มาทำความเข้าใจเรื่องกรณี กูเกิล แบนการทำธุรกิจกับ หัวเว่ย และเรื่องราวหลังจากนี้ที่จะเกิดขึ้น

Brand Inside สรุปเรื่องราวประเด็นที่สำคัญๆ กรณีของ Google ได้แบนการทำธุรกิจกับ Huawei ว่ามีที่มาได้อย่างไร เกี่ยวกับสงครามการค้าอย่างไร และเรื่องราวหลังจากนี้ ข่าวดังวันนี้คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ Google ประกาศหยุดทำธุรกิจกับ Huawei

ยักษ์ใหญ่ทางด้านมือถือและอุปกรณ์โทรคมนาคมอันดับต้นๆ ของโลก สร้างความแตกตื่นให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือของ Huawei ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android กังวลว่าอาจใช้บริการของ Google ไม่ได้เสียด้วยซ้ำ

Brand Inside พามาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ และวิเคราะห์ถึงเรื่องหลังจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ

เรื่องมันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งบริหาร ห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เพื่อที่จะปกป้องระบบอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศของสหรัฐจากการคุกคามของเทคโนโลยีต่างชาติ และเรื่องที่เกิดขึ้นได้สร้างแรงปะทุให้กับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเพิ่มขึ้นไปอีก

คำสั่งบริหารครั้งนี้ไม่ได้ระบุชื่อบริษัทใดอย่างเป็นทางการ แต่คำสั่งนี้ได้ทำให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้นำชื่อของ Huawei และบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับ Huawei กว่า 70 บริษัทขึ้นบัญชีดำทันที

โดยการแบนอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ต่างฝ่ายได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าซึ่งกันและกัน เริ่มจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสินค้าจีนมูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันจีนได้ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการตอบโต้

ทำไมถึงต้องกลัว Huawei กันขนาดนี้?

สาเหตุที่สหรัฐฯ ต้องออกคำสั่งบริหารออกมาเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีความกังวลในเรื่อง “อุปกรณ์โทรคมนาคม” ของ Huawei เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี 5G กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ ทำให้ความกังวลเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ยังรวมไปถึงเรื่องของสิทธิบัตร 5G ที่ Huawei เป็นผู้นำในเรื่องเทคโนโลยีนี้ และถ้าหากนับเรื่องงบการวิจัยและพัฒนาแล้ว Huawei ก็ยังเป็นอันดับ 1 ตั้งแต่ปี 2014 ด้วย

อีกเรื่องที่สำคัญคืออุปกรณ์โทรคมนาคมของ Huawei “ได้รับความนิยมอย่างมาก” เนื่องจากประสิทธิภาพเท่าๆ กับคู่แข่งจากตะวันตก เช่น Ericsson หรือแม้แต่ Nokia แต่ราคาถูกกว่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์บนเสาโทรคมนาคม (เช่นในรูป) โดยเฉพาะในทวีปยุโรปนั้นปี 2017 มีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 28% รวมไปถึงเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่ Huawei ได้รับงานวางสายเคเบิลเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความวิตกในเรื่องนี้

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมามีความกังวลว่าอุปกรณ์เหล่านี้จาก Huawei จะสามารถเป็นประตูหลังทำให้รัฐบาลจีนสามารถสอดแนมประเทศต่างๆ ผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ทำให้ฝ่ายความมั่นคงของหลายๆ ประเทศออกมาให้ข่าวว่า Huawei มีหน่วยงานความมั่นคงจีนสนับสนุน หรือแม้กระทั่งมีความกังวลในเรื่องนี้ รวมไปถึงสหรัฐฯ เองก็กดดันในเรื่องนี้มาโดยตลอด แม้ว่าบริษัทจะออกมาปฏิเสธหลายๆ ครั้งแล้วก็ตาม จนถึงล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บริษัทถึงออกประกาศว่ายอมเซ็นสัญญารับประกันว่าอุปกรณ์โทรคมนาคมของบริษัทปลอดภัยจากการสอดแนมแน่นอน

ทำไม Google ต้องแบน?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเมื่อคำสั่งนี้ได้ทำให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้นำชื่อของ Huawei และบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับ Huawei กว่า 70 บริษัทขึ้นบัญชีดำแล้วนั้น บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ไม่สามารถที่จะดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีนได้ต่อไป ดังเช่นกรณีของ Google

แต่เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ Google แค่บริษัทเดียวด้วยซ้ำที่ต้องห้ามทำธุรกิจกับ Huawei แต่บริษัทอื่นๆ เช่น Qualcomm และ TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ก็กำลังตัดสินใจที่จะไม่ทำธุรกิจกับยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน รวมไปถึงบริษัทอื่นๆ เช่น Intel และ Broadcom ฯลฯ ซึ่งบริษัทต่างๆ เหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐอย่างเคร่งครัด ไม่งั้นแล้วอาจโดนลงโทษ และความเสียหายอาจเกินที่คาดเดาได้

ตัวอย่างรายชื่อบริษัทที่อยู่ใน Supply Chain ของ Huawei (ตัวหนาคือบริษัทสหรัฐฯ ที่ต้องทำตามคำสั่งบริหาร)

