ปัญหาของตุรกี มีมากแต่ไม่น่าส่งผลกระทบในวงกว้าง

ตุรกี มีปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาไปสู่วิกฤติ เพราะปัจจัยหลายประการ และกำลังส่งผลกระทบเชิงลบกับประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ แต่ผมไม่เชื่อว่าจะแพร่ขยายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่

เหมือนที่ได้เกิดขึ้นในปี 1997 ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจไทย นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้

ณ วันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินของตุรกีปรับลดลงไปแล้ว 43% เมื่อเทียบกับวันที่ 1 เม.ย.ปีเดียวกัน(ซึ่งเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เริ่มปรับขึ้นภาษีศุลกากร การนำเข้าสินค้าเหล็กกล้า และอลูมิเนียม ซึ่งกระทบกับการส่งออกของตุรกีด้วย) นอกจากนั้น ค่าเงินของแอฟริกาใต้และรัสเซียก็ปรับลงอย่างมาก แต่ประเทศในเอเชียยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ในความเห็นของผมนั้น ค่าเงินในเอเชียน่าจะถูกชี้นำโดยค่าเงินหยวนของจีนมากกว่า และเป็นที่ทราบกันดีว่าจีนเร่งการปล่อยสินเชื่อ (สินเชื่อใหม่ในเดือน ก.ค.เท่ากับ 1.45 ล้านล้านหยวน มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 1.275 ล้านล้านหยวน และสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 75% นอกจากนั้น จีนก็ยังได้ลดดอกเบี้ยลง และเริ่มเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อันจะทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งธนาคารกลางจีนก็ไม่ได้ฝืน แต่ค่อยๆ ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงไปแล้วประมาณ 8% ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีน โดยประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวคือ เริ่มเป็นที่รับรู้กันว่า จีนพร้อมจะเห็นความขัดแย้งทางการค้ายืดเยื้อต่อไปอีก ไม่ยอมที่จะขอสหรัฐเจรจาเพื่อให้ยุติความขัดแย้งโดยเร็ว

ทั้งนี้คาดว่าจีน จะรอผลการเลือกตั้งรัฐสภาของสหรัฐในวันที่ 6 พ.ย. ที่จะถึงนี้ และหากพรรคริพับลิกันสูญเสียเสียงข้างมากในสภาล่าง (และอาจสูญเสียเสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วย) ก็จะทำให้อำนาจต่อรองของประธานาธิบดีทรัมป์ลดลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะคลี่คลายไปได้โดยเร็ว เพราะพรรคเดโมแครทก็มีจุดยืนที่ต้องการกีดกันการค้าเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

ที่ต้องกล่าวถึงท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น ก็เพราะว่าความมุ่งมั่นของทรัมป์ที่ต้องการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐเป็นวัตถุประสงค์หลัก เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนมีปฏิกิริยาในทางลบอย่างรุนแรงต่อวิกฤติเศรษฐกิจของตุรกี เพราะประธานาธิบดีทรัพม์ซ้ำเติมสถานการณ์ โดยประกาศทางทวิตเตอร์ ว่า จะเพิ่มภาษีศุลกากรที่เก็บบนสินค้าเหล็กกล้า และอลูมิเนียมจากตุรกีอีกเท่าตัว กล่าวคือ จาก 25% และ 10% ตามลำดับมาเป็น 50% และ 20% เพราะค่าเงินของตุรกีได้ปรับลดลงอย่างมาก

ในอดีตนั้น สหรัฐจะมองในภาพใหญ่และพยายามจำกัดผลกระทบจากปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ให้ลุกลามไปกระทบกับระบบการเงินของโลกโดยรวม อาทิ กรณีวิกฤติเม็กซิโก เมื่อปี 1995 และวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 แม้แต่กรณีล่าสุดคือวิกฤติในอาร์เจนตินา สหรัฐก็ให้การสนับสนุน ไอเอ็มเอฟ ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ อาร์เจนตินา เพื่อช่วยจำกัดการลุกลามของปัญหา (contagion) แต่ในกรณีของตุรกีนั้น การประกาศของทรัมป์ ถือได้ว่าเป็นการทำให้สถานการณ์เลวลง และเมื่อนักข่าวสอบถามไปที่ทำเนียบขาว และกระทรวงการคลังของสหรัฐ เพื่อขอรับทราบแนวนโยบายของสหรัฐในการจำกัดผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของตุรกี ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากหน่วยงานทั้ง 2

ทั้งนี้ไม่ใช่จะไปกล่าวโทษสหรัฐแต่ฝ่ายเดียว เพราะต้นตอของปัญหาคือ ตุรกีเอง ที่สร้างความเปราะบางทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น และต่อมา ผู้นำของตุรกีคือ ประธานาธิบดีเออโดแกน ก็ดำเนินนโยบายที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งผมขอสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ปัจจัยพื้นฐานที่เปราะบาง
- ตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเท่ากับ 5.5% ของจีดีพี (ทำให้ต้องกู้เงินตราต่างประเทศประมาณเดือนละ 3,000-4,000 ล้านเหรียญ เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว)

- หนี้ต่างประเทศระยะสั้นของตุรกี น่าจะอยู่ที่ประมาณ 120,000 ถึง 150,000 ล้านเหรียญในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศมีเพียง 130,000 ล้านเหรียญ (เหมือนไทยในปี 1996 ที่เงินทุนสำรองน้อยกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น)

- หนี้ต่างประเทศระยะยาวสูงมากคือ ประมาณ 53.2% ของ จีดีพี โดย จีดีพี ประมาณ 850,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (แต่ จีดีพี กำลังลดลงเรื่อย ๆ เพราะเงินตุรกีอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว)

- อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงถึง 11-12%

นโยบายที่บั่นทอนความเชื่อมั่น

- ประธานาธิบดี เออโดแกน แทรกแซง ธนาคารกลางตุรกี โดยไม่ยอมให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล (ถูกกำหนดโดยตลาด) ปรับขึ้นไปกว่า 20% แล้ว

- ประธานาธิบดี ตุรกี ตั้งลูกเขยเป็นรัฐมนตรีคลัง

- ผู้นำตุรกี ขอให้ประชาชนขายดอลลาร์ และซื้อเงินตุรกี เพื่อช่วยแก้ปัญหาประเทศ และบอกว่า ได้คุยกับประธานาธิบดี ปูติน ของรัสเซีย เพื่อให้ความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่รัสเซียเองนั้น จีดีพี เพียง 1.3 ล้านล้านเหรียญ และเงินรูเบิลก็กำลังเผชิญปัญหาอ่อนค่า จึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือตุรกีได้

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
คอลัมนิสต์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเศรษฐกิจ คอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์จานร้อน"

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645332 

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"