เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นข่าวผลประกอบการของช่อง 3 กันมาบ้างแล้ว ว่าจากกำไร 1,218.29 ล้านบาท ในปี 2559 กลับเหลือเพียง 61 ล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งลดลงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ถึง 94% เลยทีเดียว
การลดลงของผลกำไรช่องสามนั้นสะท้อนให้เห็นถึง การไม่สามารถปรับตัวได้อย่างสิ้นเชิงบนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะหากบริษัทไม่สามารถระบุถึงสิ่งที่เปลี่ยนไปได้ บริษัทมีแนวโน้มที่จะสูญเสียรายได้จากโครงสร้างการบริโภคที่เปลี่ยนไปสูงมาก
คำถาม : แล้วมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างในอุตสาหกรรมสื่อ??
1. คู่แข่ง
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเมื่อก่อนที่ช่องทางการรับสื่อมีไม่มากนัก กลายเป็นปัจจุบันมีช่องดิจิตอลเกิดขึ้น จำนวนช่องทางโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นหมายความถึงการแข่งขันทางตรงที่เพิ่มขึ้น และเค้กในส่วนของค่าโฆษณาโทรทัศน์ถูกแบ่งเหลือชิ้นเล็กลง ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่เท่ากับที่ปัจจุบันนี้ หน้าจอโทรทัศน์ไม่ใช่หน้าจอเดียวที่ผู้บริโภคเสพอีกต่อไป แต่มีทั้งจอโทรศัพท์และแทปเล็ตเข้ามาร่วมด้วย ผู้คนบริโภคข่าวสารและสิ่งบันเทิงผ่าน Facebook, Youtube หรือแม้แต่ แพล็ตฟอร์มที่ต้องเสียเงินอย่าง Iflix หรือ NetFlix คนจำนวนไม่น้อยก็พร้อมที่จะจ่าย
2. เมื่อเวลาและสถานที่ไม่สำคัญอีกต่อไป
ถ้าเราสังเกตพฤติกรรมของคนปัจจุบันนี้ เราจะพบว่า คนจำนวนมากเสพสื่อแทบจะตลอดเวลาที่มีเวลาว่าง ผ่านโทรศัพท์มือถือและแทปเล็ต ดังนั้น แนวโน้มการบริโภคสื่อมีมากขึ้น แต่แพลตฟอร์มการบริโภคสื่อเปลี่ยนไป และด้วยคุณภาพอินเตอร์เน็ตที่ดีขึ้น ทำให้คนจำนวนมากไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการดาวโหลดอีกแล้ว การดูแบบ streaming ทำได้แบบไร้รอยต่อมากขึ้น เป็นผลดีต่อสื่อบนอินเตอร์เน็ตและเหล่า TV on Demand ที่สามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งผิดกับการเสพสื่อผ่านโทรทัศน์ที่ต้องคอยเฝ้ารอเวลาการฉายที่มีความระบุเจาะจง
3. การพัฒนาของ Content และการมาของ Content ต่างชาติบนดิจิตอลแพลตฟอร์ม
ปัจจุบันการพัฒนาในตัว content ทั้งในเรื่อง Story และ Quality ได้ก้าวไปไกลมาก ด้วยโทรทัศน์ที่มีระดับความสามารถในการรับข้อมูลและฉายภาพออกมาได้ละเอียดมากขึ้น ทำให้วันนี้ ผู้สร้าง content ต่างประเทศมีการผลิต content ที่ส่งภาพได้ชัดและสมจริงมากขึ้น เช่น วันนี้ หากเราเป็นสมาชิก Netflix และสมัครแพ็คเกจแบบความคมชัดระดับ 4K เราสามารถดูซีรี่ส์บนโทรทัศน์แบบ 4K บนคุณภาพระดับ 4K จริงๆ ได้ ซึ่งภาพจะมีระดับความคมชัดมากกว่า HD แถมคุณภาพของการผลิต content ปัจจุบันยังมีมาตรฐานสูงมาก อีกทั้งเนื้อเรื่องก็มีหลากหลายแนวให้ผู้บริโภคได้เลือกชมอีกด้วย
อีกเทรนใหญ่ที่มาแล้วและประสบความสำเร็จมากคือเทรนบันเทิงเกาหลี ซึ่งจะขอละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจว่ามันประสบความสำเร็จมากขนาดไหนในบ้านเรา ซึ่งคนส่วนใหญ่บริโภคบนอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันมี VIU ประเทศไทย ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องและฉายบน application ทำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องรอดูในโทรทัศน์อีกต่อไป นอกจากนี้ ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา content อีกหนึ่งประเทศที่กำลังคืบคลานเข้ามาด้วยความเร็วที่น่าตกใจมากคือ content จากประเทศจีน เราพบว่า มี Facebook และ Youtube ที่อัพโหลดละครจีนแถมซับไตเติบภาษาไทยเยอะมาก ที่น่าตกใจคือคุณภาพของ content ที่นำมาเสนอนั้น มีความนำหน้า content ไทยไปเริ่มห่างแล้ว หากผู้ผลิต content ในไทยไม่ระวัง โอกาสที่ content จีนจะเข้ามายึดพื้นที่บ้านเรามีสูงมาก ผ่านทั้งละครและหนังสือ