ARM
Intel
Analog Devices
Broadcom
Qualcomm
NXP
Microsoft
Texas Instruments
นอกจากนี้บริษัทอื่นๆ อาจต้องทำตามกฎเกณฑ์ข้างต้น ก็เหมือนกับเป็นการตัดแข้งตัดขาของ Huawei ครั้งใหญ่ที่สุดด้วย โดยผลกระทบกับ Huawei อาจไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ แต่สินค้ากลุ่ม Consumer ของบริษัทแทบทั้งหมดอาจได้รับผลกระทบ แม้ว่าเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งของ Huawei จะกล่าวว่า “Huawei ไม่เป็นไร” ก็ตาม

เรื่องของสงครามการค้า Huawei ไปเกี่ยวได้อย่างไร

สำหรับประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่สหรัฐฯ กดดันให้จีนปฏิบัติมาโดยตลอดคือเรื่องของ “การยอมรับในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา” และเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ และประเด็นนี้คือ 1 ในประเด็นสำคัญของเรื่องสงครามการค้าที่คาราคาซังหาทางเจรจาไม่ได้มาโดยตลอด

สำหรับกรณีที่ Huawei เข้าไปเกี่ยวกับสงครามการค้าได้อย่างไร คำตอบคือ Huawei เป็นส่วนหนึ่งในแผนการ Made in China 2025 ที่จีนพยายามไปให้ได้ แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา Huawei ได้พัฒนาอุปกรณ์โดยมีข้อกล่าวหาจากบริษัทตะวันตกในเรื่องของการขโมยทรัพย์สินทางปัญญามาโดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น

กรณีพิพาทกับ Cisco ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่อุปกรณ์ Network ที่ Cisco ได้กล่าวว่า Huawei ได้ลอกเลียนแบบเรื่อง Software และทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นจุดขายของบริษัท เช่น ระบบ Routing
ข้อกล่าวหาในเรื่องของการขโมยความลับทางการค้าจากผู้ให้บริการมือถือในสหรัฐฯ อย่าง T-Mobile
กรณีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของ Motorola ในส่วนธุรกิจโทรคมนาคม ก่อนท้ายที่สุดจะยอมความ
ฉะนั้นแล้วเรื่องนี้ Huawei จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องไม่ว่าทางตรงและทางอ้อมนี้แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณีลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei อย่าง เหมิง หวันโจว มาแล้ว

อนาคตของ Huawei หลังจากนี้

สำหรับอนาคตของ Huawei หลังจากนี้อาจเหลืออยู่เพียงแค่ 2 ทางเท่านั้น

ทางแรกคือ Huawei ต้องเดินได้ด้วยตัวเอง แต่เรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่มหาศาลของบริษัทเองรวมไปถึงความเสี่ยงของจีนเองด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีหลายๆ อย่างยังอยู่ในมือของสหรัฐฯ และรวมไปถึงเรื่องของ Supply Chain ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่หาของทดแทนอาจมีประสิทธิภาพไม่เท่ากับบริษัทในสหรัฐฯ ผลิต ขณะเดียวกันบริษัทอื่นๆ นอกสหรัฐฯ ก็อาจต้องทำตามคำสั่งที่ออกมา ซึ่งความยากลำบากของบริษัทแบบแท้จริงจะอยู่ในช่วง 1 ปีหลังจากนี้

ทางที่ 2 กรณีนี้ Huawei อาจต้องจบแบบกรณีของ ZTE ที่ท้ายที่สุดต้องจ่ายค่าปรับ ยอมความ รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงด้านการบริหาร จึงทำให้บริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ กลับมามีสัมพันธ์ได้แบบเดิม แต่อย่างไรก็ดีผู้ก่อตั้งของ Huawei นั้นได้กล่าวว่าไม่ยอมที่จะเป็นแบบ ZTE โดยเด็ดขาด

สำหรับเรื่องของกรณี Google อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะว่าปัจจุบันโทรศัพท์มือถือที่ขายในประเทศจีนก็ไม่มีบริการต่างๆ ของ Google อยู่แล้ว และเรื่องนี้อาจทำให้ Huawei อาจแยก Android ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์ประเภท Open Source ออกมาได้ เหมือนกับที่ Amazon หรือแม้แต่ Xiaomi ทำอยู่

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ต้องรอดูว่ารัฐบาลจีนจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร แต่ท้ายที่สุดเรื่องนี้ต้องอยู่ในโต๊ะการเจรจาการค้าครั้งต่อไป เนื่องจาก Huawei มีขนาดบริษัทใหญ่กว่า ZTE มาก ผลกระทบนั้นใหญ่มหาศาลกว่ามาก ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็กระทบกับบริษัทในสหรัฐฯ เนื่องจากเป็น Supply Chain รายสำคัญด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แล้วในวันนี้คือสงครามเย็นเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้เปิดศึกอย่างเป็นทางการแล้ว

โดย Wattanapong Jaiwat

Source: Brandinside.asia

คลิก

เพิ่มเติม
- หัวเว่ย ยอมรับเคยซุ่มพัฒนา OS ของตนเอง หวังรับมือกรณีถูกสหรัฐแบน

คลิก

- Infineon ปัดข่าวหยุดส่งชิปให้ หัวเว่ย เผยข้อจำกัดสหรัฐยังไม่ครอบคลุม:

- ตอบทุกข้อสงสัย กรณีสหรัฐ/กูเกิลแบน Huawei จะเกิดผลกระทบอะไรตามมา :

https://www.blognone.com/node/109862 

- Here’s what Google’s decision to cut ties with Huawei means if you own one of their phones :

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

#forex #ลงทุน #pepperstone #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"