เมื่อพูดถึงความน่าลงทุนของประเทศในเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่า “จีน” และ “อินเดีย” ถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกันบ่อย ๆ ว่า ประเทศไหนน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากทั้งสองประเทศล้วนมีขนาดประชากรมากที่สุดของโลก อันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ
อีกทั้งระยะหลังเศรษฐกิจอินเดียเติบโตโดดเด่นขึ้นมาทาบรัศมีจีน ยังไม่ต้องพูดถึงในเชิงการเมืองที่อินเดียถูกมองว่าเป็นซีกประชาธิปไตยตัวแทนตะวันตกที่จะมาคานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม ระยะไม่นานมานี้การที่รัฐบาลจีนเริ่มปราบปรามบริษัทอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จนทำให้หุ้นบริษัทเหล่านี้ร่วงลงอย่างหนักและมีท่าทีจะขยายการปราบปรามในอีกหลายภาคธุรกิจ เริ่มทำให้นักลงทุนหวั่นไหว ไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุนในจีนเท่าใดนัก เพราะกลัวความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ
“คริสโตเฟอร์ วู้ด” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหุ้นโลกของเจฟฟรีส์ มีคำตอบให้กับนักลงทุน โดยเขาระบุว่า สำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสลงทุนในตลาดเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น ตนเห็นว่า ในระยะสั้นจีนน่าสนใจกว่าอินเดีย เพราะว่าอินเดียมีแนวโน้มจะเปราะบางต่อความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มากกว่าจีนในยามที่เฟดกำลังเริ่มเปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งหมายถึงดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในอนาคตจะขยับขึ้น
การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยี อสังหาริมทรัพย์เพื่อลดส่วนเกิน สร้างผลเสียต่อบรรยากาศลงทุนจีน จนทำให้ดัชนี MSCI จีนที่นักลงทุนต่างประเทศใช้อ้างอิง ปรับตัวลงประมาณ 20% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แต่ในความเห็นของตนภาวะเลวร้ายที่สุดของการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่คำถามคือจะมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่อย่างไร
ในความเห็นของวู้ด ส่วนใหญ่ของปีนี้จีนใช้นโยบายการเงินตึงตัวและตอนนี้ผ่านจุดสูงสุดของการใช้นโยบายตึงตัวไปแล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่มีท่าทีจะผ่อนคลายลงมากมาย แต่น่าจะค่อย ๆ ผ่อนคลายซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวทางนโยบายการเงินของจีนอยู่ในทิศทางแตกต่างจากเฟด ซึ่งจะสร้างฉากหลังที่สร้างสรรค์ให้กับหุ้นจีน ดังนั้นจุดยืนของตนก็คือให้ “ลงทุนหุ้นจีน” แต่ต้องป้องกันความเสี่ยงด้วยการเป็นเจ้าของพันธบัตรรัฐบาลจีน ที่ยังคงเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่น่าลงทุนที่สุดในตลาดพันธบัตรหลัก ๆ ของโลก ส่วนเงินหยวนคาดว่าจะยังคงแข็งค่า ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ราคาหุ้นปรับตัวลงก็ถือเป็นโอกาสซื้อ
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การที่เศรษฐกิจจีนเริ่มเติบโตช้าลง มีแนวโน้มจะบังคับให้ผู้วางนโยบายจำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทั้งการเงิน การคลัง รวมทั้งผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ
สำหรับ “อินเดีย” วู้ดบอกว่าชื่นชอบในเชิงโครงสร้างโดยรวม เพราะมีเพียงภาคที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่ตกต่ำมา 7 ปี ส่วนตลาดหุ้นค่อนข้างฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว แม้ว่าปีนี้จะเผชิญกับการถดถอยของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 โดยดัชนี NSE Nifty 50 ทะลุผ่านระดับ 18,000 จุด เมื่อเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นประมาณ 22% ส่วนดัชนี S&P BSE Sensex ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงก็ขยับขึ้นราว 20%
โดยปกติแล้ว เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย บรรดานักลงทุนจะเคลื่อนย้ายเงินออกจากตลาดเกิดใหม่ และนำไปลงทุนซื้อสินทรัพย์สหรัฐที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เป็นเหตุให้ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่อ่อนตัว
สร้างแรงกดดันต่อหนี้ของประเทศเหล่านี้ที่อยู่ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ
ทางด้าน “ยาฮังกีร์ อาซิซ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่ของเจพีมอร์แกน เห็นว่าเศรษฐกิจอินเดียจะได้รับการป้องกันอย่างดี ตราบเท่าที่เฟดไม่เปลี่ยนนโยบายแบบแข็งกร้าวเกินไป เพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดียได้รับการควบคุมอย่างดี อีกทั้งอินเดียมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ประมาณ 6.4 แสนล้านดอลลาร์
ดังนั้นจึงไม่คิดว่าความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก จะเป็นสิ่งน่ากังวลสำหรับอินเดียในแง่ที่ว่าอาจทำให้เงินทุนไหลออก
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you