กลายเป็นเรื่องใหญ่เหนือความคาดหมายไปแล้วสำหรับกรณีการหายตัวอย่างลึกลับของ จามาล คาช็อกกี นักข่าววอชิงตันโพสต์ชาวซาอุดิอาระเบีย ที่มีภาพกล้องวงจรปิดเดินเข้าไปในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบีย ประจำนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี
แต่ไม่ได้กลับออกมาหลังจากนั้น รวมเป็นเวลาครบ 2 สัปดาห์แล้ว กรณีนี้นำไปสู่การสันนิษฐานเรื่องการถูกอุ้มหายหรือฆาตกรรม และกลับยิ่งลุกลามเพราะถูกตุรกีสาวลึกและกล่าวหาว่าอาจเป็นคำสั่งตรงมาจากบุคคลระดับสูงในซาอุดิอาระเบีย จึงเกิดกระแสเรียกร้องจากหลายฝ่าย รวมถึงในวุฒิสภาสหรัฐเอง ให้รัฐบาลสหรัฐสอบสวนเรื่องนี้และลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง จนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะออกบทลงโทษอย่างหนักหากพบว่าสายลับซาอุฯ เป็นผู้ลงมือ หรือรัฐบาลซาอุฯ มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องนี้
แม้ทรัมป์จะไม่ได้ระบุรายละเอียดชัดเจน แต่หลายฝ่ายก็โยงความเป็นไปได้ไปที่การใช้ "มาตรการคว่ำบาตร" โดยเฉพาะคว่ำบาตรการขายอาวุธ จนทำให้อีกฝ่ายออกแถลงการณ์อย่างแข็งกร้าวและสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ตามมาว่า "จะตอบโต้ทุกคำขู่หรือเสียงเรียกร้องให้คว่ำบาตรตนเองด้วยสิ่งที่รุนแรงกว่า"
ตลาดน้ำมันโลกมีปฏิกิริยาตอบรับทันทีโดยสัญญาน้ำมันดิบเบรนต์ บวกขึ้น 1.26% เมื่อวานนี้ หรือบวกไป 1.01 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปอยู่ที่ 81.44 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยนักค้าและนักวิเคราะห์หลายฝ่ายระบุตรงกันว่า นี่คือการข่มขู่ของซาอุดิอาระเบีย โดยจับเอา "น้ำมัน" เป็นตัวประกัน (อีกครั้ง) และเป็นการตอกย้ำให้โลกตระหนักอีกครั้งว่า อย่าลองดีกับ ซาอุฯ ที่มีน้ำมันเป็นไพ่ตายอยู่ในมือ
คำขู่ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายหวนนึกถึง "วิกฤตการณ์น้ำมันปี 1973" หรือเมื่อ 45 ปีก่อนที่กลุ่มประเทศ ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) นำโดยซาอุฯ ประกาศลดการขายน้ำมันให้กับประเทศใดก็ตามที่เป็นพันธมิตรหรือมีนโยบายสนับสนุนอิสราเอล ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐที่เป็นพันธมิตรหลักของอิสราเอล นำไปสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้รถยนต์ขนาดเล็กจากญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาตีตลาดในอเมริกาได้
โรเจอร์ ดิวาน ที่ปรึกษาของบริษัท ไอเอชเอส มาร์กิต ให้มุมมองกับบลูมเบิร์กว่า ซาอุฯ กำลังแหกจารีตที่ไม่มีใครเอาเรื่องน้ำมันมาข่มขู่กัน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าทองคำดำเป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจโลกมากเพียงใด
ความน่ากังวลนี้ยิ่งถูกกระตุ้นให้ตื่นตระหนกมากขึ้นไปอีกจากบทความแสดงความเห็นของ เตอร์กี อัล ดากิล ในสำนักข่าว อัล-อราบิยา สำนักข่าวของทางการซาอุฯ ที่เขียนถึงการใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อตอบโต้ว่า ถ้าหากประธานาธิบดีทรัมป์ขุ่นเคืองกับราคาน้ำมัน 80 ดอลลาร์แล้วละก็ อย่าลืมสิว่าราคาน้ำมันยังมีโอกาสพุ่งขึ้นไปแตะ 100 ดอลลาร์ หรือ 200 ดอลลาร์ หรืออาจเป็น 2 เท่าจากนั้นได้อีก
แม้ว่าทางฝั่งรัฐมนตรีน้ำมันของ ซาอุฯ คาลิด อัล ฟาห์ลี จะพยายามบรรเทาความกังวลของหลายฝ่ายระหว่างที่เยือนอินเดียอยู่ แต่การที่บทความของอัล-อราบิยา ออกมาตามหลังแถลงการณ์ขู่ของซาอุฯ ก็นับเป็นการสะท้อนชัดเจนว่า ซาอุฯ กำลังเล่นนอกกรอบการทูตปกติไปพร้อมกัน และกำลังแหกขนบธรรมเนียมปฏิบัติของตนเองว่า จะไม่โยงการเมืองกับน้ำมันเข้าด้วยกัน