4. Innovation ที่ควรระวัง : VR/AR
นี่เป็นเรื่องที่บ้านเรายังไม่ค่อยตระหนักนักถึงความเป็นไปได้ของนวัตกรรมด้านภาพเสมือนจริง ปัจจุบันนี้ นวัตกรรมด้านนี้ถูกพูดคุยกันมากในอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า E-Sport ซึ่งอธิบายง่ายๆ คือการเล่นเกมแข่งกันให้คนอื่นดู พูดไปแล้วอาจรู้สึกเหมือนไร้สาระ แต่ปัจจุบันด้วยโมเดลการแข่งขันของเกมที่มีความเสมือนจริงมากขึ้น ทำให้มันกำลังจะกลายเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่มีคนดูจำนวนมหาศาล คำถามที่น่าสนใจคือ วันนี้เรามีการทำภาพยนตร์ 3 มิติแล้ว แต่ถ้าต่อไป จาก 3 มิติถูกพัฒนาสู่ภาพและเสียงเสมือนจริง อะไรจะเกิดขึ้น และถ้ามันขยายเข้าสู่ content โทรทัศน์ล่ะ บ้านเราซึ่งไม่ตระหนักในเรื่องนวัตกรรมใหม่จะทำอย่างไร?? ปัจจุบันมี ทั้ง start up และบริษัทใหญ่ ที่กำลังพัฒนาเรื่องเหล่านี้อยู่จำนวนมาก รวมไปถึง Facebook, Amazon, Apple และ Google ด้วย ดังนั้นเมื่อโครงสร้างพื้นฐานของ Hardware พัฒนา เทคโนโลยีการผลิต Software หรือ content ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งหากบ้านเราไม่พัฒนาตาม มีความเป็นไปได้สูงว่าพื้นที่สื่อในอนาคตจะถูก content สัญชาติอื่นแย่งชิงพื้นที่ไปครอง โดยฉายผ่าน platform ของเขาเอง และไม่ผ่านช่องโทรทัศน์บ้านเรา
5. โครงสร้างรายได้
ธุรกิจสื่อแบบเดิม จะมีโครงสร้างรายได้ที่จำกัด คือมาจากโฆษณาเท่านั้น ในขณะที่อุตสาหกรรมสื่อแบบใหม่ จะมีโครงสร้างรายได้ที่หลากหลายมากกว่า พัฒนาไปตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้ามากกว่า โดยในปัจจุบันนี้ เรามี TV on Demand ที่กำลังมาแรง มีรายได้จากการสมัครสมาชิกโดยมีกลุ่มลูกค้าคือคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทั่วโลก เรามีสื่อเก่าที่ปรับตัวมาสร้าง content เอง และขายลิขสิทธิ์ content นั้นให้ประเทศอื่นๆ ได้รับชม หรือขายให้ประเทศอื่นๆ นำไปสร้างเอง ดังนั้น การสร้าง content ถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ content ท่วมอินเตอร์เน็ต แต่เวลามีแค่ 24 ชม ต่อวัน content ที่ดีเท่านั้นที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะเสียเวลาด้วย และนี่เป็นเหตุผลเดียวกันกับงบโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ลดลง เพราะเมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนนิสัยการเสพสื่อ และเลือก content ในการเสพมากขึ้น เจ้าของงบโฆษณาก็ต้องคัดเลือกสื่อที่จะใช้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
ที่สำคัญที่สุด content ที่ดีขายได้ตลอดไป และเป็น passive income ที่มีค่า สามารถสร้างยอดขายได้ทั้งวันนี้และวันหน้า ในขณะที่ content ห่วยๆ ขายได้แค่รอบเดียว และไม่มีใครเห็นคุณค่ามันอีกเลย
ท้ายสุดนี้ สิ่งที่อยากจะสื่อสารคือขณะนี้เราอยู่ในยุคที่อุปกรณ์การเสพสื่อ พฤติกรรมการเสพสื่อและเทคโนโลยีการผลิต content กำลังเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมสื่อควรทำคือปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ภายใต้แนวคิดเดิมๆ เพราะเงื่อนไขโครงสร้างของอุตสาหกรรมสื่อได้เปลี่ยนไปแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ไช่การเปลี่ยนแปลงในวันนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนตลอดเวลา และมันกำลังนำเราไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 วันนี้คือจุดที่กำลังเริ่มต้น แต่มันจะไปสิ้นสุดที่ไหน เป็นสิ่งที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ต้องไปหาคำตอบกันเอาเอง
ขอปิดท้ายด้วยคลิป Daydream ซึ่งเป็นสินค้านวัตกรรมของ Google ในเทคโนโลยี AR/VR วันนี้มันทำกันได้ขนาดนี้ ยังจินตนาการวันที่อุตสาหกรรมนี้เติบโตไม่ถูก ว่ามันจะถูกพัฒนาไปถึงขั้นไหน
Mei
#MediaDisruption #Dinotech #IndustryRevolution
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman