โลกต้องรู้จักข้า! “อาหลี่” ผู้ถือหุ้นใหญ่ Daimler AG บริษัทแม่ Mercedes-Benz

สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดข่าวช็อกวงการโลกยานยนต์อีกครั้งเมื่อ “จี๋ลี่” (吉利; Geely)” ค่ายผลิตรถยนต์อิสระชั้นนำจากเมืองหางโจวของจีนได้ใช้เงินกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 285,000 ล้านบาท

เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 9.69 ของเดมเลอร์ (Daimler) บริษัทผลิตรถยนต์ชื่อดังของเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเมอร์ซิเดส-เบนซ์ และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเดมเลอร์ไปโดยปริยาย

การเข้าถือหุ้นในเดมเลอร์จุดกระแส Sinophobia หรือ กระแสกลัวจีน ให้ลุกโชนขึ้นในยุโรปอีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2553 Geely ได้เข้าซื้อกิจการวอลโว่ต่อจากฟอร์ด มอเตอร์ ด้วยเงินกว่า 1,800 ล้านหรียญสหรัฐฯ หรือ 59,000 ล้านบาท และชุบชีวิตให้บริษัทรถยนต์สัญชาติสวีดิชกลับมามีชีวิตชีวา

การเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเดมเลอร์ของบริษัทสัญชาติจีน กระตุกให้คณะกรรมการของรัฐสภาเยอรมนีถึงกับต้องเรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามว่า "จี๋ลี่" ได้ละเมิดกฎเกณฑ์ หรือใช้ช่องโหว่ในกฎหมายตลาดหลักทรัพย์เพื่อเข้าถือหุ้นในเดมเลอร์หรือไม่?

จากข้อสงสัยดังกล่าว สื่อภาษาอังกฤษของทางการจีนอย่าง หนังสือพิมพ์ China Daily รีบออกมาเขียนบทบรรณาธิการปกป้องธุรกิจสัญชาติจีน โดยระบุว่า ในการทุ่มเงินก้อนยักษ์เกือบหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเข้าถือหุ้นเกือบ 1 ใน 10 ของเดมเลอร์ "จี๋ลี่" บอกเจตนาไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่า เพื่อต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ (Electric and Autonomous vehicles technology) ของเมอร์เซเดส เบนซ์

นอกจากนี้ "จี๋ลี่" ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเข้าซื้อหุ้นเดมเลอร์หลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ที่ยื่นข้อเสนอด้วยเงินลงทุนกว่า 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 150,000 ล้านบาท แต่ก็ถูกปฏิเสธ และถูกปฏิเสธอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม 2561 จนสุดท้ายประสบความสำเร็จในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561

ว่ากันว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังดีลนี้คือ คือ อดีตซีอีโอชาวเยอรมันของ Morgan Stanley ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของประธานของบริษัท Zhejiang Geely Holding Group

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า จากบริษัทผลิตรถยนต์มอเตอร์ไซค์เล็ก ๆ ในจีนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ณ วันนี้ หลี่ ซูฝู ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัท เจ้อเจียง จี๋ลี่ โฮลดิ้งส์ วัย 54 ปี จะสร้างสิ่งมหัศจรรย์แห่งวงการยานยนต์โลก ด้วยการเป็นเจ้าของและถือหุ้นใหญ่ในแบรนด์รถหรูระดับโลกถึง 2 แบรนด์ด้วยกันนั่นคือ วอลโว่ และ เมอร์เซเดส เบนซ์

วันนี้ “บูรพาไม่แพ้” ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ ... อาตี๋แซ่หลี่ นามหลี่ ซูฝู (李书福)

***********************

ย้อนกลับไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2553 ณ เมืองโกเตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ...

และแล้วข่าวลือชิ้นใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จีนก็กลายเป็นความจริง หลังเสร็จสิ้นการลงนามในสัญญาซื้อขายกิจการมูลค่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 59,000 ล้านบาท) เลวิส บูท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ก็เข้าสวมกอดกับชายชาวจีนวัยกลางคน ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทเจ้อเจียง จี๋ลี่ โฮลดิ้งที่ชื่อ … หลี่ ซูฝู (Li Shufu)

“วันนี้ ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของจี๋ลี่” หลี่กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการลงนามในสัญญาซื้อกิจการ วอลโว่ (Volvo) แบรนด์รถหรูสัญชาติสวีเดนจากฟอร์ด

จี๋ลี่ คืออะไร? หลี่ ซูฝู เป็นใคร? เหตุใดบริษัทของชายชาวจีนวัยเพียง 47 ปี ที่เพิ่งกระโดดเข้าสู่แวดวงยานยนต์ได้เพียงสิบกว่าปี จึงสามารถก้าวขึ้นมาเทคโอเวอร์กิจการรถยนต์ระดับโลกที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 80 ปีได้?

หลี่ ซูฝู (李书福) ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มเจ้อเจียง จี๋ลี่ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของประเทศจีนและบริษัทผลิตรถยนต์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ชายผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1963 ณ เมืองไถโจว มณฑลเจ้อเจียง (มณฑลที่อยู่ติดกับนครเซี่ยงไฮ้) ปัจจุบันอายุ 54 ปี

หลี่เกิดและเติบโตในครอบครัวของเจ้าของกิจการเล็กๆ ในเขตเมืองไถโจวเมืองขนาดกลางของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันมีประชากรราว 6 ล้านคน “ผมเกิดและโตขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ไถโจว มณฑลเจ้อเจียง ตอนนั้นคิดอยู่ว่า หนึ่ง ไม่กลัวความลำบาก สอง ไม่กลัวจน และสามแน่นอนล่ะว่าอยากรวย!” นายใหม่ของวอลโว่เคยเล่าชีวิตและความฝันในวัยเด็กให้กับสื่อมวลชนฟัง

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"