ยิ่งช่วงเวลาในขณะนี้ยิ่งถือเป็นช่วง "หัวเลี้ยวหัวต่อ" ที่สำคัญในตลาดน้ำมันโลกอย่างยิ่ง เพราะมาตรการ คว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐกำลังจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 พ.ย.ที่จะถึงนี้แล้ว และปัจจุบันประเทศคู่ค้าหลายรายของสหรัฐ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ก็เริ่มระงับการซื้อน้ำมันจากอิหร่านแล้ว ส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ
ที่สำคัญก็คือ นอกจากซาอุฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกแล้ว ก็แทบจะไม่มีใครมีศักยภาพเพียงพอ ที่จะสามารถผลิตเพิ่มเพื่อทดแทนซัพพลายของอิหร่านได้อีก ขณะที่รัสเซียเองซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิต รายใหญ่ของโลกนั้น ก็อยู่ในภาวะ ระหองระแหงกับซีกโลกตะวันตก อยู่จากหลายคดีด้วยกัน
สตีเฟน อินเนส จากบริษัทค้าน้ำมันโอยันดา มองว่า หากซาอุฯ ใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองจริง ก็อาจจะยิ่งสร้างความผันผวนและปั่นป่วนให้กับตลาดทุนโลกมากขึ้นไปอีก จากเดิมที่มีปัญหาสงครามการค้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
นอกจากไพ่ตายเรื่องน้ำมันแล้ว หลายฝ่ายยังมองตรงกันว่าสัญญาการซื้อขาย "อาวุธ" ซึ่งซาอุฯ เป็นลูกค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดเบอร์ 1 ของสหรัฐ ภายใต้ดีล 1.1 แสนล้านดอลลาร์ ก็เป็นอีกหนึ่งไพ่ตายที่ทำให้รัฐบาลวอชิงตันไม่กล้าคว่ำบาตร หรือทำอะไรกับซาอุฯ เช่นกัน
เรื่องอาวุธนี้ส่งผลต่อรัฐบาลทรัมป์หลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผลงานให้รัฐบาลทรัมป์ไปคุยโวในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้ามหาศาล หรือผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธที่เป็นทั้งฐานเสียง ฐานเงิน และผู้กุมอำนาจสำคัญในวอชิงตัน และยังกระทบชิ่งไปถึงแรงงานชาวอเมริกันในกลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธเองด้วย
ฟอร์บส์ ระบุว่า การจะเปลี่ยนขั้วจากมิตรไปเป็นศัตรู ยังสร้างความเสี่ยงทางนโยบายให้รัฐบาลทรัมป์ไม่น้อยด้วย ในฐานะที่เป็นผู้เปลี่ยนขั้วนโยบายมาจากสมัยรัฐบาล บารัก โอบามา ฉีกสัญญาอิหร่านที่คุยกันมากับอีก 5 ชาติ และหันไปเทข้างซาอุฯ รวมถึงอิสราเอลแทน ยังไม่นับรวมเรื่องผลประโยชน์จากดีลบริษัทน้ำมัน "อรามโก" ที่มีแผนจะเข้าตลาดหุ้น และสหรัฐเองก็ลุ้นเป็นบ้านใหม่ของอรามโกที่จะได้ประโยชน์มหาศาลจากการเข้าตลาดครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
เสรีภาพสื่ออาจเป็นปัญหาใหญ่ของสหรัฐ และอาจสะเทือนความ น่าเชื่อของยุทธศาสตร์ วิชั่น 2030 ที่ซาอุฯ ปั้นมากับมือให้พังลง แต่อาจไม่ใหญ่ไปกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่สหรัฐกำลังชั่งน้ำหนักอยู่ในขณะนี้
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday
เพิ่มเติม
- Oil Prices Rise on U.S.-Saudi Tensions:
คลิก
- Pompeo meets Saudi king on Khashoggi case, Turks study 'toxic materials' :
คลิก
- กงสุลใหญ่ซาอุฯในอิสตันบูลเดินทางออกจากตุรกีแล้ว ก่อนเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นบ้านพัก:
คลิก
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/