำกัดวงเงินสินเชื่อเหลือเพียง 60% ทำให้โรงสีได้รับผลกระทบ จึงไม่ควรเหมาเข่งว่า โรงสีทุกแห่งจะมีปัญหา"

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงสีหลายแห่งปรับตัวเป็นผู้ส่งออก เพื่อ หาช่องทางระบายผ่านการส่งออกและทำธุรกิจข้าวถุงจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับลดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาตัวเอง ให้รอดกับสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งหลายรายสำเร็จ กลายเป็นผู้ส่งออกข้าว

Source: กรุงเทพธุรกิจ

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"