เจอพิษโลกปั่นป่วน โภคภัณฑ์ยากคืนชีพ

ทั่วโลกต่างรับรู้กันแล้วว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกคงไม่สดใสนักในปีนี้ และเสี่ยงซึมไปจนถึงปีหน้า หลังบรรดาสถาบันเศรษฐกิจการเงินหลายแห่งพาเหรดกันหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยล่าสุดนั้น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

(โออีซีดี) ประกาศปรับลดคาดการณ์จีดีพีเศรษฐกิจทั้งปี 2019 และ ปี 2020 ลงอีก 0.2% และ 0.1% ไปอยู่ที่ 3.3% และ 3.4% ตามลำดับ

แนวโน้มอันอ่อนแรงที่ว่า ย่อมเป็นข่าวร้ายสำหรับ "สินค้าโภคภัณฑ์" ที่เหมือนจะฟื้นคืนชีพช่วงต้นปีนี้ แต่ดูทรงแล้วอาจไปแผ่วปลายปีจากภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ

สัญญาณหมดแรงเริ่มปรากฏ ออกมาแล้วจากเสียงเตือนของโกลด์แมน แซคส์ ที่บอกให้นักลงทุนควรเทรดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างระมัดระวัง แม้ในภาพรวมนั้น สินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นมาแล้ว 12% ในปีนี้ หลังผ่านช่วงเจอแรงเทขายอย่างหนักเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดนั้นดัชนี S&P GSCI ที่วัดความเคลื่อนไหวของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้น 12% เมื่อวันอังคาร ที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจจากการเปิดเผยของโกลด์แมนคือ สินค้าโภคภัณฑ์ผ่านพ้นช่วง "ราคาถูก" (Undervalue) ไปแล้ว ซึ่งการจะปรับตัวขึ้นต่อได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานด้านซัพพลายและดีมานด์เป็นสำคัญ

"น้ำมัน" คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากกลยุทธ์ข่มขวัญตลาด (Shock and Awe) ก่อนหน้านี้ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) ด้วยการหั่นกำลังการผลิตมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ เพื่อให้ซัพพลายลดฮวบฮาบลง โดยหวังถีบให้ราคาพุ่งทะยานขึ้นในเวลาต่อมา

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานั้น โอเปกระบุว่า ลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 7.97 แสนบาร์เรล/วัน ไปอยู่ที่ทั้งหมด 30.8 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงจาก 31.6 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ธ.ค. 2018 โดยซาอุดิอาระเบีย ยังคงนำทัพปรับลดการผลิตลงมากที่สุด ซึ่งลดการผลิตลงถึง 3.5 แสนบาร์เรล/วัน ไปอยู่ที่ 10.2 ล้านบาร์เรล/วัน ต่ำกว่าโควตาลด กำลังการผลิตที่กำหนดไว้เกือบ 1 แสนบาร์เรล/วัน

นอกจากมาตรการลดกำลังผลิตของโอเปกและพันธมิตรนอกโอเปกแล้ว ซัพพลายน้ำมันยังหดตัวลง เนื่องจากการผลิตน้ำมันของอิหร่านและเวเนซุเอลาจะปรับตัวลงต่อ จากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

แม้ว่าดีมานด์น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในปี 2019 โดยโอเปกคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 1.24 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลง 5 หมื่นบาร์เรล/วัน จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ และยังมีความเป็นไปได้ที่กลุ่ม เชลออยล์สหรัฐจะหวนกลับสู่ตลาด ด้วยการเพิ่มกำลังผลิต แต่กลยุทธ์สร้างความตื่นตระหนกของโอเปกยังพอมีอิทธิฤทธิ์ช่วยดันให้ราคาน้ำมัน ปรับตัวขึ้นได้

นับตั้งแต่ร่วงหนักเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว 10% โดยในระยะสั้นนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 70-75 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ตามคาดการณ์ของโกลด์แมน จาก 65.46 ดอลลาร์/บาร์เรล ด้านราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อยู่ที่ 55.96 ดอลลาร์/บาร์เรล ระหว่างการซื้อขายเมื่อวันที่ 6 มี.ค. หลังจากนั้น ราคาน้ำมันคาดว่าจะปรับลงช่วงครึ่งหลังของปี 2019

