จีนเล็งอัดแผนกระตุ้น ฉุดศก.ขึ้นจากหล่ม

แม้จะเป็นที่รับรู้และคาดการณ์กัน เอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า สงครามการค้า ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี จะส่ง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจแดนมังกรอย่างแน่นอน แต่เมื่อถึงเวลาเปิดเผยตัวเลขจริง สถานการณ์กลับแย่หนักยิ่งกว่าที่คาดกันเอาไว้

และกำลังกลายเป็น 1 ในความเสี่ยงสำคัญของโลกไปด้วย

จากการเปิดเผยล่าสุดของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปี 2018 ที่ผ่านมา ขยายตัวได้เพียง 6.6% หรือ โตต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา โดยทำลายสถิติเดิม 6.7% ของปี 2016 ที่ว่ากันว่าหนักหนาที่สุดไปแล้วอย่างราบคาบ

หากดูเป็นรายไตรมาสยังพบด้วยว่า ตัวเลขไตรมาส 4 ที่ควรจะเป็นช่วงทำเงิน เพราะมีทั้งช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติจีน มหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์วันคนโสด เทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ แต่กลับกลายเป็นว่าจีดีพีในไตรมาสนี้กลับโตได้เพียง 6.4% เท่านั้น หรือต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสเมื่อราว 10 ปีก่อน และสะท้อนว่า นอกจากภาคการผลิตและส่งออกที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจจีน จะมีปัญหาแล้ว ผลกระทบยังลามไปถึง "กำลังซื้อของผู้บริโภค" ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่อีกเส้นของระบบเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ด้วย

หากไม่มีอะไรมาช่วยบรรเทา นักวิเคราะห์บางสำนักคาดว่าสถานการณ์จะยิ่งแย่ลงอีกในปี 2019 นี้ โดยบางรายให้คาดการณ์ต่ำถึง 6.3% ขณะที่หนังสือพิมพ์พีเพิล เดลี สื่อของทางการจีนซึ่งโดยปกติจะไม่ได้เล่นข่าวเชิงลบตามสื่อตะวันตก ก็เริ่มส่งสัญญาณลบออกมา ผ่านรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า จีนอาจลดกรอบจีดีพีปีนี้ลงเหลือระหว่าง 6-6.5% เท่านั้น

ภายใต้สถานการณ์ที่น่าห่วงเช่นนี้ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" จึงเป็นทั้งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และเป็นทางออกเดียวที่รัฐบาลปักกิ่งต้องคลอดออกมา เพื่อเร่งกอบกู้เศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ยากระตุ้นตัวใหม่จะตามมาแน่นอนในปีนี้

แต่จะมาในรูปแบบไหน และเป็นโดสที่มีปริมาณและให้ผลมากน้อยเท่าใดนั้น ยังเป็นสิ่งที่ยังมีการถกเถียงและคาดเดากันอยู่

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าด้วย "ข้อจำกัด" หลายด้านของจีนที่ต่าง ไปจากสมัยปี 2010 และ 2015 จะทำให้จีนเลือกที่จะไม่ใช้มาตรการ กระตุ้นล็อตใหญ่แบบที่เคยทำมาอีก หรือไม่ต้องคาดหวังเลยว่าจะได้เห็นสไตล์พี่ใหญ่ใจป้าหว่านเงินอย่างเดียวอีก แม้ในกระเป๋าสตางค์จะ ยังมีเงินเหลือเฟือก็ตาม

เพราะต้องไม่ลืมว่า จีนเองยังมีความเสี่ยงเรื่องระเบิดเวลา "หนี้" ที่พัวพันกันอีรุงตุงนังจนไม่ได้แก้กันง่ายๆ และยังมีความเปราะบางเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนกับดอกเบี้ยขาขึ้นควบคู่กันไปด้วย

วอลสตรีทเจอร์นัล ระบุว่า เมื่อปี 2015 จีนในยุคประธานาธิบดีสีจิ้นผิง คนเดียวกันนี้ ยังใช้วิธีโอบอุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์และรัฐวิสาหกิจได้ โดยในช่วงนั้น ภาคครัวเรือนจีนยังไม่มีปัญหา หนี้จีนส่วนใหญ่เป็นหนี้รัฐวิสาหกิจ อีกทั้งอยู่ในช่วงดอกเบี้ยถูก ทำให้สามารถกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งช่วยทั้งตลาดอสังหาฯ ไปจนถึงรัฐวิสาหกิจกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและปูนซีเมนต์ได้ไปพร้อมๆ กัน โดยสะท้อนได้จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้าง ที่เคยโตในระดับ 17% เมื่อต้นปี 2015 ได้ขยายตัวไปถึง 35% ในสิ้นปี 2016

แต่ในปัจจุบัน ที่สัดส่วนการบริโภคของจีนกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจยุคบริโภคนิยมไปแล้ว ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวขึ้นต่อเนื่องไปตามทิศทางเดียวกับสหรัฐ รายได้สุทธิหลังหักภาษีก็มีสัดส่วนที่ต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีอีก 2 ตัวแปรมากดดันเพิ่มคือ 1.ดอกเบี้ยขาขึ้น และ 2.ตลาดการ จ้างงานในจีนที่ตึงตัวมากขึ้น จึงทำให้ครัวเรือนจีนไม่สามารถเป็นตัวแบก ผ่านการกู้ยืมเหมือนที่ผ่านมาได้อีก

ทางออกที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจีนน่าจะใช้ก็คือ กระตุ้นแบบเฉพาะเจาะจง และผสมผสาน หลายส่วนการบริโภคในจีนนั้นยังคงเป็นกำลังสำคัญและยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในภาพรวม ไชน่า เดลี่ เคยรายงานอ้างไชน่า ดีเวลอปเมนต์ ฟอรั่ม ว่า การบริโภคของจีนในปัจจุบันขยับแซงหน้าการผลิตและการค้าขึ้นมาเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของจีดีพีประเทศแล้ว ดังนั้น จึงยังต้องกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำผ่าน "มาตรการลดภาษี" ที่น่าจะประกาศ ได้ระหว่างการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ในเดือน มี.ค.นี้

รัฐมนตรีคลังจีนคนใหม่ หลิวคุน เคยเปิดเผยในที่ประชุมเมื่อเดือน ธ.ค.ว่า มาตรการหั่นภาษีในปีนี้มีแนวโน้มสูงเกินวงเงินปีที่แล้วอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านหยวน (ราว 6 ล้านล้านบาท) ขณะที่ไชน่า เดลี่ คาดการณ์ว่า ในปี 2019 วงเงินมาตรการดังกล่าวจะอยู่ที่ทั้งหมด 1.5-2 ล้านล้านหยวน (ราว 7-9 ล้านล้านบาท) และครอบคลุมหลายด้านทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีนิติบุคคล ที่ช่วยตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงเอสเอ็มอี

เป็นที่คาดการณ์กันว่า มาตรการลดภาษีของจีนจะดำเนินการควบคู่ไป กับการใช้ "นโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายยิ่งขึ้น" ของธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ซึ่งเริ่มเปิดเผยออกมาบ้างแล้ว เช่น การปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 1% เมื่อเดือน ม.ค.เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน ซึ่งเป็นความต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วที่ลด RRR ไปถึง 5 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดว่าจะมีการใช้วิธีอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ เพื่อคุมดอกเบี้ยกู้ยืมในตลาดกลายๆ โดยไม่ต้องไปลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในระบบ เพราะจะกระทบต่อค่าเงินหยวน โดยในเดือนนี้เอง ธนาคารกลางจีนเพิ่งอัดฉีดสภาพคล่องล็อตใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อไกด์ดอกเบี้ยกู้ยืมให้ต่ำลง นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า จีนไม่น่าจะลดดอกเบี้ยอ้างอิงโดยตรง และรัฐบาลน่าจะรอดูผลมาตรการต่างๆ ที่ใช้เวลาสักพักจึงจะเห็นผลก่อน

ขณะเดียวกัน เป็นที่คาดว่าจีนจะผ่อนปรนเรื่องมาตรการลดหนี้ลงด้วย โดยจีดีพีที่อ่อนแอลงนั้นส่วนหนึ่งยังเป็นผลพวงมาจากมาตรการคุมหนี้ของจีนเอง ที่เข้มงวดเรื่องธนาคารเงามากขึ้น ไม่ได้มาจากสงครามการค้าทั้งหมด วาณิช ธนกิจโกลด์แมน แซคส์ จึงคาดการณ์ว่าเมื่อจีนผ่อนปรนความเข้มงวดต่างๆ บวกกับการใช้มาตรการกระตุ้นผสมผสานกันไปแล้ว เศรษฐกิจจีนจึงน่าจะมีสัญญาณ ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ กระตุ้นล็อตใหญ่แบบที่เคยทำมา

ที่เหลือจึงต้องรอจับตาการประชุมสภาในเดือน มี.ค.นี้ ที่จะมีการเคาะรายละเอียดท้ายสุดของแผนกระตุ้นต่างๆ ออกมา และรอดูผลจากมาตรการต่างๆ ที่น่าจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ว่า จะเพียงพอที่จะสามารถปลุกชีพมังกรจีนให้พ้นบ่วงเศรษฐกิจทรุดในรอบเกือบ 30 ปีได้หรือไม่

โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

สนับสนุนข่าวโดย ICMarkets
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"