สหรัฐรุกบี้อิหร่าน โลกยากต้านน้ำมันแพง

หลังประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ในเดือน พ.ค. สหรัฐได้กลับมาใช้มาตรการ คว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการระลอกแรกเพื่อสกัดการสำรองเงินสกุล

ดอลลาร์สหรัฐของอิหร่าน และมุ่งไปที่ธุรกิจยานยนต์ การซื้อเครื่องบินพาณิชย์และแร่ธาตุต่างๆ ที่รวมถึงทองคำ

สำหรับมาตรการรอบสองจะเกิดขึ้นในวันที่ 4 พ.ย.นี้ โดยพุ่งไปที่อุตสาหกรรมน้ำมันและธนาคารกลางอิหร่านโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ลดลงราว 7 แสน-1 ล้านบาร์เรล/วัน โดยปัจจุบันอิหร่านมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 3.75 ล้านบาร์เรล/วัน และส่งออก 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบอันดับ 3 ในกลุ่มโอเปก และใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

ความน่าหวาดหวั่นของมาตรการคว่ำบาตรไม่ได้อยู่ที่การจะฉุดปริมาณการส่งออกน้ำมันลงเท่านั้น แต่ยังกดดันให้นานาประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านทั้งหมด และล่าสุดนั้น ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ข่มขู่ซ้ำว่าสหรัฐจะสะบั้นสัมพันธ์กับเอกชน ที่ยังทำธุรกิจกับอิหร่าน ท่ามกลาง ความวิตกอุปทานน้ำมันตึงตัวในขณะนี้ หลังปริมาณการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย สมาชิกกลุ่มประเทศ ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) อยู่ที่อยู่ที่ 10.3 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงราว 2 แสนบาร์เรล/วัน จาก 10.4 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน มิ.ย.

ก่อนหน้านี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า ซาอุดิอาระเบียส่งสัญญาณว่าอาจปรับลดการผลิตลง หากไม่สามารถหาผู้ซื้อน้ำมันเพิ่มได้ เนื่องจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อรุนแรงระหว่างสหรัฐและจีนเสี่ยงฉุดดีมานด์น้ำมันลง

สถานการณ์ดังกล่าวจึงปลุกความกังวลเรื่องราคาน้ำมันแพงขึ้นมา อีกครั้งหนึ่ง โดย อะมิตรา เซน หัวหน้า นักวิเคราะห์ด้านน้ำมันจาก บริษัท อีเนอร์จี แอสเปกส์ เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มกลับไปพุ่งแตะ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ เวสเบ็ก แคปปิตอล บริษัท บริหารจัดการการลงทุนในอังกฤษ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มทะยานขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ในปีหน้า

ด้วยเหตุนี้ มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐจึงยิ่งกดดันให้โลกแทบจะไร้หนทางตั้งรับราคาน้ำมันแพง และทำได้แค่เพียงงัดทางเลือกเฉพาะหน้าขึ้นมาใช้ก่อน ท่ามกลางความไม่แน่ชัดว่าโอเปกจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาชดเชยปริมาณน้ำมันจากอิหร่านได้หรือไม่

ขณะที่สหรัฐเองไม่มีทีท่าว่าจะยอมผ่อนปรนยกเว้นให้ชาติใดสามารถทำธุรกิจกับอิหร่านได้ต่อ โดยอ้างว่าต้องการกดดันอิหร่านขั้นสูงสุด หมายความว่าโอกาสที่จะยังนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านโดยไม่กระทบกระทั่งกับสหรัฐยิ่งริบหรี่ลงเรื่อยๆ

ท่ามกลางแรงกดดันจากสหรัฐ บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและอินเดีย จึงงัดมาตรการเฉพาะหน้าขึ้นมาใช้ โดยเร่งนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านก่อนการคว่ำบาตรจะมีผลบังคับ

เอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ ซึ่งรายงานข่าวอุตสาหกรรมน้ำมันโดยเฉพาะ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากโรงกลั่นหลายแห่งเร่งเพิ่มการนำเข้า นับตั้งแต่สหรัฐส่งสัญญาณเดินหน้าคว่ำบาตรอิหร่าน ญี่ปุ่นพยายามค่อยๆ ลดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านลงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงฉับพลัน

