มีการตั้งสมมติฐานว่าเงินเฟ้อควรจจะเป็นผลดีต่อตลาดเป็นส่วนใหญ่ แต่สัญญาณที่มีแรงกดดันของราคาเพิ่มขึ้นในสหรัฐ ได้เขย่าหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดพัฒนาการที่สร้างความสับสนแก่นักลงทุน
แน่นอนว่าการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อมีผลร้าย โดยทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ลดลง รายได้และกำไรลดลง และเศรษฐกิจจะชะลอตัวไปชั่วขณะ จนกว่าจะเกิดดุลยภาพทางเศรษฐกิจ
จากคำอธิบายของอินเวสโทปิเดีย หุ้นคุณค่า (Value Stocks) จะดีขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้อสูง แต่หุ้นเติบโต (Growth Stocks) จะดีขึ้นในช่วงเงินเฟ้อต่ำ และเมื่อเงินเฟ้อเป็นขาขึ้น ราคาหุ้นที่เน้นรายได้ (Income-oriented Stocks) หรือหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูง (High-dividend-paying stocks) โดยทั่วไปจะปรับตัวลดลง แต่โดยรวม ๆ แล้ว หุ้นจะมีความผันผวนในช่วงที่เงินเฟ้อสูง
นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ในเชิงบวกของเงินเฟ้อกับหุ้นที่เคลื่อนไหวตามวงจรเศรษฐกิจ ไม่น่าจะหมดไป และนักลงทุนควรจะปล่อยวางในระดับหนึ่งกับความผันผวนที่เพิ่มขึ้น เพราะข้อมูลในขณะที่ต้องจัดการกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังจะกลับมาคำราม หลังจากที่ชะงักงันอย่างกะทันหันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเพราะการระบาดของโควิด-19
ความจริงแล้วนักลงทุนได้เห็นความผันผวนอย่างกะทันหันมาหลายวันแล้ว หลังจากที่รายงานการจ้างงานของสหรัฐในเดือนเมษายนลดลงมากว่าที่คาด แล้วตามมาด้วยข้อมูลเงินเฟ้อเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ
โจน อดัมส์ นักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโสของบริษัท บีเอ็มโอ โกลบัล แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ คาดว่า จะมีความผันผวนเกี่ยวกับข้อมูลเศรษฐกิจมากในช่วงสองสามเดือนข้างหน้า
ความผันผวนในตลาดหุ้นสหรัฐเห็นได้ชัดในวันพุธที่ผ่านมา ดัชนีแนสแด็กซึ่งมีน้ำหนักหุ้นเทคโนโลยีมาก ปรับตัวลง 2.67% มีการมองกันว่าหุ้นเติบโตที่มีการประเมินมูลค่าตึงตัวแล้ว มีความเปราะบางต่อแรงกดดันเงินเฟ้อมากขึ้นเมื่อมันทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่การปรับตัวลงในวงกว้าง ก็ฉุดหุ้นที่อ่อนไหวต่อวงจรเศรษฐกิจลงหนักไปอีก เช่น หุ้นอุตสาหกรรมและวัสดุ ทั้งที่เป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ
ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนเมษายน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนมากสุดนับตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่ประมาณการจากนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% เท่านั้น อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากระโดดเป็น 4.2% จาก 2.6% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551
อดัมส์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมักเป็นผลดีต่อหุ้นจนกว่ามันจะสูงเกินกว่า 3.5-4% ซึ่งเมื่อถึงระดับนั้นจะมีความกังวลว่าค่าแรงจะเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะกดดันต่ออัตรากำไรขั้นต้น
นั่นแสดงว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี ได้ถูกขยายด้วย “ผลกระทบพื้นฐาน” หรือเปรียบเทียบกับราคาที่ได้ลดลงอย่างรุนแรงในปี 2563 เมื่อการระบาดทำให้เศรษฐกิจเกือบจะหยุดชะงัก
แม้ว่าดัชนีซีพีไอเพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ แต่นักลงทุนได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เพราะผลกระทบพื้นฐาน ปัญหาคอขวดของซัพพลายเชน และมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และการติดเชื้อที่ลดลงปูทางให้สหรัฐเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่มากขึ้น นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐก็ยังมีความเห็นสอดคล้องกับเหตุผลเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอว่า แรงกดันเงินเฟ้อในระยะใกล้นี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศว่าจะรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิมและจะยังคงซื้อพันธบัตรอย่างรุนแรงจนกว่าเงินเฟ้อจะเกิน 2% ตามเป้าที่ตั้งไว้ เพื่อชดเชยกับช่วงที่ผ่านมา
ริชาร์ด คลาริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐได้กล่าวในวันพุธที่ผ่านมาว่า หากดีมานด์แข็งแกร่งขึ้นต่อไปเมื่อเทียบกับซัพพลาย และทำให้เงินเฟ้อเกินเป้าหมายที่ 2% ผู้กำหนดนโยบายจะไม่ลังเลที่จะดำเนินการ แต่ก็ยอมรับว่าเขาก็แปลกใจที่ดัชนีซีพีไอเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวเพราะเกี่ยวข้องกับการเปิดเศรษฐกิจใหม่ แต่เงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ที่ 2% ตามเป้าหมายในระยะยาว หรืออาจสูงกว่าเล็กน้อย ในปี 2565 และ 2566 ซึ่งสอดคล้องกับกรอบนโยบายใหม่ของเฟด อย่างไรก็ดี นักลงทุนไม่มั่นใจอย่างเต็มที่
เดวิด เคลลี่ หัวหน้านักกลยุทธ์ทั่วโลกของเจ.พี.มอร์แกน แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ กล่าวว่า ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อหลายอย่าง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจจะรุนแรงกว่าที่เฟดคาด ซึ่งจะทำให้มีแรงกดดันมากขึ้นต่อเฟดที่จะเริ่มลดการซื้อพันธบัตรภายในปีหน้าและขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นภายในสองปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับหุ้นทั้งหมด
เคลลี่แนะนำว่าที่จุดนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ควรจะเป็นผลดีต่อหุ้นที่เคลื่อนไหวตามวงจรเศรษฐกิจและท้าทายต่อพันธบัตรระยะยาว
นักวิเคราะห์หลายคน กล่าวว่า การปรับตัวลงในวงกว้างของตลาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะสะท้อนว่าถึงรอบทำกำไรที่เลยเวลามาแล้ว หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ปิดทำสถิติเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อนักลงทุนสงสัยว่าข่าวดีทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเปิดเศรษฐกิจใหม่ ได้มีการคาดการณ์ในตลาดไปแล้วหรือไม่
อดัมส์ กล่าวว่า มีเหตุผลที่นักลงทุนจะโยกพอร์ตไปลงทุนหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำ (Small-cap Equities) และหุ้นคุณค่าในตอนนี้ เพราะมีปัจจัยภายในและสไตล์การลงทุนที่น่าสนใจ แต่เขาก็ไม่พร้อมที่จะทิ้งหุ้นเติบโตและหุ้นเทคโนโลยี เนื่องจากคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
อย่างไรก็ดี ในระยะใกล้นี้นักลงทุนควรจะเตรียมรับกับความผันผวนที่เกิดจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ข้อมูลเงินเฟ้อและการจ้างงานที่ผิดคาดมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ว่า นักลงทุนจำเป็นต้องลดความเชื่อมั่นของตัวเองลงในการประเมินความเฉื่อยชาในตลาดแรงานและต้องสามารถเปลี่ยนใจได้เมื่อคำนึงถึงความผันผวนของข้อมูล เนื่องจากในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนในการประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐกำลังจะเปิดเศรษฐกิจใหม่
Source: ข่าวหุ้น
เพิ่มเติม
- Why investors can’t help worrying about inflation :
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you