แม้ซิลิคอน วัลเลย์ของสหรัฐ ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งสตาร์ทอัพมาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่เหล่าสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กลับเลือกหันหลังให้โมเดลการปั้นธุรกิจตามสไตล์อเมริกัน
แต่เลือกเดินตามรอยความสำเร็จของบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนแทน
เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์ รายงานว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้บรรดาสตาร์ทอัพอาเซียนเลือกเอาโมเดลของธุรกิจจีนมาใช้นั้น มาจากความเหมือนในแง่เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต (Internet Economy) ที่อัตราการใช้สมาร์ทโฟนอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมากยิ่งขึ้น
เหียนโกห์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนของโอเพนสเปซ เวนเจอร์ส บริษัทลงทุนสตาร์ทอัพเทคโนโลยีในสิงคโปร์ เปิดเผยว่า รูปแบบธุรกิจที่พึ่งสมาร์ทโฟนเป็นหลักซึ่งจีนเป็นผู้ริเริ่ม กำลังได้รับความนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอัตราการใช้มือถือสูง และคนส่วนใหญ่ก็เริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านทางมือถือ ต่างกับชาติตะวันตกที่คนส่วนมากเริ่มเข้าถึงออนไลน์จากคอมพิวเตอร์
สตาร์ทอัพด้านค้าปลีกคือตัวอย่างชัดเจนของการเอาโมเดลธุรกิจจีนมาใช้ โดย "ออนเนสบี" สตาร์ทอัพพัฒนาร้านของชำออนไลน์จากสิงคโปร์ เปิดตัว "ฮาบิแทต" ซูเปอร์มาร์เก็ตอัจฉริยะ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คล้ายคลึงกับซูเปอร์มาร์เก็ต "เหอหม่า" ในจีนของอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโมเดลค้าปลีกแบบ "นิวรีเทล" หรือค้าปลีกรูปแบบใหม่ ที่ผสมผสานค้าปลีกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่
ขณะเดียวกัน "คารูเซลล์" แพลตฟอร์ม ขายของมือสองในสิงคโปร์ ผู้บุกเบิกการสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดให้ผู้ใช้เข้ามาขายของได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพียงแค่ถ่ายรูปสินค้าแล้วโพสต์ขายลงเว็บ ล่าสุดนั้น คารูเซลล์ได้ขยายธุรกิจด้วยการเปิดบริการ "คารูเพย์" ระบบชำระเงินภายในแอพที่เพิ่มความปลอดภัยในการซื้อขายสินค้า ซึ่งผู้ขายจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อผู้ซื่อได้รับสินค้าแล้ว โดยรูปแบบระบบนี้คล้ายกับอาลีเพย์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลระบบการรับชำระเงินระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย บนแพลตฟอร์มเถาเป่า
ทั้งนี้ กระแสสตาร์ทอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปรับใช้รูปแบบธุรกิจของจีนนับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของจีน หลังจากบริษัทของจีนจำนวนมาก เคยปรับใช้รูปแบบธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีดังจากสหรัฐ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเวลานั้น จีนยังคงอยู่ในขั้นกำลังพัฒนาประเทศขึ้นสู่เป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีรายใหม่ของโลก
มุ่งพัฒนาซูเปอร์แอพ
นอกจากสตาร์ทอัพด้านค้าปลีกแล้ว สตาร์ทอัพด้านอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังเดินตามรูปแบบธุรกิจของจีนด้วย เช่น แกร็บและโกเจ็ก ผู้ให้บริการเรียกรถรับส่งรายใหญ่ในภูมิภาค ที่ขยายไปสู่บริการอื่นๆ ด้วยแผนพัฒนาสู่ "ซูเปอร์แอพ" หรือแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายครบวงจรได้ภายในแอพเดียว
ทั้งนี้ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า การพัฒนาจากแอพธรรมดาจนกลายเป็นซูเปอร์แอพนั้น มีต้นแบบเริ่มมาจากวีแชตของเทนเซนต์ โดยในช่วงแรกที่เพิ่งเปิดบริการในปี 2011 นั้น วีแชตเป็นเพียงแอพสนทนาธรรมดา ซึ่งในเวลาต่อมาได้เพิ่มบริการต่างๆ เข้าไป จนกลายเป็นแอพหลักของผู้บริโภค โดยมีบริการมากมายตั้งแต่เกมมือถือไปจนถึงแชร์จักรยาน
ด้านโกเจ็กเริ่มต้นจากบริการขนส่งในอินโดนีเซีย โดยเน้นที่บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์ก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่บริการขนส่งอาหาร ของชำ และพัสดุ จากนั้นต่อยอดไปสู่บริการไลฟ์สไตล์อื่นๆ เช่น บริการจองคิวนวด และซื้อตั๋วภาพยนตร์ด้วย ขณะที่แกร็บก็เริ่มต้นจากบริการเรียกรถรับส่งเหมือนโกเจ็ก ก่อนจะขยายสู่บริการเดลิเวอรี่อาหาร บริการส่งของชำออนดีมานด์ ภายใต้แผนพัฒนาสู่แอพในชีวิตประจำวันของผู้ใช้
ตะวันตกหันมองจีน
ขณะเดียวกัน ฮันส์ ตุง หุ้นส่วนของจีจีวี แคปปิตอล บริษัทร่วมลงทุน และผู้ลงทุนในไลม์ (Lime) สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มแชร์จักรยานและสกูตเตอร์ในสหรัฐ เปิดเผยว่า รูปแบบธุรกิจที่มีต้นกำเนิดจากจีน เช่น การแชร์จักรยานยังได้แพร่กระจายและได้รับความนิยมในชาติฝั่งตะวันตก รวมถึงชาติกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"การแชร์จักรยานในสหรัฐยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับการแชร์สกูตเตอร์ เพราะสกูตเตอร์สามารถแล่นได้ไกลกว่าและควบคุมง่ายกว่า และถึงแม้ว่ารูปแบบของการใช้งานจะแตกต่างกัน แต่ว่าการใช้ฟีเจอร์ล็อกและปลดล็อกอุปกรณ์ด้วยมือถือ คล้ายกับรูปแบบธุรกิจแชร์จักรยานในจีนมาก" ตุง กล่าว
โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
Source: Posttoday
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/