อีกฟากหนึ่งนั้น "ทอง" มีแนวโน้มเคลื่อนไหวสวนทางกับตลาดน้ำมัน แม้ราคาทองเพิ่งร่วงแตะระดับ ต่ำสุดรอบ 5 สัปดาห์ไปเมื่อไม่กี่วันนี้ โดยราคาทองสปอตอยู่ที่ 1,285.41 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาทองฟิวเจอร์สอยู่ที่ 1,286.80 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. คงกล่าวได้ว่าราคาทองได้รับแรงกดดันจากปัจจัยระยะสั้นคือเรื่องค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อยู่ในทิศทางแข็งค่า โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ เทียบ 6 ตะกร้าสกุลเงินหลัก ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 97.008 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา แตะระดับสูงสุดรอบ 2 สัปดาห์

ขณะที่อีกปัจจัยสำคัญซึ่งมีผลไม่น้อยต่อราคาทอง คือเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ในช่วงไม่นานนี้ เริ่มมีข่าวดีว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งกันได้ จากการ ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ จะพบปะกับประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ราววันที่ 27 มี.ค.นี้ เพื่อเซ็นดีลปิดฉากศึกการค้า

ความคืบหน้าดังกล่าวทำให้ทองดูไม่แวววาวจับตานักลงทุนที่เริ่มกล้า ขยับไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ศึกการค้าจะยังคงเป็นความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ต้องจับตากันต่อไปอีกยาวๆ เพราะแม้สงครามกับจีนใกล้สงบ แต่ทรัมป์อาจไม่จบแค่นั้น สะท้อนออกมาจากการกำลังเดินหน้าไล่บี้คู่ค้าอื่นๆ เช่น อินเดียที่จะเตรียมตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และมีข่าวว่าจะเพิ่มแรงกดดันญี่ปุ่นเรื่องค่าเงินเยนด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ทองจะคัมแบ็กอีกครั้ง ไปแตะที่ประมาณ 1,400 ดอลลาร์/ออนซ์ ในอีก 6 เดือนข้างหน้า และปรับขึ้นต่อไปอยู่ที่ 1,450 ดอลลาร์/ออนซ์ ในอีก 12 เดือนหน้านี้ ตามคาดการณ์ของโกลด์แมน ซึ่งปรับขึ้นจาก 1,425 ดอลลาร์/ออนซ์ สำหรับช่วง 12 เดือน

สำหรับ "สินค้าเกษตร" ที่ตกเป็นเหยื่อเผชิญผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากการสาดกำแพงภาษีใส่กันระหว่างจีนและสหรัฐนั้น ยังคงไม่มีวี่แววจะฟื้นคืนชีพในปีนี้

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าจีนตกลงจะซื้อสินค้าเกษตรหลายรายการเพิ่มจากสหรัฐไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี คิดเป็นมูลค่า 3 หมื่น ล้านดอลลาร์ (ราว 9.4 แสนล้านบาท) หลังการเจรจาการค้ารอบล่าสุดผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น แต่ความน่าวิตกก็ยังไม่หมดลง เพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่สรุปว่าจะยกเลิกกำแพงภาษีที่เคยตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีความเป็นไปได้มากกว่าว่าอาจไม่มีการโละภาษีนำเข้า หมายความว่า สินค้าเกษตรจะต้องเผชิญภาษี 25% ต่อไป โดยโกลด์แมนคาดการณ์ว่า ภาษีดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงปี 2020

นอกจากปัจจัยเรื่องกำแพงภาษีระหว่างสองยักษ์โลกแล้ว เศรษฐกิจจีนโตอ่อนแรงก็มีผลต่อตลาดสินค้าเกษตรด้วยเช่นกัน เพราะจีนเป็นประเทศ ลำดับต้นๆ ที่ซื้อสินค้าเกษตรจาก ทั่วโลกมากที่สุด หากจีนลดการนำเข้าลง ย่อมส่งผลต่อบรรดาประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอย่างแน่นอน

สัญญาณดังกล่าวเริ่มปรากฏออกมาแล้วเมื่อช่วงต้นปี โดยศูนย์ข้อมูลน้ำมันและธัญพืชของจีนคาดการณ์ว่าจีนจะนำเข้าถั่วเหลืองลดลง 9 ล้านตัน เมื่อเทียบรายปีมาอยู่ที่ 86 ล้านตัน ในปี 2019 หลังเมื่อปีที่แล้ว จีนลดการนำเข้าถั่วเหลืองลงเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี

ความหวังว่าสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมัน ทอง และสินค้าเกษตร จะกลับมาฟื้นคืนชีพอย่างแท้จริง จึงยังไม่อาจฟันธงได้ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ท่ามกลางความปั่นป่วนทั่วโลกที่ไม่มีทีท่าว่าจะปิดฉากโดยง่าย

โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

Source: Posttoday

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"