จากเหตุการณ์กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาล อองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและมหาอำนาจชาติตะวันตกกลับเข้าสู่สภาวะชะชักงัน และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศเมียนมาอีกครั้ง เป็นที่ทราบกันดีว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับมหาอำนาจชาติตะวันตกมีพลวัตรในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2554 และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อนางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สหภาพยุโรปประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) แก่เมียนมาในปี 2556 พร้อมทั้งสหรัฐ ฯ ก็ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาในปี 2559
ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 208 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2556 มาเป็น 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2562 ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2559 มาเป็น 829 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2562
จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้สัดส่วนการส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกในตลาด EU และสหรัฐ ฯ คิดเป็นสัดส่วน 23% ของมูลค่าการส่งออกรวมของเมียนมา ดังนั้น หาก EU และสหรัฐ ฯ พิจารณาเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสิ่งทอ และเครื่องแต่งกาย ที่จะถูก EU เรียกเก็บภาษีประมาณ 12% รวมทั้งผลิตภัณฑ์การเดินทางที่จะถูกสหรัฐ ฯ เรียกเก็บภาษีประมาณ 20% ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของเมียนมา และที่สำคัญเมียนมาเพิ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐ ฯ สูงถึง 60% ในสินค้ากลุ่มนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป และสหรัฐ ฯ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% ในปี 2564
ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย
ในช่วงก่อนจะมีการปฏิรูปการเมืองในปี 2554 เมียนมาไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากนัก มีเพียงนักลงทุนจากจีน และไทย ซึ่งเป็นนักลงทุนหลักที่มุ่งหวังทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของเมียนมา เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ทองแดง แร่เหล็ก และแร่รัตนชาติ นับตั้งแต่มีการปฏิรูปการเมือง ซึ่งทำให้ประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศก็เข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น โดยนักลงทุนหน้าใหม่หลักๆ ที่เข้ามาลงทุนในเมียมา ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์
ในขณะเดียวกัน การลงทุนจากจีนและไทยก็ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ ล้วนชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของเมียนมาในการเปลี่ยนโครงสร้างการลงทุนให้มีผู้ลงทุนหลากหลายประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนโครงสร้างการลงทุนจากที่เคยพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ มาเป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องแต่งกาย เนื่องจากเมียนมามีข้อได้เปรียบจากค่าจ้างแรงงานที่ถูกที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเมื่อรวมกับสิทธิพิเศษทางการค้าแล้ว ย่อมสร้างความได้เปรียบให้กับนักธุรกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เลือกมาลงทุนในเมียนมาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานไฟฟ้า เพื่องรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมก็เฟื่องฟูขึ้น ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะสามารถต่อยอดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเมียนมาได้ในระยะยาว
หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 22% จากการลงทุนของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า
หากการส่งออสินค้ากลุ่มนี้ต้องถูกเรียกภาษีนำเข้าจาก EU อีกประมาณ 12% ความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่ถูกที่สุดในอาเซียน อาจไม่เพียงพอกับต้นทุนภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้ความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้าได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาลดลง 30%-40% ในปี 2564
สำหรับในระยะยาว หากมีการเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าจากทั้ง EU และสหรัฐฯ แนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของเมียนมาเพื่อส่งออกไปยังสองตลาดนี้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การลงทุนของจีนในเมียนมาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับมหาสมุทรอินเดียที่ชายทะเลทางตะวันตกของเมียนมา แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นการลงทุนที่ไม่เน้นภาคอุตสาหกรรม จึงอาจไม่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเมียนมาได้มากนัก
ในด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย
ในประเด็นการค้าชายแดนและผลกระทบต่อไทยคงต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะมีผลต่อการซื้อสินค้าของไทยผ่านพรมแดนไทยกับเมียนมาที่เป็นช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยถึงถึงร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปเมียนมา โดยภาพรวมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและการคุมเข้มการเข้าออกทั้งคนและสินค้าจากปัญหาโควิด-19 จึงฉุดให้การส่งออกทรุดตัวถึงร้อยละ (-)12.4 มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 87,090 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี คงต้องเฝ้าติดตามการเปิด-ปิดด่านค้าขายแดน ดังเช่นการปิดด่านอย่างกระทันหันบริเวณพรมแดนด่านแม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 64 แม้ว่าในขณะนี้จะเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ก็เป็นสัญญาณถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะมีมาตรการในการตรวจคนและสินค้าข้ามแดนเพิ่มเติมจากมาตรการคุมเข้มเดิมที่ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อันจะทำให้การส่งออกทางชายแดนในทุกช่องทางระหว่างไทยกับเมียนมาไม่ราบรื่น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาโควิด-19 อีกทั้งยังต้องรับมือกับปมการการเมืองในประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุนกับนานาชาติ ซึ่งในประเด็นนี้เอง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกชายแดนไทยในปี 2564 แม้ในภาพรวมจะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยพยุงการค้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะยิ่งส่งผลอย่างมากทำให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลงกดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (-) 0.5% มีมูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท โดยเมียนมายังต้องพึ่งพาไทยทางการเมียนมาจึงไม่น่าจะเพิ่มมาตรการคุมเข้มทางพรมแดนมากกว่าที่เป็นอยู่
ดังนั้นสินค้าไทยที่น่าจะยังทำตลาดได้ โดยเฉพาะกลุ่มของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องดื่มประเภทต่างๆ เครื่องสำอาง ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูปน้ำมันสำเร็จรูป กระนั้นก็ดี ถ้าหากเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของเมียนมายังประคองตัวเติบโตได้ในปีนี้ ก็น่าจะช่วยผลักดันให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในภาพรวมและในกลุ่มสินค้าขั้นกลางเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนการส่งออกให้เร่งตัวขึ้นมาเป็นบวกได้ที่ 1.0% มีมูลค่าการค้า 87,900 ล้านบาท แต่ถ้าหากเศรษฐกิจของเมียนมาไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้โดยเร็ว และมีการเพิ่มใช้มาตรการเข้มงวดบริเวณพรมแดนอย่างต่อเนื่องการส่งออกชายแดนไทยอาจหดตัวลึกลงไปอีกที่ราว (-)1.6% มีมูลค่าการค้า 85,700 ล้านบาท
ส่วนประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายประมาณ 2.8 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมา และในช่วงปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทำให้แรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ซึ่งปัจจุบันเนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19อยู่ แรงงานเหล่านี้จึงยังไม่สามารถกลับมาทำงานที่ไทยได้ ประกอบกับ การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการปิดด่าน หรือการใช้มาตรการตรวจเข้มพลเมืองที่เดินทางเข้าออกประเทศ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อทั้งการรับแรงงานใหม่ และการรับแรงงานเมียนมาเดิมให้กลับเข้ามาทำงานที่ไทยอีกครั้งอย่างถูกกฎหมาย ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายเหล่านี้จะส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน ภาคธุรกิจที่แรงงานเมียนมาทำงานอยู่ส่วนใหญ่ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ (25%) ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร (17%) ธุรกิจก่อสร้าง (15%) ธุรกิจประมงและสินค้าประมงแปรรูป (10%)
Source: การเงินธนาคารออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-----------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you