ทำความรู้จัก SPAC หรือบริษัท 'เช็คเปล่า' ทางเลือกการระดมทุนที่กำลังมาแรง เตรียมแซง IPO

ปรากฎการณ์ใหม่ที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในโลกการเงินและตลาดหลักทรัพย์ คือความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ความบูมของบริษัทรูปแบบหนึ่งที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยที่ไม่ต้องมีธุรกิจ ไม่ต้องมีลูกค้า หรือไม่ต้องมีผลประกอบการใด ๆ

บริษัทประเภทนี้ เรียกว่า SPAC หรือที่ย่อมาจาก Special Purpose Acquisition Company นั่นเอง

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า SPAC ไม่ต่างจากบริษัท shell company (เชลล์ คอมพานี) หรือ บริษัทที่เป็นแค่เปลือก หรือโครง ไม่มีสินทรัพย์หรือหน่วยปฏิบัติงานของตัวเองอย่างชัดเจน บริษัทประเภท SPAC มีหน้าที่ระดมเงินจากนักลงทุน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะออกไปหาซื้อ หรือควบรวมกิจการกับบริษัทเอกชน และทำให้บริษัทเอกชนนั้น ๆ กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปโดยปริยาย
SPAC มักจะมองหาบริษัทเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ดูแล้วว่ามีแววเติบโตในอนาคต ก่อนจะเข้าซื้อ จึงทำให้ SPAC มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "Blank-check company" หรือบริษัท "เช็คเปล่า" ซึ่งหมายถึงว่า หลังจากที่นักลงทุนกลุ่มแรกลงขันเงินก้อนแรกแล้ว บริษัทจะสามารถนำเงินทุนก้อนนั้นไปซื้อบริษัทเอกชนใดก็ได้ โดยไม่มีข้อห้าม
ยุคทองของบริษัท "เช็คเปล่า"
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ SPAC ได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นเพราะนักลงทุนและบริษัทเอกชนหลายแห่งมองว่าการจัดตั้งบริษัทลักษณะนี้ เป็นวิธีลัดที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และระดมทุน และเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการทำ IPO (Initial Public Offering) ซึ่งหมายถึงวิธีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้ประชาชนทั่วไป เพื่อที่จะมาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
การทำ IPO ซึ่งเป็นวิธีที่บริษัทมหาชนส่วนใหญ่ทำมาตลอดนั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า ต้องมีการทำโรดโชว์ ต้องสร้าความมั่นใจให้กับผู้ซื้อหุ้น และมีหน่วยงานที่เข้ามาสอดส่องดูแลมากมายเช่นคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ เป็นต้น
ในขณะที่บริษัท "เช็คเปล่า" ทำให้การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดนั้นง่ายกว่ามาก ไม่ถูกตรวจสอบเท่ากับการทำ IPO จึงทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งต้องการที่จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในรูปแบบนี้
SPAC คู่แข่งใหม่ของ IPO?
ปีที่ผ่านมามีการเสนอขายหุ้นใหม่ให้ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO ทั้งหมด 194 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าการระดมทุน 67,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นสถิติการทำ IPO ที่ดีที่สุดทั้งแต่ปี ค.ศ.​2014 ตามข้อมูลของ Renaissance Capital ในขณะที่ SPAC สามารถระดมทุนได้ใกล้เคียงกัน คือ 64,000 ล้านดอลลาร์ ​
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าในปีนี้ ผ่านไปยังไม่ถึงสองเดือน บริษัทที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบ SPAC สามารถระดมทุนไปได้แล้วเกือบ 46,000 ล้านดอลล่าร์
ที่ผ่านมาบริษัทอย่าง Virgin Galactic ของริชาร์ด แบรนสัน หรือ DraftKings ธุรกิจพนันกีฬาออนไลน์ ก็เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการควบรวมกับ shell company อย่าง SPAC เช่นกัน ทำให้โพรไฟล์ของบริษัทประเภท SPAC โดดเด่นขึ้นมามาก
SPAC ให้ผลตอบแทนอย่างงามกับผู้ที่เป็น sponsor หรือผู้ที่ลงเงินก้อนแรกลงไปก่อนที่ SPAC จะกลายเป็นบริษัทจดทะเบียน ตามปกติแล้ว sponsor จะได้ส่วนแบ่งถึง 20% หาก SPAC นั้นซื้อบริษัทเอกชนได้เรียบร้อย ไม่ว่าบริษัทที่ซื้อควบรวมกิจการมา จะมีผลประกอบการอย่างไรหลังจากนั้น ตามการรายงานของนิวยอร์กไทมส์
เพิ่มความน่าเชื่อถือด้วย "ชื่อ" นักลงทุนใหญ่
นอกจากนี้ SPAC มักจะได้รับความสนใจ เพราะมีนักลงทุนกลุ่มแรก หรือที่เรียกว่า สปอนเซอร์ (sponsor) ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของการเป็นนักลงทุนระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ นักธุรกิจที่มีประสบการณ์สูง หรือเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการกีฬา บันเทิง และการเมือง เช่น ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) นักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีเจ้าของ Virgin Galactic หรือ นักกีฬาชื่อดัง คอลิน แคเปอร์นิค (Colin Kaepernick) ที่มี SPAC มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์เป็นของตัวเอง
ชื่อของนักลงทุนเหล่านี้ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท "เช็คเปล่า" เหล่านี้ ในขณะที่ผู้ที่เป็นนักลงทุนสปอนเซอร์ ก็พยายามดึงนักลงทุนดัง ๆ เข้ามาร่วมด้วยอีกทอด
SPAC แผ่ขยายทั่วโลก
ในปีที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของบริษัทประเภท SPAC เห็นได้ในสหรัฐฯ อเมริกาเท่านั้น แต่ปีนี้ ความนิยมของ SPAC ได้ลุกลามไปถึงยุโรป ล่าสุดบิสซิเนส อินไซด์เดอร์​ (Business Insider) รายงานว่า เบอร์นาร์ด อาร์โนลท์ (Bernard Arnault) อภิมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก เจ้าของ LVMH ผู้ผลิตแบรนด์หรูอย่าง หลุย วิตตอง (Louis Vuitton) กำลังจะก่อตั้งบริษัทในลักษณะ SPAC ร่วมกับคนดังและมหาเศรษฐีคนอื่น ๆ ของยุโรปเช่นกัน เพื่อจะไปหาซื้อบริษัทเอกชนด้านนวัตกรรมในยุโรป
ในเอเชีย มีรายงานว่าสิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังศึกษาดูว่าจะอนุญาตให้บริษัทลักษณะ SPAC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศหรือไม่ ในขณะที่สื่อ The Economist รายงานว่าบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของเอเชีย อย่าง Gojek และ Tokopedia กำลังพิจารณาที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กโดยผ่านบริษัท shell company อย่าง SPAC เช่นกัน
SPAC ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นบริษัทประเภทหนึ่งที่มีอยู่ในโลกการเงินมานานแล้ว ถึงแม้ว่าจะเพิ่งได้รับความสนใจจากสื่อและสังคมเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม ก่อนหน้านี้หลายคนยังมองด้วยซ้ำว่า SPAC เป็นเรื่องสีเทาของโลกการเงิน จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่าอนาคตของ SPAC จะเป็นอย่างไร และจะเป็นเครื่องมือการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่แซงหน้าการระดมทุน IPO แบบดั้งเดิมได้หรือไม่
Source: VOA Thai

คลิก


Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-----------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman

Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"