ข้อมูลจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านเฉลี่ย 1.62 แสนบาร์เรล/วัน คิดเป็น 5.3% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด ลดลง 2.7% จากปีก่อนหน้านี้ โดยญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านมากสุดเป็นอันดับ 6 อยู่ที่ราวเกือบ 2 แสนบาร์เรล/วัน ในช่วงเดือน มิ.ย. 2017- มิ.ย.2018

ขณะเดียวกัน JXTG Nippon Oil & Energy บริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่สุดของญี่ปุ่นเปิดเผยว่าอาจระงับการ นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านในเดือน ก.ย. จากความวิตกมาตรการคว่ำบาตร

ด้านอินเดียซึ่งนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านมากสุดอันดับ 2 รองจากจีน อยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาร์เรล/วัน มีความเคลื่อนไหวคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น โดย รอยเตอร์สรายงานว่า อินเดียนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านราว 7.15 แสนบาร์เรล/วัน ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ลดลง 45%จากช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้

ขณะที่เมื่อเทียบเป็นรายเดือนแล้ว การนำเข้าน้ำมันอิหร่านของอินเดีย ลดลงจาก 7 แสนบาร์เรล/วัน ในเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ 5.92 แสนบาร์เรล/วัน ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ ยังระบุว่า Hindustan Petroleum รัฐวิสาหกิจน้ำมันรายใหญ่สุดอันดับ 3 หยุดการนำเข้าน้ำมันอิหร่านเช่นกัน

สำหรับประเทศฝั่งยุโรปที่มีจุดยืนคัดค้านสหรัฐมานับตั้งแต่สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ยังคงย้ำว่าจะสนับสนุนให้เอกชนยุโรปทำธุรกิจ ในอิหร่านต่อ แต่ในที่สุดแล้ว ยุโรป เองก็ต้องยอมจำนนต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐเช่นกัน เนื่องจากบริษัทยุโรปจำนวนมากเริ่มชะลอการนำเข้าน้ำมันและการลงทุนในอิหร่านลง โดย ล่าสุดคือเดมเลอร์ บริษัทผลิตรถรายใหญ่ที่ประกาศยกเลิกแผนลงทุนในอิหร่าน

ริชาร์ด โรบินสัน นักวิเคราะห์จาก แอชเบอร์ตัน โกลบอล อีเนอร์จี ฟันด์ คาดการณ์ว่า ยุโรปอาจต้องลดการ นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านลง 60% จากการที่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ ปฏิเสธขนส่งน้ำมัน โดยในปัจจุบัน ยุโรปซื้อน้ำมันจากอิหร่านราว 7 แสนบาร์เรล/วัน

แม้ยุโรปได้บังคับใช้ "ธรรมนูญการป้องกัน" (Blocking Statute) เพื่อปกป้องบริษัทเอกชนของอียูที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่เอกชนหลายแห่งก็ไม่อยากเอาธุรกิจตัวเองไปเสี่ยงจากการถูก คว่ำบาตรจากสหรัฐ

นอกจากนี้ มาตรการล่าสุดของยุโรปอาจปกป้องเอกชนไม่ได้เต็มร้อย ทำได้แค่เพียงบรรเทาผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรเท่านั้น ขณะที่สหรัฐเองก็มีท่าทีเอาจริง และเคยสั่งลงดาบบริษัทที่ฝ่าฝืนมาแล้ว เช่น การสั่งปรับธนาคาร บีเอ็นพี พาริบาส์ ของฝรั่งเศสเกือบ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรปี 2015

มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ของสหรัฐจึงไม่เพียงไล่ต้อนแค่อิหร่านเท่านั้น แต่ยังบีบให้ทั่วโลกเหลือหน ทางตั้งรับน้อยลง ขณะที่น้ำมันกำลังแพงขึ้นในขณะนี้

โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

Source: Posttoday

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"